เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - สหรัฐฯ ออกมาประกาศเมื่อวานนี้ (12 ส.ค.) ถึงแผนที่จะลดการลงโทษผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดอย่างเข้มงวดไม่มีข้อยกเว้น เพื่อแก้ไขสภาพการณ์ที่ความยากจนกับการติดคุกส่งเสริมกันจนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ และทำให้สหรัฐฯ ตกอยู่ในภาวะนักโทษล้นเรือนจำ
ในระหว่างการปาฐกถาที่เนติบัณฑิตยสภา (American Bar Association) อยู่นั้น อีริค โฮลเดอร์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมได้แสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายที่กำหนดให้ผู้กระทำผิดในบางกรณีต้องได้รับบทลงโทษขั้นต่ำเป็นการจำคุกว่า “มีผลในทางลบ”
โฮลเดอร์ชี้ว่าสหรัฐฯ ควรจะรักษาความเข้มงวดในปราบปรามอาชญากรรม แต่ขณะเดียวกันก็ต้องนำวิธีการที่ชาญฉลาดมากขึ้นมาใช้ด้วย
นอกจากนี้ เขายังกล่าวเตือนว่านับจากปี 1980 เป็นต้นมาประชากรโดยรวมของสหรัฐฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้น 1 ใน 3 ขณะที่ประชากรในเรือนจำพรุ่งพรวดถึง 800 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ จำนวนประชากรชาวอเมริกันคิดเป็นเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรโลก ทว่าประชากรในเรือนจำสหรัฐฯ นั้นแทบจะคิดเป็น 1 ใน 4 จากจำนวนผู้ต้องขังทั่วโลกทีเดียว
“ทุกวันนี้ มีชาวอเมริกันจำนวนมากเกินไปแล้วที่ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์แห่งความยากจน อาชญากรรม และการกักขัง อีกทั้งชุมชนจำนวนมากพากันอ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าระบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเราในหลายๆ ด้านทำให้ปัญหานี้แย่ลงมากกว่าที่จะทำให้มันดีขึ้น” คำปาฐกถาระบุ
ทั้งนี้ผู้คนจำนวน 219,000 คนที่ติดคุกอยู่ในเรือนจำของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในขณะนี้ โดยยังไม่รวมถึงพวกที่ติดอยู่ในเรือนจำของมลรัฐ เกือบครึ่งทีเดียวเป็นผู้ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
เพียงปี 2010 ปีเดียวรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องสูญเสียงบประมาณ 8 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อดูแลผู้ต้องขังทั้งหมดที่อยู่ในเรือนจำของท้องถิ่น เรือนจำของรัฐ หรือเรือนจำของรัฐบาลกลาง เขาระบุ อีกทั้งกล่าวเสริมว่าถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปสภาพเช่นนี้แล้ว
“เราสามารถเริ่มต้นด้วยการริเริ่มแนวคิดใหม่ชนิดถอนรากถอนโคน ว่าด้วยการกำหนดให้ผู้กระทำความผิดคดียาเสพติดต้องได้รับโทษขั้นต่ำเป็นการจำคุก เพราะมีกฎหมายบางฉบับทำให้การตัดสินคดีเป็นไปอย่างไม่ยืดหยุ่น ไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง หรือพิจารณาตามเหตุที่พวกเขาก่อในแต่ละคดี ส่งผลให้อัยการ ผู้พิพากษา และคณะลูกขุนไม่มีโอกาสได้ใช้ดุลยพินิจเท่าที่ควร” โฮลเดอร์กล่าว
เขากล่าวเสริมว่า “การกำหนดบทลงโทษขั้นต่ำแบบเข้มงวดนี้ทำให้ผู้คนไม่เคารพและเชื่อถือระบบ ซึ่งเมื่อถูกนำมาใช้อย่างขาดการพิจารณาแล้วก็จะไม่ช่วยให้สังคมเราปลอดภัย และส่งผลให้ชุมชนต่างๆ เป็นง่อย แทบจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย”
โฮลเดอร์กำหนดให้มีการปรับปรุงนโยบายในการตั้งข้อหาของกระทรวงยุติธรรม โดยระบุว่าหลังจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ผู้ต้องคดียาเสพติดที่ไม่ได้กระทำผิดร้ายแรง ซึ่งไม่ได้พัวพันกับองค์กรค้ายารายใหญ่ แก๊ง หรือกลุ่มนักค้ายา ก็จะไม่ถูกกฎหมายเข้มงวดบังคับให้พวกเขาต้องรับโทษจำคุกขั้นต่ำอีกแล้ว
เพื่อพยายามลดจำนวนประชากรในเรือนจำให้น้อยลงไปอีก โฮลเดอร์ประกาศการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การอนุญาตให้นักโทษสูงอายุที่ไม่ได้ก่ออาชญากรรมร้ายแรง และได้รับโทษมานานพอสมควรแล้วสามารถได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด
สหภาพสิทธิเสรีภาพประชาชนอเมริกัน (ACLU) ให้กระแสตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างกระตือรือร้น
“วันนี้ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมได้สร้างก้าวที่สำคัญเพื่อจัดการกับวิกฤตการณ์นักโทษล้นเรือนจำ และเรารู้สึกตื่นเต้นกับการพัฒนาเช่นนี้ที่พวกเราต่างรอคอยมานาน” สหภาพกล่าวทิ้งท้าย