xs
xsm
sm
md
lg

แมร์เคิลกลับลำขานรับคาเมรอน เสนอดึงอำนาจบางส่วนคืนจากอียู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงเยอรมนี กลับลำเห็นพ้องกับแนวทางของเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษเตรียมผลักดันข้อเสนอดึงอำนาจบางส่วนคืนจากสหภาพยุโรป (อียู) และให้คณะกรรมาธิการยุโรปมุ่งเน้น ภารกิจพื้นฐาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจในแง่การแข่งขันระดับโลก

มิชาเอล ลิงก์ รัฐมนตรีด้านกิจการยุโรปจากพรรคฟรี เดโมแครต (FDP) ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลแห่งเยอรมนี ให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของอียู ควรมุ่งเน้นนโยบายพื้นฐาน เช่น ความร่วมมือด้านพลังงานและตลาดภายใน และควรคืนอำนาจบางส่วนกลับไปให้กับชาติสมาชิก

แมร์เคิล และโวล์ฟกัง ชอยเบิล รัฐมนตรีคลังเยอรมนี เริ่มมีท่าทีไม่พอใจมากขึ้น กับแนวทางการจัดการวิกฤตยูโรโซนของทางคณะกรรมาธิการยุโรป โดยความขัดแย้งล่าสุดยังมาจากแผนการปรับโครงสร้างธนาคารทั่วยุโรป ที่ส่งผลให้บรรดาผู้เสียภาษีเมืองเบียร์ อาจต้องแบกรับภาระเพิ่มมากขึ้นในการอุ้มแบงก์เน่า-หนี้เสียในชาติสมาชิกอื่นๆ ที่ไร้วินัยทางการคลัง

ผู้นำเยอรมนีเริ่มมีน้ำเสียงอ่อนลงจากที่เคยตำหนิข้อเรียกร้องของนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนแห่งอังกฤษ ในการปรับโครงสร้างสหภาพยุโรป (อียู) และมีแนวโน้มว่า แมร์เคิลจะประกาศข้อเสนอที่ประนีประนอมกับข้อเสนอจากลอนดอนด้วยการดึงอำนาจบางส่วนจากคณะกรรมาธิการยุโรปคืนให้แก่ชาติสมาชิก หลังการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีในวันที่ 22 นี้ที่คาดหมายว่าแมร์เคิลจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3

เมื่อต้นปีนี้ คาเมรอนเผยว่าต้องการเจรจาเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอียูของอังกฤษ และจัดให้มีการลงประชามติต่อผลการหารือปลายปี 2017 แม้ผู้นำแดนผู้ดีไม่ได้แจงรายละเอียด แต่บรรดาสมาชิกรัฐสภาเผยว่า อังกฤษต้องการดึงอำนาจด้านยุติธรรม การกำหนดนโยบาย และการปกป้องแรงงานกลับมา และต้องการให้อียูมุ่งเน้นเฉพาะแง่มุมด้านตลาดเดียวเพื่อช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งในตอนนั้น แมร์เคิลตอบโต้คาเมรอนอย่างเผ็ดร้อนว่า อังกฤษต้องตระหนักว่าประเทศอื่นๆ ก็มีความปรารถนาของตนเองเช่นกัน และยุโรปต้องมีคำตอบสุดท้ายที่ประนีประนอมและเป็นธรรมที่สุดแก่สมาชิกทุกชาติ

ทว่า ล่าสุด สเตฟเฟน ซีแบร์ต โฆษกของแมร์เคิล ยอมรับว่าแนวคิดดังกล่าวของอังกฤษมีเหตุผล แต่จำเป็นต้องทบทวนให้รอบคอบ และเสริมว่าเนเธอร์แลนด์ก็มีเป้าหมายคล้ายกันนี้ ตัวแมร์เคิลเองประกาศสนับสนุนแนวทางของคาเมรอนครั้งแรกในระหว่างการให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุแห่งหนึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งโอเพนกรุ๊ป กลุ่มวิจัยในอียูตีความว่า เป็นการยอมรับว่าคาเมรอนเป็นผู้นำเพียงไม่กี่คนในอียูที่เข้าใจการเติบโตทางเศรษฐกิจในแง่ “การแข่งขันระดับโลก”

คาร์สเทน บีเซสกี นักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็นจี กรุ๊ปในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม ชี้ว่าผู้นำเมืองเบียร์ตระหนักถึงการทับซ้อนระหว่างข้อเสนอของคาเมรอนกับแผนการของตนเองในการทำให้สมาชิกอียูมีความสามารถในการแข่งขันและความมุ่งมั่นต่อวินัยทางการคลังมากขึ้น อีกทั้งรู้ว่าคณะกรรมาธิการยุโรปจะต้องต่อต้านการถูกลดทอนอำนาจอย่างแข็งขัน

กระนั้น มิชาเอล ลิงก์ทิ้งท้ายว่า รัฐบาลเบอร์ลินต้องการผลักดันการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยไม่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นต้องได้รับฉันทามติจากสมาชิกอียูทั้ง 28 ชาติ โดยอาจใช้การร่วมมือแก้วิกฤตยูโรระหว่างรัฐบาลของชาติสมาชิกเป็น “พิมพ์เขียว” ในการผลักดันแนวทางนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น