เอเอฟพี - ราคาน้ำมันขยับขึ้นวานนี้ (15) หลังสต๊อกเชื้อเพลิงอเมริกาลดลงอย่างน่าประหลาดใจ ส่วนวอลล์สตรีทเมินข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนอันน่ากังวล ปิดบวกเล็กน้อย ผิดกับทองคำที่ดิ่งลงเกือบ 30 ดอลลาร์ เหตุมีความเป็นไปได้ที่อเมริกาอาจปรับขึ้นดอกเบี้ย
สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 9 เซ็นต์ ปิดที่ 94.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน เพิ่มขึ้น 1.08 ดอลลาร์ ปิดที่ 103.68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ตลาดน้ำมันนิวยอร์กแกว่งตัวสู่แดนลบราวๆ 2 ดอลลาร์ในช่วงต้นของการซื้อขาย หลังท้ายที่สุดแล้วก็ขยับขึ้นและปิดบวกได้สำเร็จ หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ระบุในรายงานว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา คลังน้ำมันดิบสำรองของประเทศ ลดลง 600,000 บาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดหมายว่าน่าจะเพิ่มขึ้น บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ วานนี้ (15) ยังเดินหน้าทุบสถิติสูงสุดตลอดกาลรอบใหม่ ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน โดยนักลงทุนเมินข้อมูลทางเศรษฐกิจอันมืดมนของยูโรโซน และพุ่งเป้าไปที่ตัวเลขภาคอสังหาริมทรัพย์อเมริกา
ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 60.44 จุด (0.40 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 15,275.69 จุด ทุบสถิติสูงสุดตลอดกาล 2 วันติด แนสแดค เพิ่มขึ้น 9.01 จุด (0.26 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 3,471.62 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 8.44 จุด (0.51 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,658.78 จุด ทุบสถิติสูงสุดตลอดกาลเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน
ข้อมูลอย่างเป็นทางการของสหภาพยุโรป ระบุว่า เศรษฐกิจยูโรโซนช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม หดตัวร้อยละ 0.2 นับเป็นการหดตัว 6 ไตรมาสติดต่อกัน และถือเป็นภาวะถดถอยยาวนานที่สุดนับตั้งแต่กลุ่มสกุลเงินเดียวนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1999
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกของวอลล์สตรีทมาจากอีกฝากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก จากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ด้วยสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติของสหรัฐฯ (NAHB) เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านสหรัฐฯ เดือนพฤษภาคม ปรับขึ้นแตะ 44 จาก 41 ในเดือนเมษายน ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
ส่วนราคาทองคำวานนี้ (15) ดิ่งลงเกือบร้อยละ 2 กลับมาต่ำกว่าระดับ 1,400 ดอลลาร์อีกครั้ง หลังมีแนวโน้มว่าอเมริกาอาจขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ความร้อนแรงของวอลล์สตรีทก็จุดประกายให้นักลงทุนเทขายโลหะมีค่าและหันไปเก็งกำไรในตลาดทุนแทน โดยทองคำตลาดโคเมกซ์ของสหรัฐฯ ลดลง 28.30 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,396.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์