เอเอฟพี - กัมมันตภาพรังสีในน้ำใต้ดินรอบๆโรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ของญี่ปุ่น มีระดับเพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ขณะที่ผู้บริหารโรงไฟฟ้ายังไม่ทราบว่าต้นตอการรั่วไหลอยู่ที่ใด
บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค (เท็ปโก) เผยวันนี้(9)ว่า จากการตรวจสอบตัวอย่างน้ำใต้ดินเมื่อวานนี้(8) พบว่ามีรังสีซีเซียม-134 ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งสูงถึง 9,000 เบคเคอเรลต่อน้ำ 1 ลิตร มากกว่าที่ตรวจวัดได้เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว(5) กว่า 90 เท่า ขณะที่รังสีซีเซียม-137 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 18,000 เบคเคอเรลต่อน้ำ 1 ลิตร หรือสูงกว่าเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว 86 เท่า
“เรายังไม่ทราบว่า เหตุใดปริมาณรังสีจึงพุ่งสูงขึ้นเช่นนี้ แต่กำลังใช้ทุกวิถีทางเพื่อยับยั้งมิให้น้ำปนเปื้อนแพร่กระจายออกไป” โฆษกเท็ปโก แถลง
ตามมาตรฐานความปลอดภัยที่รัฐบาลกำหนด ในน้ำ 1 ลิตรจะมีกัมมันตรังสีซีเซียม -134 และ -137 ปะปนอยู่ได้ไม่เกิน 60 เบคเคอเรล และ 90 เบคเคอเรล ตามลำดับ
หากบริโภคเข้าไป สารกัมมันตรังสีจะเข้าไปสะสมตามกล้ามเนื้อและกระดูก ซึ่งอาจก่อให้เกิดมะเร็งในที่สุด
เมื่อ 2 วันก่อน เท็ปโกเพิ่งประกาศว่า ตรวจพบทริเทียม (Tritium) ซึ่งเป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของไฮโดรเจนที่ใช้ผลิตนาฬิกาเรืองแสง สูงกว่าระดับที่ทางการอนุญาตถึง 10 เท่าตัว
เมื่อปลายเดือนมิถุนายน เท็ปโกตรวจพบว่าน้ำใต้ดินรอบโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะมีสตรอนเทียม-90 ซึ่งเป็นสารพลอยได้จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน สูงกว่าระดับปลอดภัยถึง 30 เท่า ซึ่งสารชนิดนี้มีความเป็นพิษสูง และอาจก่อให้เกิดมะเร็งกระดูกหากเข้าสู่ร่างกาย
โรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ เป็นอีกสถานที่ในญี่ปุ่นที่ถูกคลื่นสึนามิซัดถล่มเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011 ส่งผลให้ระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์เสียหาย และแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เกิดการหลอมละลาย สารพิษที่รั่วไหลออกมาไม่ได้ถูกแผ่นดินดูดซับไว้ แต่ละลายเจือปนไปกับน้ำใต้ดินและไหลออกสู่มหาสมุทร ซึ่งก็หมายความว่า สารกัมมันตรังสีจะเข้าไปสะสมอยู่ในสัตว์ทะเล และเป็นอันตรายต่อมนุษย์ที่บริโภคมันเข้าไป
เท็ปโกแถลงเมื่อเดือนที่แล้วว่า บริษัทเชื่อมั่นว่าฐานคอนกรีตและแผ่นเหล็กยังสามารถเก็บกักน้ำใต้ดินส่วนใหญ่เอาไว้ได้ แต่แล้ววันนี้(9)กลับยอมรับว่า ระดับทริเทียมที่พบในน้ำทะเลใกล้โรงไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา