xs
xsm
sm
md
lg

‘รัสเซีย’จะตอบโต้อย่างไรเมื่อ‘สหรัฐฯ’เข้าโจมตี‘ซีเรีย’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอบีซีนิวส์/เอเจนซีส์ – ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ออกมาปฏิเสธไม่ยอมรับเรื่องที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ชี้หน้ากล่าวหาว่ากองทัพรัฐบาลซีเรียได้ใช้อาวุธเคมี โดยระบุว่า ข้อกล่าวหาเหล่านี้ “ไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง” พร้อมกันนั้นยังตักเตือนด้วยว่า การเข้าแทรกแซงทางทหารโดยที่มิได้รับมอบอำนาจจากสหประชาชาติเสียก่อน ย่อมเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากอเมริกายังเดินหน้าเล่นงานระบอบปกครองของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด จริงๆ แล้ว รัสเซียจะลงมือทำการตอบโต้แก้เผ็ดอย่างไรหรือเปล่า?

มันเป็นคำถามที่จุดชนวนให้เกิดความกังวลกันพอสมควรทีเดียวในสหรัฐฯเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากรัสเซียนั้นเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของอัสซาด ทว่าพวกผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯมีความเห็นสอดคล้องไปในทางเดียวกันในเวลานี้ว่า แทบไม่มีหลักฐานใดๆ เลยที่บ่งบอกให้เห็นว่า รัสเซียจะลงมือทำอะไรมากเกินไปกว่าการร้องเรียนพร่ำบ่นออกมาดังๆ ตลอดจนยังคงกระทำสิ่งที่พวกเขากำลังกระทำอยู่แล้วในซีเรียต่อไป

“ทางเลือกต่างๆ ของฝ่ายรัสเซียที่จะนำมาใช้ได้ เพื่อ ‘ลงโทษ’ สหรัฐฯนั้นดูจะมีอยู่อย่างจำกัด” สตีเวน ไพเฟอร์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำยูเครน ซึ่งปัจจุบันทำงานกับสถาบันบรูกกิ้งส์ หน่วยงานศึกษาวิจัยชื่อดังในกรุงวอชิงตัน ให้ความเห็นกับเอบีซีนิวส์

เท่าที่ผ่านมา รัสเซียแสดงการคัดค้านอย่างเต็มที่ต่อการที่ฝ่ายตะวันตกจะเข้าไปแทรกแซงในซีเรีย โดยที่มอสโกนั้นมีฐานะเป็นพันธมิตรรายใหญ่รายสุดท้ายที่เหลืออยู่ของซีเรีย ตลอดจนยังเป็นผู้ขายอาวุธและเป็นผู้ให้ความสนับสนุนทางการเงินรายสำคัญแก่อัสซาดอีกด้วย ทั้งนี้การจับมือเป็นพันธมิตรกับซีเรีย ช่วยให้รัสเซียสามารถรักษาอิทธิพลบารมีที่ยังหลงเหลืออยู่ในตะวันออกกลาง รวมทั้งสามารถรักษาที่มั่นอันสำคัญในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเอาไว้ ทว่านอกเหนือจากเหตุผลที่กล่าวมานี้แล้ว นับแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็นต้นมา วังเครมลินก็มักใช้ท่าทีคัดค้านเสมอเมื่อเกิดกรณีต่างชาติแทรกแซงเข้าไปในความขัดแย้งภายในประเทศใดๆ ก็ตาม

พวกผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯต่างมองว่า สิ่งที่เราน่าจะได้เห็นต่อไป ก็คือ รัสเซียจะยังคงคอยสกัดกั้นความพยายามใดๆ ก็ตามในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่จะมอบอำนาจให้ใช้กำลังกับซีเรีย หรือกระทั่งเพียงแค่กดดันหรือประณามระบอบอัสซาด โดยที่หมีขาวจะโวยวายร้องเรียนว่าสหรัฐฯกำลังเข้าแทรกแซงในตะวันออกกลาง พร้อมกับเตือนว่ามันจะก่อให้เกิดผลสืบเนื่องในระดับภูมิภาคติดตามมา

แต่เมื่อมองถึงผลสรุปในภาพรวมแล้ว รัสเซียทราบดีว่าตนไม่สามารถหยุดยั้งไม่ให้สหรัฐฯเข้าไปแทรกแซงในซีเรียได้ รวมทั้งหมีขาวก็ไม่สามารถตอบโต้การแทรกแซงดังกล่าวได้มากมายอะไรนักหนาด้วย สืบเนื่องจากเอาเข้าจริงแล้วมันไม่ได้เป็นผลประโยชน์ถึงขั้นเป็นตายจนทำให้รัสเซียต้องเข้าไปพัวพันในความขัดแย้งนี้ให้จงได้ มิหนำซ้ำการแสดงการตอบโต้มากเกินไปยังอาจทำให้หมีขาวเองอยู่ในภาวะโดดเดี่ยวมากขึ้น หรือไม่ก็กลายเป็นอุปสรรคคอยขัดขวางในการที่รัสเซียจะสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯและพันธมิตร ในเรื่องอื่นๆ ซึ่งหมีขาวมีผลประโยชน์อยู่

ไพเฟอร์ ให้ความเห็นว่า จะเป็นการฉลาดกว่าถ้าหากประธานาธิบดีปูติน ลดทอนการแสดงความไม่พอใจของเขาลงไป เนื่องจากการส่งเสียงดังเกินไปจะ “ยิ่งตอกย้ำให้เห็นการไร้สมรรถภาพของรัสเซียในการหยุดยั้งเรื่องนี้”

วังเครมลินน่าที่จะยังคงส่งอาวุธและให้เงินสนับสนุนรัฐบาลอัสซาดต่อไป โดยบางทีอาจจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีก โดยที่อันที่จริงแล้ว ความสัมพันธ์ในเรื่องอาวุธระหว่างสองประเทศนี้ก็ได้ผูกพันกันลึกซึ้งมากขึ้นอยู่แล้วตลอดระยะเวลาไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้

ตามความเห็นของพวกผู้เชี่ยวชาญและเอบีซีนิวส์ มีอยู่สัก 3-4 เรื่องที่รัสเซียไม่น่าจะคิดทำเลย เป็นต้นว่า

**เข้าโจมตีกองทหารของสหรัฐฯ**
รัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เกย์ ลัฟรอฟ ของรัสเซีย แถลงเอาไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ (26 ส.ค.) ว่า รัสเซีย “ไม่ได้กำลังวางแผนที่จะเข้าทำสงครามกับใครทั้งนั้น” ในเรื่องเกี่ยวกับซีเรีย ส่วนพวกเรือรบหมีขาวที่กำลังบ่ายหน้าเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนั้น พวกผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ในทางเป็นจริงเรือรบรัสเซียก็มีการเคลื่อนย้ายเข้าๆ ออกๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันในภูมิภาคแถบนี้ตลอดเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมาอยู่แล้ว การเคลื่อนกองเรือรบของรัสเซียในขณะนี้ อาจจะมีจุดมุ่งหมายให้เป็นการส่งสัญญาณ ทว่าลงท้ายแล้วอย่างมากที่สุดที่เรือรบเหล่านี้จะกระทำก็น่าจะเป็นการอพยพพลเมืองชาวรัสเซียออกไป ถ้าหากสิ่งต่างๆ เลวร้ายลงไปอีก

**ออกโรงสนับสนุนอัสซาดอย่างเต็มที่**
รัสเซียนั้นกำลังพยายามหนุนส่งสนับสนุนรัฐบาลอัสซาดอยู่แล้วในปัจจุบัน ทว่าเป็นการกระทำแบบเงียบๆ และอยู่ในระดับซึ่งไม่เพียงพอที่จะเสริมส่งความนิยมของรัฐบาลชุดนี้ได้ ตลอดระยะเวลาที่เกิดการสู้รบขัดแย้งขึ้นในซีเรียนั้น รัสเซียยังคง “กระทำตามข้อตกลงต่างๆ ที่มีอยู่” ในการจัดส่งอาวุธ “เพื่อการป้องกันตัว” เป็นต้นว่าระบบป้องกันทางอากาศและระบบป้องกันชายฝั่งไปให้แก่รัฐบาลอัสซาด ทว่าได้ยุติการส่งระบบ เอส-300 อันเป็นระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศที่ก้าวหน้าทันสมัย ทั้งที่ซีเรียได้สั่งซื้อไว้แล้ว ตัวปูตินเองกล่าวในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า รัสเซียจะไม่ส่ง เอส-300 ให้อัสซาด เพราะ “เราไม่ต้องการทำให้ภูมิภาคแถบนั้นเสียความสมดุล”

ไพเฟอร์ ให้ความเห็นว่า เขาคาดเดาว่าสิ่งที่หมีขาวจะกระทำเพื่อแสดงการสนับสนุนอัสซาด น่าจะเพียงแค่อยู่ในรูปของการกล่าววิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตะวันตกอย่างชนิดเลือกใช้ถ้อยคำอันผ่านการขบคิดมาอย่างรอบคอบ รวมทั้งอาจแสดงท่าทีเชิงสัญลักษณ์บางประการต่ออัสซาด แต่กระนั้นรัสเซียก็ต้องระวังว่าจะไม่ถึงกับกลายเป็นการทำให้โลกอาหรับทั้งมวลเกิดความรู้สึกแปลกแยกเหินห่างมากไปกว่าที่เป็นอยู่

**ตัดสายสัมพันธ์กับสหรัฐฯ**

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียในเวลานี้อยู่ในสภาพที่ไม่มีความราบรื่นอยู่แล้ว ท่ามกลางความไม่ลงรอยกันในหลายๆ ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่รัสเซียไม่ไว้วางใจระบบป้องกันขีปนาวุธที่สหรัฐฯจะสร้างขึ้นในยุโรป, การที่หมีขาวตัดสินใจให้ที่ลี้ภัยแก่ “จอมแฉ” เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน, และการที่ประธานาธิบดีโอบามาตัดสินใจไม่เข้าร่วมประชุมซัมมิตทวิภาคีกับปูติน ในระหว่างการประชุมระดับสุดยอดของกลุ่มจี-20 ทว่านี่ไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศไม่มีอะไรดีเอาเสียเลย

เวลานี้ทั้งสองฝ่ายยังคงมีการเจรจากันในประเด็นต่างๆ เป็นต้นว่าระบบป้องกันขีปนาวุธ และการควบคุมอาวุธ ถึงแม้ยังไม่มีการตกลงเห็นพ้องคืบหน้าถึงขั้นผ่าทางตันใดๆ พวกผู้สังเกตการณ์จับจ้องรัสเซียตั้งข้อสังเกตว่า หมีขาวนั้นเก่งกาจมากในการระมัดระวังคอยแยกประเด็นปัญหาต่างๆ ภายในความสัมพันธ์รัสเซีย-สหรัฐฯ ไม่ให้ปะปนกัน นั่นคือ หากสิ่งต่างๆ เลวร้ายในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง พวกเขาจะไม่ปล่อยให้มันส่งผลกระทบกระเทือนต่อเรื่องอื่นๆ ไปด้วย ถ้าหากมีอะไรซึ่งเป็นผลประโยชน์ของรัสเซียแล้ว พวกเขาก็จะหาทางเดินหน้าในเรื่องนั้น โดยไม่คำนึงว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในเรื่องอื่นๆ แต่ถ้าไม่ใช่สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของรัสเซียแล้ว พวกเขาก็จะไม่ยอมสูญเสียเวลาและสูญเสียพลังงาน

ในท้ายที่สุดแล้ว ทั้งสหรัฐฯและรัสเซียอาจจะตัดสินใจแสดงท่าทีในเชิงสัญลักษณ์เมื่อพวกเขาพบหน้าเจอะเจอกันในการประชุมซัมมิตกลุ่มจี-20 ที่ฝ่ายหมีขาวจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในนครเซนต์ปิเตอร์สเบิร์ก วันพฤหัสบดี-ศุกร์ นี้ (5-6 ก.ย.) ทั้งนี้ตัวปูตินเองได้แสดงท่าทีออกมาแล้วว่า กลุ่มจี-20 จะหารือกันในเรื่องสถานการณ์ซีเรียด้วย

แมตต์ โรจันสกี ผู้อำนวยการของสถาบันเคนนัน (Kennan Institute) ณ ศูนย์วิลสัน (Wilson Center) บอกกับเอบีซีนิวส์ว่า เขาคาดหมายว่าระหว่างการประชุมซัมมิตกลุ่มจี-20 ปูตินกับโอบามาจะเห็นพ้องกันในเรื่องการรื้อฟื้นความพยายามในการจัดประชุมนานาชาติที่เจนีวาเพื่อแก้ไขปัญหาซีเรีย หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “เจนีวา 2” ขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้เรื่องนี้เป็นทางออกในการรักษาหน้าของทั้งสองฝ่ายเอาไว้

**เพิ่มความร่วมมือกับอิหร่าน หรือคอยขีดขวางสหรัฐฯในจุดอื่นๆ เป็นต้นว่าอัฟกานิสถาน**

นี่ก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้เป็นผลประโยชน์ของรัสเซียอย่างแท้จริงเลยหากจะทำเช่นนั้นในทางภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้นจึงหมายความว่าพวกเขาอาจจะไม่ทำมากกว่า รัสเซียนั้นมีความกังวลอยู่แล้วในเรื่องที่สหรัฐฯและนาโต้กำลังจะถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน ดังนั้นพวกเขาจึงมีเหตุผลที่จะให้ความช่วยเหลือฝ่ายอเมริกันในอัฟกานิสถานต่อไปอีก ขณะเดียวกัน รัสเซียก็ไม่มีแรงจูงใจใดๆ ที่จะเริ่มต้นช่วยเหลืออิหร่าน อันที่จริงแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง หมีขาวประกาศว่าระบบป้องกันทางอากาศ เอส-300 อันก้าวหน้าทันสมัยซึ่งรัสเซียได้ตกลงขายให้อิหร่านมาหลายปีแล้วแต่ยังไม่ได้ส่งมอบเลยนั้น เวลานี้ได้ถูกทำลายและนำไปรีไซเคิลใหม่แล้ว

สิ่งที่ปูตินรู้สึกเป็นกังวลมากกว่าก็คืออาจจะมีภาพลักษณ์ภายในประเทศว่าอ่อนแอ ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งฝ่ายอเมริกันแล้ว ทั้งหมดบังเกิดขึ้นในขณะที่แสงสปอตไลต์ของโลกกำลังเริ่มจับไปที่รัสเซียในตอนที่เป็นเจ้าภาพการประชุมซัมมิตกลุ่มจี-20 พอดี กระนั้น เมื่อมองกันในระยะยาวแล้ว ปูตินอาจจะได้รับการประเมินว่าเป็นผู้มองการณ์ไกลก็ได้

“เนื่องจากการโจมตีของสหรัฐฯไม่น่าที่จะบรรลุสัมฤทธิผลใดๆ อีกทั้งสหรัฐฯก็จะไม่ส่งทหารภาคพื้นดินเข้าไป ดังนั้นเมื่อมองในระยะยาวแล้ว ปูตินก็จะดูมีภาพลักษณ์ที่ดีกว่าจากการออกมาคัดค้านการโจมตีนี้” โรจันสกี บอก
กำลังโหลดความคิดเห็น