xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus:“โอบามา” นับถอยหลังเปิดฉากถล่มซีเรีย หลังผ่านพ้น “อุปสรรคแรก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในที่สุดคณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ลงมติเมื่อวันพุธ(4) เห็นชอบร่างอนุญาตให้มีการใช้ปฏิบัติการทางทหารอย่าง “จำกัดขอบเขต” ในการแทรกแซงซีเรียได้ เปิดทางสำหรับเปิดอภิปรายในวุฒิสภาสหรัฐฯแบบเต็มคณะในสัปดาห์หน้า ถือเป็น “ความสำเร็จขั้นแรก”ของประธานาธิบดีบารัค โอบามาผู้นำสหรัฐฯที่คาดหวังและพยายามผลักดันให้สภาคองเกรสส์อนุมัติแผนโจมตีสั่งสอนรัฐบาลบาชาร์ อัล อัสซาดในซีเรีย กรณีมีข้อกล่าวหาใช้อาวุธเคมีกับพลเรือนของตัวเอง

คณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศวุฒิสภาสหรัฐฯลงมติด้วยคะแนน 10 ต่อ 7 เสียง ให้ความเห็นชอบร่างมติประนีประนอมที่กำหนดให้สหรัฐฯใช้ปฏิบัติการทางทหารกับซีเรียได้แต่ต้องไม่เกิน 60 วัน และห้ามใช้กำลังพลภาคพื้นเข้าทำการสู้รบในแผ่นดินซีเรียโดยเด็ดขาด

ร่างมติประนีประนอมฉบับนี้มีความจำกัดมากกว่าข้อเสนอเบื้องต้นของประธานาธิบดีโอบามา แต่ก็ตรงตามเป้าหมายของรัฐบาลวอชิงตันที่ต้องการลงโทษกองกำลังของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ต่อคำกล่าวหาที่ว่า ใช้อาวุธเคมีเข่นฆ่าพลเรือนซีเรียไปมากกว่า 1,400 ศพแถบชานกรุงดามัสกัสเมื่อเดือนที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ร่างดังกล่าวยังคงต้องเผชิญกับเสียงคัดค้านที่สำคัญในสภาคองเกรสส์ต่อไปเนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ยังคงกังวลว่ากองทัพสหรัฐฯอาจต้องเข้าไปพัวพันในสงครามกลางเมืองของซีเรียยืดเยื้อยาวนาน และอาจจุดชนวนขยายความรุนแรงทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งที่สหรัฐฯเพิ่งผ่านสมรภูมิเลือดในอิรักและมีกำหนดจะถอนตัวออกจาก “สงครามไกลบ้าน” ที่อัฟกานิสถานในช่วงสิ้นปีหน้า

ในอีกด้านหนึ่งไฟซาล มักดัด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศซีเรีย ระบุว่ารัฐบาลดามัสกัส จะใช้ทุกมาตรการตอบโต้ต่อความพยายามเข้าแทรกแซงใดๆ ที่มีเป้าหมายโค่นล้มระบบการปกครองของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด โดยยืนยัน รัฐบาลซีเรียจะไม่มีวันเปลี่ยนจุดยืนถึงแม้ว่าจะต้องเกิด “มหาสงครามโลกครั้งที่ 3” ก็ตาม


ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาว่ารัฐบาลอัสซาดมีการใช้อาวุธเคมีเข่นฆ่าพลเรือนในย่านชานกรุงดามัสกัสเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,400 ราย โดยประธานาธิบดีโอบามายังคงต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อล็อบบี้สมาชิกสภาคองเกรสส์ทั้งฝั่งเดโมแครตและรีพับลิกันอย่างหนัก เพื่อให้สนับสนุนแผนโจมตีซีเรีย ที่กว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนกว่านี้ ก็อาจต้องรอในสัปดาห์หน้าหรืออาจนานกว่านั้น

ขณะเดียวกันในส่วนของวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ชาติพันธมิตรสำคัญของซีเรีย ซึ่งคัดค้านแผนใช้กำลังทหารของนานาชาติต่อซีเรียมาโดยตลอด ได้เปิดใจในวันพุธ (4) ก่อนทำหน้าที่เจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 20 ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยระบุรัสเซียมี “มาตรการของตัวเอง” หากตะวันตกมีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่า รัฐบาลซีเรียเป็นฝ่ายใช้อาวุธเคมีโจมตีพลเรือนเมื่อปลายเดือนที่แล้วจริง ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตีความว่า รัสเซียที่ปกป้องรัฐบาลอัสซาดมาโดยตลอด เริ่ม “เสียงอ่อน”แล้วหรือไม่ ?

ด้านแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ในทำเนียบขาวเผยว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะใช้การหารือนอกรอบกับบรรดาผู้นำสำคัญๆระหว่างเข้าร่วมการประชุมจี 20 ซัมมิตที่รัสเซียเพื่อหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมต่อการใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีซีเรีย ท่ามกลางข้อสงสัยของหลายฝ่ายว่า ผู้นำสหรัฐฯจะมีหลักประกันใดว่า ปฏิบัติการทางทหารต่อซีเรียนั้นจะไม่ซ้ำรอย “ความผิดพลาดมหันต์” ของสหรัฐฯที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งในสมรภูมิที่อิรักและอัฟกานิสถาน


จนถึงตอนนี้ เป็นที่คาดกันว่า หากแผนโจมตีซีเรียได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรสส์ การโจมตีที่อาจจะมีขึ้นนี้น่าจะดำเนินการโดยมีสหรัฐฯและฝรั่งเศสเป็นแกนนำ โดยอาศัยแรงสนับสนุนหนุนเพิ่มเติมจากชาติอาหรับในตะวันออกกลางที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลซีเรียหลายประเทศ โดยเชื่อกันว่าสหรัฐฯจะเน้นการโจมตีเฉพาะเป้าหมายสำคัญทางทหารด้วยจรวดร่อน “โทมาฮอว์ค” ที่ถูกยิงมาจากทั้งเรือพิฆาตและเรือดำน้ำที่ลอยลำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลอาหรับ แต่ก็อาจมีเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ B-1 กับ B-2 เข้าร่วมภารกิจครั้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าการโจมตีของสหรัฐฯและพันธมิตรต่อซีเรียจะเกิดขึ้นหรือไม่ และจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความขัดแย้งในซีเรียได้ก่อให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมอย่างขนานใหญ่

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNHCR) เปิดเผยข้อมูลล่าสุดในวันพุธ (4)ที่สำนักงานใหญ่ในนครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์โดยระบุจำนวนผู้ลี้ภัยจากความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองซีเรีย ที่ปะทุขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2011 ได้เพิ่มจำนวนเป็นมากกว่า 2 ล้านคนแล้ว โดยในจำนวนนี้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ได้หลบหนีออกจากซีเรียไปในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตได้เพิ่มเป็นมากกว่า 110,000 ราย

อันโตนิว มานูเอล เด โอลิไวรา กูเตร์เรส ข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยของยูเอ็น ชาวโปรตุเกส วัย 64 ปีกล่าวว่า สงครามในซีเรียที่ยืดเยื้อเข้าสู่ขวบปีที่ 3 ถือเป็นหายนะด้านมนุษยธรรมที่น่าอดสูที่สุดในปัจจุบันยิ่งกว่าวิกฤตในพื้นที่แห่งอื่นใดบนโลกโดยระบุความขัดแย้งในซีเรียทำให้เกิดความลำบากยากเข็ญและการพลัดพรากของผู้คนจำนวนมากและภาพของผู้หญิง เด็กๆ และผู้ชายที่ต่างหลบหนีเอาชีวิตรอดออกจากซีเรียข้ามไปยังพรมแดนของประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีเพียงเสื้อผ้าติดตัวนั้นได้กลายเป็นภาพที่น่าเวทนายิ่งนัก

ด้านแองเจลินา โจลี นักแสดงสาวชาวอเมริกัน วัย 38 ปี ซึ่งเป็นทูตพิเศษของ UNHCR เรียกร้องให้ประชาคมโลก เร่งให้ความช่วยเหลือในการรับมือกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมในซีเรีย โดยโจลีระบุ หากสถานการณ์ยังคงดำเนินไปในทิศทางที่เลวร้ายลงเช่นนี้ต่อไป จำนวนผู้อพยพจากซีเรียก็จะมีแต่เพิ่มสูงขึ้น และถึงเวลาแล้วที่ทั่วโลกจะต้องร่วมกันแสดงออกถึงความรับผิดชอบที่มากขึ้น ต่อวิกฤตที่เกิดขึ้นในซีเรีย ขณะที่ข้อมูลล่าสุดของ UNHCR ระบุ ในแต่ละวันจะมีผู้อพยพหนีภัยการสู้รบออกจากซีเรียเฉลี่ยกว่า 5,000 ราย
กำลังโหลดความคิดเห็น