xs
xsm
sm
md
lg

ลูกชาย “มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์” เปิดใจ “50 ปีให้หลัง งานที่ยังไม่เสร็จ” และ “โอบามา” ย้ำการเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีต : มาร์ติน  ลูเธอร์ คิง จูเนียร์(กลาง)วันที่ 28 สิงหาคม 1963
เอเจนซีส์ - การเดินประท้วงเพื่อความเท่าเทียมทางสีผิวที่นำโดย ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ครบรอบ 50 ปีเมื่อวานนี้ (28) มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่ 3 ลูกชายคนโตของนักสู้สิทธิมนุษยชนผู้ยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ ได้เปิดใจผ่านหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ถึง การฉลองครบรอบ 50 ปีคำกล่าวสุนทรพจน์ของบิดาของเขา “I have a dream” หรือข้าพเจ้ามีความฝัน ที่ปัจจุบันฝันของ ดร.คิงก็ยังไม่เป็นจริง ในขณะที่โบสถ์กว่า 300 แห่งทั่วสหรัฐฯ ตีระฆังแห่งสันติภาพเพื่อฉลองครบรอบการกล่าวสุนทรพจน์ และประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ชาวแอฟริกันอเมริกันคนแรก บารัค โอบามา ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ ย้ำถึงความฝันของ ดร.คิงที่ยังไม่บรรลุ พร้อมกับต้องการให้มีความเท่าเทียมกันในด้านโอกาสทางเศรษฐกิจของผองอเมริกัน ตามแนวทางการต่อสู้ในสมัยที่มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ได้เรียกร้องไว้ในการเดินขบวนปี 1963 “เพื่อเสรีภาพและการมีงานทำ”

50 ปีหลังจากจุดเปลี่ยนทางสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ จากเด็กผิวสีไม่สามารถเรียน ร่วมกับเด็กผิวขาว ทั้งชายและหญิงแอฟริกันอเมริกันที่ไม่สามารถเดินเข้าโรงภาพยนต์ในบัลติมอร์ได้เพราะถูกกีดกัน จนถึงการต้องเสียภาษีเพื่อมีสิทธิ์ที่จะหย่อนบัตรลงคะแนน และก้าวมาถึงยุคที่เด็กชายและหญิงแอฟริกันสามารถเรียนร่วมกับอเมริกันหลากหลายเชื้อชาติ มาจนกระทั่งอเมริกาสามารถอยู่ภายใต้การนำด้วยประธานาธิบดีที่ไม่ใช่ผิวขาว และมาถึงวันที่ชาวแอฟริกันอเมริกันยังคงต้องยืนรอนานกว่า 4-6 ชั่วโมงเพื่อลงคะแนนเสียง และในวันที่เด็กวัยรุ่นผิวดำถูกยิงตายในขณะที่ออกไปซื้อขนมที่ร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน ในขณะที่คนร้ายที่ลงมือถูกตัดสินให้พ้นผิด ทั้งหมดเป็นงานที่ยังคงทำไม่เสร็จของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ถูกเล่าผ่านสายตาลูกชายของนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ ในวันที่ระฆังได้ถูกตีขึ้นเพราะคิดว่าเสรีภาพนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ความจริง...มันยังคงไม่เป็นเช่นนั้น

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่ 3 ให้ความคิดเห็นผ่านหน้าหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ในวันที่ 28 สิงหาคม 2013 ในโอกาศฉลองครบรอบ 50 ปีของสุนทรพจน์ “I have a dream” ในวันที่บิดาของเขา มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ได้นำประชาชนชาวแอฟริกันอเมริการนับล้านเดินขบวนไปที่สถานรำลึกลินคอร์นเมโมเรียล เพื่อเรียกร้องมาตรการ 10 ข้อกับประธานาธิบดีจอห์นสัน แห่งสหรัฐฯในขณะนั้น รวมถึงความต้องการมีสิทธิเพื่อออกเสียง เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ ปฏิรูปกฏหมายแรงงาน และการยกเลิกการกีดกันระหว่างสีผิวเป็นต้น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่ 3 ได้ให้ความเห็นว่า ปัญหาในอดีตที่เกิดขึ้นในสมัยบิดาของเขานั้นยังคงอยู่ในปัจจุบันนี้

ตัวอย่างที่เห็นเช่น การถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมของเด็กชายผิวสีอายุ 14 เอมเมธ ทิล เมื่อ 8 ปีที่แล้วทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ยังคงเป็นสิ่งที่แอฟริกันอเมริกันรุ่นใหม่ยังต้องเผชิญ และเมื่อเด็กหนุ่มอายุ 17 เทรวอน มาร์ติน ที่ปราศจากอาวุธเดินออกจากบ้านเพื่อไปซื้อของ โดยไม่รู้ว่าชีวิตเขาได้ฝากไว้กับชายที่มาพร้อมอาวุธ และต้องจบชีวิตลงอย่างไม่มีวันได้เดินกลับบ้าน พร้อมกับผู้สังหารที่ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระในทุกข้อกล่าวหา ด้วยความช่วยเหลือกฏหมายที่เรียกว่า “stand your ground” หรือสิทธิใช้อาวุธเพื่อป้องกันตัว และ “stop-and-frisk” หรือการหยุดและตรวจค้น กฏหมายถูกนำมาบังคับใช้ในหลายรัฐฯในไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพื่อกดขี่ชนกลุ่มน้อยในอเมริกา กฏหมายที่เป็นยังคงเป็นเครื่องยืนยันว่างานที่ต้องทำนั้นยังไม่เสร็จ

นอกจากนี้ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่ 3 ยังกล่าวถึงความรุนแรงของอาวุธสงครามที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ ส.สหญิงสหรัฐฯถูกยิงที่ศรีษะพร้อมคนอื่นที่ทูซอน ในเมืองชิคาโก การกราดยิงในโรงภาพยนต์ในออโรรา รัฐโคโรลาโด หรือเด็กไร้เดียงสาจำนวนมากที่ต้องมาจบชีวิตลงภายในโรงเรียนของตัวเองที่นิวทาว์น รัฐคอนเน็กติกัต มันจะไม่ทำให้บรรลุถึงความฝันของ ดร.คิงได้เลย ที่เขาต้องการให้สังคมอเมริกันสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มันจะไม่มีวันเป็นเช่นนั้นจนกว่าสหรัฐฯจะแก้กฎหมายเพื่อจัดการกับต้นตอความรุนแรงเหล่านั้น “อาวุธปืน” ที่ไม่ว่าจะเป็นกฏหมายการตรวจประวัติผู้ซื้อ กฏหมายกำจัดอาวุธสงครามร้ายแรง หรือกฎหมายการห้ามซื้อขายอาวุธทำลายร้างอนุภาพสูง

และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่ 3 ยังกล่าวต่อไปว่า คอนเซปของการเดินขบวนเมื่อ 50ปีที่แล้วนั้นเพื่อ “เพื่อเสรีภาพและการมีงานทำ” และมันยังคงคอนเซปเช่นนั้นในอีก 50 ปีให้หลัง เมื่ออัตราการว่างงานของชนผิวสีล่าสุดอยู่ที่ 12.6% ในขณะที่อัตราว่างงานของพี่น้องผิวขาวมีเพียง 6.6% และของเพื่อนลาตินอเมริกันอยู่ที่ 9.4% จะทำให้ความฝันของบิดาของเขาเป็นจริงขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อ อเมริกาเป็นประเทศที่ต้องทำงาน อเมริกันทุกคน ทุกชนชั้นและทุกเชื้อชาติต้องมีงานทำในอัตราค่าจ้างที่เหมะสม นอกจากนี้สาธารณุปโภคในอเมริกายังต้องการได้การปรับปรุงอีกมาก มีประชาชนอเมริกันเป็นล้านที่ต้องการเข้าร่วมกับการสร้างชาติในครั้งนี้ การจ้างงานจะเกิดขึ้นและทำให้ทุกคนพ้นจากความยากจนในภาวะวิกฤติเเศรษฐกิจที่ถาโถมในศตวรรษที่ 21 นี้ โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯต้องการชนชั้นกลางที่เข้มแข็งและทรงพลังเพื่ออนาคตอเมริกาที่ดีกว่า

ดังนั้น อาวุธพลานุภาพที่จะทำให้ฝันของ ดร.คิงเป็นจริงในทัศนะของลูกชายนั้นคือ “สิทธิในการหย่อนบัตร” จากการที่ศาลสูงในสหรัฐฯ ตัดสินในคดี เชลบี เคาน์ตี ที่ได้ยกเลิกกฎหมายการเลือกตั้งอายุ 48 ปี ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ยุครุ่งเรืองของสิทธิมนุษยชนนั้น แสดงให้เห็นว่า Voting Suppression หรือการกดขี่สิทธิลงคะแนนของชนกลุ่มน้อยในยุคดิจิตอลยังคงมีอยู่จริง ทำให้มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่ 3อดคิดไม่ได้ว่า หากได้ถามบิดาของเขาว่า ท่านจะทำเช่นไรในยุคอีก50ปีให้หลัง ที่ทุกอย่างยังคงเกือบจะไม่เปลี่ยนแปลงภายใต้รัฐบาลผู้นำผิวสี และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่ 3แน่ใจว่าบิดาของเขาคงจะบอกว่า “เรามีงานที่ต้องทำกันไม่หยุดเพื่อให้แน่ใจว่าอเมริกันทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อที่จะแก้ปัญหาที่อเมริกาเผชิญ”

ในขณะที่โบสถ์กว่า 300 แห่งเกือบทั่วทุกรัฐในสหรัฐฯตีระฆังแห่งสันติภาพเพื่อเป็นเกียร์ตแก่สุนทรพจน์ “I have a dream” ที่ถูกกล่าวในวันที่ 28 สิงหาคม 1968 โดยโบสถ์ที่อยู่ในวอชิงตันได้ถูกตีขึ้นพร้อมกับเพลง “Lift with every voice and sing” เป็นเวลานานกว่า 15 นาที ในขณะที่ประธานาธิบดีแอฟริกันอเมริกันคนแรกแห่งสหรัฐฯ บารัค โอบามา ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในสถานที่ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เคยยืน พร้อมกับเชื่อมโยงการต่อสู้ความเท่าเทียมทางด้านปัญหาเศรษฐกิจเข้ากับเป้าหมายการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในปี 1963 และย้ำว่าการที่โอบามาได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดได้นั้นเป็นเพราะเหตุการณ์เรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมใน 50 ปี ก่อนหน้านั้น

ปัจจุบัน : ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ  ชาวแอฟริกันอเมริกันคนแรก บารัค โอบามา (ด้านซ้ายของระฆัง)วันที่ 28 สิงหาคม 2013
อดีต:วันที่ 28 สิงหาคม 1963
ปัจจุบัน :วันที่ 28 สิงหาคม 2013
กำลังโหลดความคิดเห็น