เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - “คนยุโรป อายุน้อย เพศหญิง มีปัญหาลำบากเรื่องการเงิน” ถ้าหากพวกแก๊งค้าโคเคนชาวเปรู สามารถลงโฆษณารับสมัครงานในตำแหน่ง “เด็กส่งยา” ของพวกเขา ก็คงจะระบุคุณสมบัติเหล่านี้แหละว่าเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการ
ทางการเปรูระบุว่าหญิงสองคน คนหนึ่งเป็นชาวอังกฤษ และคนหนึ่งเป็นชาวไอริช ซึ่งถูกรวบตัวที่ท่าอากาศยานกรุงลิมา เมื่อ 15 วันก่อนขณะกำลังจะเดินทางไปสเปน พร้อมของกลาง คือ โคเคนน้ำหนัก 11 กิโลกรัม ก็เข้าข่ายมีคุณสมบัติตามที่กล่าวมา
พวกเธอถูกตั้งข้อหาในคืนวันอังคาร (20 ส.ค.) และจะต้องรับโทษจำคุกสูงถึง 18 ปี หากศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง
เด็กส่งยาส่วนใหญ่มักเป็นชาวสเปน ซึ่งบางทีอาจเป็นเพราะว่าประเทศนี้เศรษฐกิจไม่ดี วัยรุ่นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ต้องประสบปัญหาว่างงาน และความเย้ายวนของเงินจากการค้ายาที่ได้มาง่ายและเร็วนั้นเป็นสิ่งที่ต้านทานได้ยาก
“เนื่องจากความจำเป็นและความต้องการในเรื่องต่างๆ ของพวกเธอ ผู้หญิงที่ตกงานจำนวนมากจึงถูกดึงเข้าร่วมแก๊งค้ายาได้อย่างง่ายดาย” จอห์นนี บราโว หัวหน้าของหน่วยปราบปรามยาเสพติดที่ตั้งอยู่ในสนามบินลิมา และรู้จักกันในนาม “ดีรันโด” กล่าว
ทางด้านพันเอกตีโต เปเรซ ผู้อำนวยการของดีรันโดเสริมว่าแก๊งค้ายามีแนวโน้มที่จะเลือกหญิงสาวหน้าตาดี ถึงแม้ว่าอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นไปทุกกรณี
“มีหลายกรณีเหมือนกันที่ผู้ต้องหาเป็นผู้สูงอายุ” เขากล่าว
ที่สเปน พ่อค้ายาจะเสนอเงินให้ 5,000 ถึง 7,000 ยูโร (ราว 210,000 ถึง 294,000 บาท) ให้แก่คนลักลอบขนยาเสพติดเข้าประเทศ เจ้าหน้าที่ตำรวจเปรูชี้แจง
ในเปรูจะเรียกคนเหล่านี้ว่า “มูลัส” ซึ่งแปลว่า “ล่อ” โดยพวกเขาเดินทางเข้ามาในประเทศแบบนักท่องเที่ยว และพวกคนค้ายาจะจ่ายค่าที่พักให้แก่พวกเขา รวมถึงให้ตั๋วเที่ยวบินขากลับซึ่งจะเป็นการควบคุมคนเหล่านี้ไปในตัว แหล่งข่าวที่เป็นตำรวจซึ่งขอให้สงวนชื่อเผย
ชาวต่างชาติอย่างน้อย 248 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวสเปน 62 คน ถูกจับกุมได้ที่สนามบินลิมาเมื่อปี 2012 ขณะพยายามลักลอบนำยาเสพติดเดินทางเข้าสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย ผู้แทนของหน่วยงานดีรันโดระบุ
เมื่อปีที่แล้วถือเป็นครั้งแรกที่พบเด็กส่งยาชาวสเปนมากกว่าชาวเปรู
“กำลังมีคนเผยแพร่ความคิดในหมู่ชาวยุโรปว่า การเดินทางเข้าอเมริกาใต้ และการขนยาเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมาก และที่นี่การตรวจตรารักษาความปลอดภัยไม่เข้มงวดอะไรเลย” มิลตัน โรคัส ผู้ซึ่งทำงานที่ “เซโดร” ศูนย์ต่อต้านและเฝ้าระวังยาเสพติดชี้
องค์กรภาคประชาชนต่างพยายามยื่นมือช่วยผู้หญิงที่ถูกจับกุมข้อหาขนโคเคน แต่พบปัญหาที่ว่าเรือนจำมีนักโทษล้นหลาม รวมทั้งการที่พวกเธอเป็นชาวต่างชาติก็เข้ามาทำให้สถานการณ์นี้ยิ่งเลวร้ายมากขึ้นกว่าเดิม เขากล่าว
“ทันทีที่พวกเธออยู่ในคุกก็จะต้องประสบความยากลำบากอย่างหนัก เพราะพวกเธอไม่เข้าใจภาษาที่นี่ นอกจากนี้พวกเธอยังไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจและต้องอยู่อาศัยร่วมกับอาชญากรทุกประเภท” โรคัสกล่าว
เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเปรูได้บุกทลายแก๊งซึ่งมีเด็กส่งยาเป็นพวกที่มาจากอังกฤษ และหัวหน้าแก๊ง คือ ฟิลลิป ออสติน คอลลินส์ หลานชายของฟิล คอลลินส์ นักร้องชื่อดังชาวอังกฤษ
ชาวอังกฤษคนอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฟิลลิปถูกจับกุมในเวลาต่อมา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สงสัยกันว่าหญิงชาวไอริชและชาวอังกฤษซึ่งถูกจับกุมเมื่อล่าสุดนี้ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายนี้เช่นกัน
ทว่ายังคงไม่มีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อสงสัยนี้เป็นจริง เปเรซ ผู้อำนวยการของดีรันโดกล่าว
หญิงสองคนนี้บอกสื่ออังกฤษว่า ขณะที่พวกเธออยู่บนเกาะอิบซา สถานที่ท่องเที่ยวของสเปน ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พวกเธอถูกพ่อค้ายาขู่ว่าจะฆ่าทิ้ง หากไม่ยอมร่วมมือค้ายา พวกเธอจึงต้องเดินทางมาเปรู
เปรูและโคลอมเบียจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ผลิตโคเคน และใบโคเคนซึ่งเป็นวัตถุดิบของยาเสพติดชนิดนี้กันมากที่สุดของโลก
ตามข้อมูลจากหน่วยงานดีรันโด ประเทศที่เป็นปลายทางหลักของโคเคนซึ่งผลิตในเปรู คือ สหรัฐอเมริกา ดินแดนที่โคเคนน้ำหนัก 1 กิโล มีมูลค่ามากกว่า 30,000 ดอลลาร์ (ราว 960,000 บาท) ขณะที่เมื่อขายในยุโรปจะมีราคาสูงขึ้นถึง 45,000 ดอลลาร์ (ราว 1,440,000 บาท) และหากขายในเอเชียมูลค่าของมันจะทะยานขึ้นสู่ 110,000 ดอลลาร์ (ราว 3,520,000 บาท)