xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจ “ญี่ปุ่น” หลั่งไหลเข้า “อินโดฯ” ขณะที่โจ๋แดนอิเหนา “เห่อ” วัฒนธรรมแดนปลาดิบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแข่งขันซูโม่ ณ สนามกีฬากรุงจาการ์ตา
เอเอฟพี – ท่ามกลางสายตาผู้ชมนับพัน นักซูโมสองคนพุ่งปะทะกันอย่างเต็มแรง ร่างกายของพวกเขากระแทกเข้าหากันด้วยพละกำลังมหาศาลจนเกิดเสียงก้องกังวานไปทั่วสนามกีฬาในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ในการแข่งขันซูโมอย่างเป็นทางการซึ่งจัดขึ้นนอกญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีคราวนี้ ได้เห็น โคโตยุกิ รีบฉวยโอกาสตบผางเป็นชุดที่หน้าอกของคู่ต่อสู้ และพยายามผลักเขาไม่ยอมหยุด

“ฉันรักซูโม ฉันได้ศึกษาศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขามาที่อินโดนีเซีย และเป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้ดูการแข่งขันสด” จุลยานา อันตีกา นักศึกษาภาควิชาวรรณกรรมญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยจาการ์ตา วัย 22 ปี กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีในการแข่งขันช่วงสุดสัปดาห์

อันตีกา ซึ่งเดินทางมากับนักศึกษาแลกเปลี่ยนอีก 12 คน จากมหาวิทยาลัยทากุโชกุ ในกรุงโตเกียว เป็นเพียงแค่คนกลุ่มหนึ่งในบรรดาหนุ่มสาวชาวอินโดนีเซียจำนวนมากที่เสพวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านสื่อบันเทิง การ์ตูน แฟชั่น และอาหาร กันมากขึ้นเรื่อยๆ

อันตีกาใช้เงินที่หามาได้จากการทำงานพิเศษเป็นนักแปลภาษาอินโดนีเซีย-ญี่ปุ่น ไปซื้อนิตยสารญี่ปุ่น ดูการ์ตูนญี่ปุ่น ใช้กล้องดิจิตอลของพานาโซนิค และมือถือยี่ห้อโซนี่

ชาวอินโดนีเซียเพิ่งจะตื่นตูมกับกระแสวัฒนธรรมญี่ปุ่น ขณะบรรดาชาติตะวันตกนั้นอ้าแขนรับวัฒนธรรมนี้ตั้งแต่ช่วงยุค 1970 ถึง 1980 แล้ว แต่เศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่กำลังขยายตัว ผนวกกับการที่บริษัทญี่ปุ่นพากันเสาะแสวงหาตลาดใหม่ๆ จึงทำให้ความสนใจในวัฒนธรรมญี่ปุ่นพุ่งพรวดขึ้นในระยะหลังๆ นี้

“เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เมื่อผมมาอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก มีนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นมาหาเราเพื่อขอคำแนะนำด้านตลาดของอินโดนีเซียราว 1,000 คน” เคนอิจิ โทมิโยชิ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติงานประจำอินโดนีเซีย ขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กล่าว

“แต่ในช่วง 12 เดือนให้หลังนี้ เราให้คำแนะนำนักธุรกิจญี่ปุ่นไปแล้ว 4,000 คน” เขาระบุ อีกทั้งเสริมว่า การรับมือกับผู้ที่มาขอคำแนะนำเป็นจำนวนมากเช่นนี้เป็นเรื่องยากมากทีเดียว

บริษัทของญี่ปุ่นพากันไหลบ่าเข้ามา ก็เนื่องจากเศรษฐกิจของชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มีผู้บริโภคหน้าใหม่เป็นจำนวนมาก

ถึงแม้เศรษฐกิจปีนี้มีการเติบโตช้าลง อินโดนีเซียก็ยังคงเป็นแสงสว่างท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังมืดมัว
บรรดาชาวอินโดนีเซียที่เข้าชมงานวัฒนธรรมพากันเข้ามาลิ้มลองรสชาติอาหารญี่ปุ่น
อินโดนีเซียยังได้โอ้อวดอีกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรของตนมีอายุประมาณ 24 ปี หรือน้อยกว่า ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรประเภทที่บริษัทญี่ปุ่นกำลังมองหาสำหรับเป็นตลาดเติบโตใหม่ เพื่อชดเชยตลาดญี่ปุ่นซึ่งอิ่มตัวแล้ว ทั้งนี้ญี่ปุ่นมีประชากรที่กำลังสูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ และต้องดิ้นรนเพื่อให้หลุดจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยมานานแล้ว

และเนื่องจากความสัมพันธ์กับบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน และชาติคู่ค้าสำคัญอย่างเกาหลีใต้ และจีน ซึ่งทวีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น ญี่ปุ่นจึงเปลี่ยนเป้าหมายมาที่ชาติต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นในอินโดนีเซียนั้น เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าธุรกิจของพวกเขาได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจริง โดยทะยานขึ้นสู่ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2012 จาก 712.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2010 ตามข้อมูลของคณะกรรมการความร่วมมือเพื่อการลงทุนแห่งชาติอินโดนีเซีย

“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คนอินโดนีเซียส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อสินค้าญี่ปุ่นได้ แต่ตอนนี้พวกเขามีรายได้มากพอที่จะซื้อสินค้าคุณภาพสูงของญี่ปุ่น” โทมิโยชิกล่าว

การที่มีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาก่อตั้งร้านค้าในอินโดนีเซียเป็นจำนวนมาก และมีการจัดงานวัฒนธรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น ก็ทำให้ชาวอินโดนีเซียรู้สึกสนอกสนใจทุกสิ่งทุกอย่างที่มาจากญี่ปุ่น

มีคนอินโดนีเซียจำนวนมากพากันสมัครเรียนภาษาญี่ปุ่น โดยมีกว่า 870,000 คนเรียนภาษานี้ในปี 2012 เพิ่มขึ้นจากราว 700,000 คนในปี 2009 ตามข้อมูลของมูลนิธิญี่ปุ่นประจำกรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมวัฒนธรรมญี่ปุ่นในต่างประเทศ

ครั้งหนึ่งอาหารญี่ปุ่นเคยเป็นของหายากในอินโดนีเซีย แต่ในเวลานี้บรรดาร้านซูชิและภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นกำลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดตามเมืองใหญ่ๆ

กระทั่งบริษัทท้องถิ่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับประเทศญี่ปุ่นเลย ก็ยังประสบความสำเร็จในการแสวงหากำไรจากกระแสความนิยมในตอนนี้

บริษัท เมทร็อกซ์กรุ๊ป ซึ่งเป็นกิจการของนักธุรกิจชาวอินโดนีเซียและสิงคโปร์ได้สร้างแบรนด์เสื้อผ้าลำลองซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากแฟชันญี่ปุ่นโดยพวกเขาตั้งชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า วากาอิเรฟุซุเตรุ ซึ่งแปลว่า “วิถีชีวิตของคนหนุ่มสาว” ในภาษาญี่ปุ่น และพวกเขาเลือกใช้ตัวเขียนภาษาญี่ปุ่นในชื่อแบรนด์ด้วย

“ในด้านการขาย ตอนแรกเราคิดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 10 เดือน แต่จริงๆ เราทำได้ภายใน 3 เดือน” อลิซ ดวียานี ผู้จัดการแบรนด์เมทร็อกซ์กรุ๊ปกล่าว

“ปริมาณสินค้าที่เราคิดว่า 6 เดือนถึงจะขายหมด ตอนนี้หมดสต๊อกแล้ว”
บรรยากาศภายในร้านวากาอิเรฟุซุเตรุ ซึ่งขายเสื้อผ้าวัยรุ่นสไตล์ญี่ปุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น