xs
xsm
sm
md
lg

ผู้แทนยิว-ปาเลสไตน์ตั้งเป้าหมายทำ “ข้อตกลงสันติภาพ” สำเร็จใน 9 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โอบไหล่แสดงความยินดีกับ ซาเอ็บ อีรากัต ผู้แทนเจรจาฝ่ายปาเลสไตน์ (ซ้าย) และ ซิปี ลิฟนี รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมอิสราเอล หลังร่วมแถลงผลการเจรจาที่กรุงวอชิงตัน วานนี้(30)
เอเอฟพี - ผู้แทนเจรจาจากอิสราเอลและปาเลสไตน์ตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุข้อตกลงสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้งภายใน 9 เดือนนับจากนี้ แม้จะมีเสียงเตือนถึงอุปสรรคและสถานการณ์ยั่วยุที่ยังรออยู่ในวันหน้าก็ตาม

การเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งเมื่อวันจันทร์(29) หลังหยุดชะงักไปนานถึง 3 ปี โดย จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ รับบทกาวใจโน้มน้าวให้ทั้ง 2 ฝ่ายส่งผู้แทนมาร่วมประชุมที่กรุงวอชิงตัน

“ดิฉันขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า ในการเจรจาครั้งนี้อิสราเอลไม่ได้ต้องการโต้เถียงเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมา แต่ต้องการทางออกสำหรับปัญหา และตัดสินใจเรื่องราวในอนาคต” ซีปี ลิฟนี รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนอิสราเอล กล่าวต่อผู้แทนเจรจาฝ่ายปาเลสไตน์ ซาเอ็บ อีรากัต หลังเสร็จสิ้นการหารือเป็นเวลา 2 วัน

“”ดิฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้สร้างด้วยน้ำมือผู้เยาะเย้ยถากถาง แต่สร้างด้วยมือผู้ที่นิยมความจริงและไม่เกรงกลัวที่จะฝัน ขอให้พวกเราได้เป็นกลุ่มชนเหล่านี้” ลิฟนี กล่าว

ด้าน อีรากัต ก็กล่าวสนับสนุนว่า “ไม่มีใครจะได้รับประโยชน์จากความพยายามครั้งนี้มากยิ่งไปกว่าชาวปาเลสไตน์... ถึงเวลาแล้วที่ชาวปาเลสไตน์จะได้มีรัฐเอกราชเป็นของตนเอง”

ด้าน เคร์รี แถลงว่า ผู้แทนอิสราเอลและปาเลสไตน์จะเปิดเวทีหารืออีกครั้ง “ภายใน 2 สัปดาห์หน้า” ในดินแดนของอิสราเอลหรือปาเลสไตน์ เพื่อริเริ่มการเจรจาทวิภาคีอย่างเป็นทางการ

“จุดมุ่งหมายของเราคือการทำข้อตกลงสันติภาพฉบับสุดท้ายให้สำเร็จลุล่วงภายใน 9 เดือน” เคร์รี กล่าว พร้อมชี้ว่า “เราไม่ควรปล่อยให้ชนรุ่นหลังต้องแบกรับภาระยุติความขัดแย้ง ทั้งที่เราก็สามารถแก้ไขได้ในเวลาของเราเอง”

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เอ่ยชมความกล้าหาญของประธานาธิบดี มะห์มูด อับบาส แห่งปาเลสไตน์ และนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล และเตือนว่าหนทางข้างหน้าคงจะไม่ราบรี่นเสียทีเดียว

“สถานการณ์ยั่วยุจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทุกคนทราบดีว่าจะต้องมีประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายก่อความยุ่งยากขึ้นมาอีก... แต่เราก็หวังว่า ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์จะเข้าใจ และตระหนักถึงสิ่งที่พยายามทำอยู่ โดยไม่หวั่นไหวไปกับเหตุการณ์เหล่านั้น” เจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาว ให้สัมภาษณ์

“สถานะขั้นสุดท้าย” ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องเจรจากันให้ลงตัวนั้นประกอบด้วย สิทธิในการกลับคืนสู่มาตุภูมิของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่ถูกขับออกจากบ้านเกิดหลังการสถาปนารัฐอิสราเอลในปี 1948, เส้นพรมแดนที่ชัดเจนของรัฐปาเลสไตน์ซึ่งยังคงคลุมเครือ เนื่องจากการขยายตัวของนิคมชาวยิวในเขตเวสต์แบงก์ รวมไปถึงอนาคตของนครเยรูซาเลม ซึ่งทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างต้องการได้เป็นเมืองหลวงของตน
กำลังโหลดความคิดเห็น