xs
xsm
sm
md
lg

เข้าทาง‘โอบามา’ฝ่าทางตันการเมือง ตะครุบแผนมอสโกให้‘ซีเรีย’ยอมส่งมอบอาวุธเคมี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - เบื้องหลัง “โอบามา” รีบเห็นพ้องพิจารณาข้อเสนอของรัสเซียที่จะให้ซีเรียส่งมอบอาวุธเคมีแก่นานาชาติ เพื่อแลกกับการไม่ถูกถล่มด้วยปฏิบัติการทางทหาร น่าเป็นเพราะผู้นำอเมริกันเองก็กำลังหาช่องหลบหนีการถูกโดดเดี่ยวทางการเมือง จึงรับมุกมอสโกแบบทันควัน ทั้งที่ยังไม่แน่ใจว่า “อัสซาด” จะจริงใจให้นานาชาติเข้าตรวจสอบอาวุธเคมีหรือต้องการแค่ซื้อเวลา นอกจากนี้ อเมริกายังสงสัยในเจตนาแท้จริงของรัสเซียอีกด้วย

การที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ตอบรับไอเดียของเครมลินอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ระดับความรุนแรงของการถูกโดดเดี่ยวทางการเมือง ขณะที่ความสนับสนุนในรัฐสภาอเมริกันต่อการเปิดปฏิบัติการโจมตีซีเรียกำลังแผ่วลงอย่างรวดเร็ว ตามผลโพลสำนักต่างๆ ซึ่งระบุชัดเจนว่าประชาชนอเมริกันกว่าครึ่งไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ อีกทั้งความน่าเชื่อถือในฐานะผู้นำโลกของโอบามาก็ยังเป็นที่กังขามากขึ้น

ในการให้สัมภาษณ์ทางทีวีเมื่อวันจันทร์ (9) โอบามายกย่องแผนการของรัสเซียว่า สามารถที่จะกลายเป็นการผ่าทางตันครั้งสำคัญ “ถ้าหากเป็นไปได้จริง”

กระนั้น ในวันรุ่งขึ้น โอบามายังคงมีกำหนดออกแถลงทางทีวีในช่วงไพรม์ไทม์ เพื่อโน้มน้าวให้ชาวอเมริกันที่ยังคาใจให้อ้าแขนรับแผนการโจมตีทางอากาศเพื่อลงโทษประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดที่ใช้อาวุธเคมีโจมตีในซีเรียเมื่อวันที่ 21 เดือนที่แล้ว ซึ่งวอชิงตันระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 1,400 คน

ทว่า แนวคิดที่อเมริกาจะเข้าไปข้องเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลางอีกครั้ง ดูจะขายยากสำหรับชาวอเมริกันที่เบื่อหน่ายสงคราม รวมทั้งผู้นำหลายคนในรัฐสภาที่มองว่า แผนการของทำเนียบขาวยังขาดความชัดเจน
แผนของรัสเซียที่จะให้ซีเรียมอบอาวุธเคมีแก่นานาชาติ ช่วย โอบามาได้ทางออกจากการที่ถูกโดดเดี่ยวทางการเมือง
แต่ตอนนี้อย่างน้อยที่สุดโอบามาอาจอวดอ้างได้ว่า เป็นผู้กำหนดทิศทางนโยบายที่ดูเหมือนซวนเซไปพักหนึ่ง โดยคุยโวว่า เสียงเรียกร้องจากตนเพียงลำพังที่ให้เดินหน้าเปิดปฏิบัติการทางทหารนั่นเอง ซึ่งกระตุ้นให้รัสเซียต้องหาทางเสนอแผนริเริ่มเป็นทางเลือกใหม่ๆ ขึ้นมา

ข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นทางออกที่ช่วยรักษาหน้าโอบามา ขณะที่สมาชิกรัฐสภาอเมริกันจำนวนมากขึ้น ซึ่งรวมถึงชาวพรรคเดโมแครตของเขาเองด้วย แสดงท่าทีคัดค้านการโจมตีซีเรีย ทั้งที่เพียงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี้เอง ทำเนียบขาวยังมั่นใจว่า วุฒิสภาสนับสนุนโอบามา แต่แล้วกระแสต่อต้านสงครามดูเหมือนลุกลามจากสภาล่างมายังสภาสูงอย่างรวดเร็ว

แฮร์รี รีด ผู้นำเสียงข้างมากของเดโมแครตในวุฒิสภา ตัดสินใจเลื่อนการโหวตของสภาสูงที่เดิมคาดว่าจะเกิดขึ้นในวันพุธ (11) หลังจากได้รับรู้ข้อเสนอของรัสเซีย ทำให้ทำเนียบขาวพักการ “ลุ้น” ไปได้อีกระยะ

กระนั้น โอบามายังคงต้องเดินหน้ากระทำภารกิจการเมืองที่เกือบเป็นไปไม่ได้ ในการขายไอเดียการเปิดปฏิบัติการทางทหารในตะวันออกกลางครั้งใหม่ในวันอังคาร หลังจากที่ตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมาได้พยายามปฏิเสธการเข้าไปมีบทบาทในซีเรียและการเข้าไปเกี่ยวข้องกับตะวันออกกลางอย่างเปิดเผยเต็มตัว

ทั้งนี้ ผลสำรวจของซีเอ็นเอ็นที่ออกมาในวันจันทร์ระบุว่า ชาวอเมริกัน 6 ใน 10 ต่อต้านปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงทางการเมืองที่ทำให้สมาชิกรัฐสภาโดดเดี่ยวโอบามา

ในยุคที่อำนาจของประธานาธิบดีในการชี้นำเรื่องราวต่างๆ ถูกท้าทายจากสภาพแวดล้อมซึ่งมีสื่อที่แตกแขนงมากมายเฉกเช่นปัจจุบัน โอบามาพยายามอย่างยิ่งที่จะทวนกระแสนี้
ชาวสหรัฐฯส่วนใหญ่ต่อต้านการทำสงครามในซีเรีย
ผู้นำสหรัฐฯ ใช้ถ้อยคำดุเดือดในการชักแม่น้ำทั้งห้าสำหรับการลงโทษอัสซาด โดยเตือนว่า ต้องไม่ปล่อยให้ผู้นำเผด็จการที่ใช้ก๊าซพิษสังหารเด็กและสตรีลอยนวล พร้อมเตือนว่า อิหร่านกำลังจับตาว่า วอชิงตันจะตอบโต้การละเมิดบรรทัดฐานสากลอย่างไร

อย่างไรก็ดี โอบามายอมรับว่า ความพยายามของตนอาจไร้ผล เพราะยังไม่แน่ใจว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะให้การสนับสนุนหรือไม่ พร้อมกันนี้ ประมุขทำเนียบขาวยังอธิบายเป้าหมายในซีเรียว่า คนจำนวนมากยังสับสนจากการให้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องของเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว โดยที่การโจมตีซีเรียนี้จะเป็นปฏิบัติการแบบจำกัด ไม่มีการยืดเยื้อแบบอิรักหรืออัฟกานิสถาน พร้อมให้สัญญาว่า จะเน้นย้ำมิติด้านมนุษยธรรม

ทว่า นอกจากเหตุกราดยิงในมลรัฐคอนเนตทิคัตและแอริโซนาแล้ว โอบามายังไม่เคยเชื่อมต่อทางอารมณ์กับประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทวนกระแสสาธารณชนเช่นนี้

ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ในการคลี่คลายวิกฤตซีเรียโดยไม่มีการใช้ปฏิบัติการทางทหารคราวนี้ ยังเกิดขึ้นหลังจากจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศในลอนดอนว่า อเมริกาจะละเว้นการโจมตีซีเรีย หากอัสซาดยอมส่งมอบอาวุธเคมีทั้งหมดให้นานาชาติ

ถึงแม้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาอธิบายขยายความในเวลาต่อมาว่า นั่นไม่ใช่ข้อเสนอจริงจังอะไร ทว่า เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย รีบฉวยโอกาสขานรับแนวทางดังกล่าว แถมชาติต่างๆ ในยุโรปยังยกมือสนับสนุนรวดเร็วพอกัน

ครั้นแล้ว ปรากฏว่าทำเนียบขาวไม่ยอมตกกระแส ได้รีบรับลูกทันควัน และโอบามาก็ตามน้ำโดยระบุว่า เคยหารือเรื่องนี้กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียเมื่อปีที่แล้วที่เม็กซิโก และล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง ระหว่างทั้งสองฝ่ายพบปะกันข้างเคียงการประชุมซัมมิตกลุ่มจี20 ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ของแดนหมีขาว
กำลังโหลดความคิดเห็น