xs
xsm
sm
md
lg

รบ.จิงโจ้เตรียมสอบข่าวลือ “ผู้ลี้ภัย” ในศูนย์กักกันปาปัวถูก “ข่มขืน-ทารุณกรรม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ผู้ลี้ภัยที่ถูกส่งไปยังสถานกักกันของออสเตรเลียบนเกาะมานุสในปาปัวนิวกินี หลายรายต้องเผชิญความทุกข์แสนสาหัสจากการถูกทารุณกรรมและข่มขืน ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงคนเข้าเมืองออสเตรเลียเตรียมเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบความจริงในสัปดาห์นี้

อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของศูนย์กักกันผู้ลี้ภัยบนเกาะมานุส เปิดเผยว่า พบเห็นผู้ลี้ภัยทำร้ายตนเองหรือพยายามฆ่าตัวตายไม่เว้นแต่ละวัน และยังมีการลักลอบสะสมอาวุธเพื่อใช้หลบหนีด้วย

“ผมไม่เคยเห็นเพื่อนมนุษย์ที่ยากไร้และสิ้นหวังในชีวิตถึงขนาดนั้นมาก่อน” ร็อด เซนต์จอร์จ อดีตหัวหน้าฝ่ายอาชีวอนามัยและความปลอดภัยประจำศูนย์กักกันเกาะมานุส ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์เอสบีเอส

“ผมไปรับตำแหน่งที่นั่นเพราะต้องการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของศูนย์กักกันให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น แต่ไม่นานนักผมก็รู้ว่า มันเป็นไปไม่ได้”

เซนต์จอร์จ ตัดสินใจลาออกจากงาน เพราะทนไม่ได้กับสภาพที่เห็น

คำบอกเล่าของอดีตเจ้าหน้าที่รายนี้ถูกเปิดเผย หลังจากที่นายกรัฐมนตรี เควิด รัดด์ แห่งออสเตรเลียประกาศจะขยายศูนย์กักกันตามมาตรการส่งออกผู้ลี้ภัยทั้งหมดไปยังปาปัวนิวกินี

ภายใต้นโยบายดังกล่าว ผู้ลี้ภัยซึ่งล่องเรือเข้ามายังน่านน้ำออสเตรเลียโดยไม่ได้รับอนุญาตจะถูกห้ามเข้าประเทศ และส่งต่อไปยังสถานกักกันบนเกาะมานุสหรือในหมู่เกาะแปซิฟิกอื่นๆเพื่อรอการคัดกรอง และแม้สุดท้ายจะพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาเป็น “ผู้ลี้ภัยที่แท้จริง” ก็จะไม่มีสิทธิ์ตั้งถิ่นฐานบนแผ่นดินออสเตรเลีย แต่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนยากจนอย่างปาปัวนิวกินีต่อไป หรือไม่ก็ส่งกลับประเทศเดิม หรือส่งไปยังประเทศที่สาม

เซนต์จอร์จ ซึ่งเป็นอดีตผู้คุมเรือนจำ เล่าว่า เด็กหนุ่มผู้ลี้ภัยเกือบ 10 คนถูกเพื่อนร่วมศูนย์กักกันกระทำชำเรา บางคนถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกบังคับให้ใช้เข็ม “เย็บปาก” เพื่อประท้วงสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นในศูนย์กักกัน

เด็กหนุ่มที่ถูกล่วงละเมิดยังถูกเจ้าหน้าที่ส่งกลับเข้าไปอยู่ร่วมเตนท์เดียวกับคนที่ทำร้ายพวกเขาด้วย

เซนต์จอร์จ เล่าต่อว่า เขาพบผู้ลี้ภัยคนหนึ่งถูกเอาสารทำละลายหยอดเข้าไปในรูหูจนแก้วหูทะลุ แต่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก็ไม่สามารถป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ได้

ด้าน โทนี เบิร์ก รัฐมนตรีกระทรวงคนเข้าเมืองออสเตรเลีย เตรียมจะเดินทางไปยังเกาะมานุสในสัปดาห์นี้เพื่อสืบหาความจริง

รัฐบาลออสเตรเลียพยายามหาวิธีสกัดกั้นผู้ลี้ภัยที่หลั่งไหลเข้าประเทศมากเป็นประวัติการณ์ในปี 2012 ขณะที่ปีนี้ก็มีผู้ลี้ภัยล่องเรือข้ามมหาสมุทรโดยหวังเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ออสเตรเลียแล้วกว่า 15,600 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น