เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - อากาศแห้งแล้งและหนาวเย็นอย่างยืดเยื้อยาวนานหลายร้อยปี อาจเป็นสิ่งที่ผลักดันให้บรรดาอารยธรรมในภูมิภาคเมดิเตอเรเนียนตะวันออกต้องล่มสลายในช่วง 1,300 ปีก่อนคริสตกาล นักวิจัยในฝรั่งเศสระบุเมื่อวานนี้ (15 ส.ค.)
ในช่วงยุคสัมฤทธิ์ตอนปลาย เคยมีอาณาจักรทรงอำนาจหลายต่อหลายแห่งแผ่อำนาจไปในดินแดนต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันคือประเทศอียิปต์ กรีซ ไซปรัส ซีเรีย ตุรกี อิสราเอล และปาเลสไตน์ แต่แล้วอาณาจักรเหล่านี้กลับล่มสลายเอาดื้อๆ เมื่อราว 1,200 ปีก่อนคริสตกาล
นักโบราณคดีถกเถียงกันถึงสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการล่มสลายของอาณาจักรเหล่านี้มาเนิ่นนานแล้ว โดยพวกเขามักอ้างว่าเกิดจากพวกปัจจัยทางเศรษฐกิจ
ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยเพิ่มเติมใหม่ๆ ที่ชี้ว่าเป็นเพราะปัจจัยทางธรรมชาติ เป็นต้นว่า สภาวะแห้งแล้งและหนาวเหน็บอาจทำให้พืชผลทางการเกษตรเหี่ยวเฉา จนผู้คนประสบกับภาวะอดอยาก และถูกผลักดันให้ทำสงครามเพื่อแย่งชิงทรัพยากร
งานวิจัยชิ้นล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน “พลอสวัน” วารสารออนไลน์อิงอยู่กับการวิเคราะห์ตะกอนดินในทะเลสาบโบราณ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไซปรัส โดยมีเดวิด คานีวสกี จากมหาวิทยาลัยปอล ซาบาตีเยร์ เมืองตูลูซ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะวิจัย
คานีวสกีพบหลักฐานที่พิสูจน์ว่าเมื่อราว 3,200 ปีก่อนได้เกิดสภาวะแห้งแล้งที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 300 ปี โดยหลักฐานชิ้นนั้นก็คือเกสรดอกไม้จากตะกอนในเครือข่ายทะเลสาบน้ำเค็มลาร์นาคา
การเปลี่ยนแปลงของไอโซโทปในคาร์บอนและสายพันธุ์ของพืชท้องถิ่นเผยให้เห็นว่าในบริเวณทะเลสาบทั้ง 4 ที่อยู่ใกล้กันนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นท่าเรือทางทะเล ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเส้นทางค้าขายของภูมิภาค จึงเกิดข้อสังเกตประการใหม่ที่ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ผลักดันให้ภูมิภาคนี้เข้าสู่ยุคมืด
“การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเช่นนี้ส่งผลให้ผลผลิตเสียหาย สิ่งมีชีวิตล้มตาย และเกิดภาวะอดอยาก ซึ่งผลักดัน และเร่งเร้าให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจสังคม อีกทั้งบีบให้ประชากรในภูมิภาคเมดิเตอเรเนียนตะวันออกและเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ต้องพากันอพยพย้ายถิ่นฐานในช่วงสิ้นสุดยุคสัมฤทธิ์ตอนปลาย” งานวิจัยระบุ
นอกจากนี้ นักวิจัยคนอื่นๆ พบหลักฐานความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันระหว่างการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลกับการที่อุณหภูมิในซีกโลกเหนือลดลง 2 องศาเซลเซียสในช่วงเวลาเดียวกัน
อย่างไก็ตาม สาเหตุของความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่ไม่มีข้อสรุป
นักวิทยาศาสตร์บางคนตั้งข้อสังเกตว่าความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์แสดงปรากฏการณ์ต่างๆ นั้นยาวนานมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้กระแสลมกรดในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือเกิดความเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่ภาวะแห้งแล้ง เนื่องจากน้ำในมหาสมุทรเย็นตัวและน้ำฝนลดปริมาณลง