xs
xsm
sm
md
lg

“อียิปต์” อันตราย-ฝ่ายค้านชุมนุมใหญ่ กลุ่มหนุนรวมพลป้อง ปธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> ผู้ประท้วงคนหนึ่งซึ่งนั่งอยู่ในรถเข็นและมีเพื่อนๆ ช่วยยกชูขึ้นมา กำลังตะโกนคำขวัญต่อต้านประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี และขบวนการภราดรภาพมุสลิมของเขา ในระหว่างการชุมนุมประท้วงของฝ่ายต่อต้านที่จัตุรัสตอห์รี ของกรุงไคโรเมื่อวันอาทิตย์(30มิ.ย.)  ทั้งนี้ในวันเดียวกันนี้กลุ่มผู้สนับสนุนมอร์ซีก็ประกาศจัดการชุมนุมใหญ่เช่นเดียวกัน โดยที่ฝ่ายทหารเตือนว่าหากความไม่สงบรุนแรงบานปลาย ทหารจะเข้าแทรกแซง. </font></b>

เอเจนซีส์ - อุณหภูมิการเมืองอียิปต์ถึงจุดวิกฤตในวันอาทิตย์ (30 มิ.ย.) กลุ่มต่อต้านเริ่มชุมนุมยืดเยื้อกดดันให้ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ลาออก ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนประกาศปกป้องความชอบธรรมของผู้นำซึ่งขึ้นปกครองประเทศครบรอบ 1 ปีพอดิบพอดี ด้านกองทัพประกาศพร้อมเข้าแทรกแซงหากสถานการณ์บานปลายเกินการควบคุม

ผู้ประท้วงนับพันคนเริ่มรวมตัวกันในจัตุรัสตอห์รี ของกรุงไคโรเมื่อวันอาทิตย์ (30 มิ.ย.) พร้อมโบกธงและเปิดเพลงปลุกใจ รวมทั้งตะโกนว่า “ประชาชนต้องการขับไล่รัฐบาล” อันเป็นคำขวัญเดียวกับในปี 2011 ที่ชาวอียิปต์ลุกฮือปลดจอมเผด็จการฮอสนี มูบารัค ปูทางสู่การเลือกตั้งซึ่ง มอร์ซี เป็นผู้ชนะ และสาบานตนขึ้นบริหารประเทศในวันที่ 30 มิถุนายนปีถัดมา

กลุ่มต่อต้านมีกำหนดเดินขบวนไปยังทำเนียบประธานาธิบดีอียิปต์ในเวลา 17.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 22.00 น.ในประเทศไทย) โดยที่ในบริเวณใกล้เคียงทำเนียบนั้นเอง ก็เป็นจุดชุมนุมของพวกผู้สนับสนุนมอร์ซีหลายพันคน ซึ่งประกาศปักหลักปกป้องประธานาธิบดีผู้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

นอกจากนี้ยังคาดว่า กลุ่มต่อต้านรัฐบาลจะจัดชุมนุมกันตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ขณะที่ตำรวจและทหารกระจายกำลังออกรักษาปกป้องอาคารและสถานที่สำคัญทั่วประเทศ เป็นต้นว่า คลองสุเอซที่เชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง และรัฐมนตรีสาธารณสุขสั่งการให้โรงพยาบาลเตรียมพร้อมในระดับสูงสุด

ก่อนหน้านี้ในระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน โดยคนหนึ่งเป็นชาวอเมริกัน นอกจากนั้นยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน

กลุ่มต่อต้านนั้นกล่าวหามอร์ซีว่าทรยศต่อการปฏิวัติด้วยการรวบอำนาจให้อยู่ในมือขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) อันเป็นกลุ่มมุสลิมเคร่งจารีต รวมทั้งทำให้เศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหว

ทว่า กลุ่มสนับสนุนระบุว่ามอร์ซีต้องเผชิญความท้าทายมากมายที่ตกทอดมาจากรัฐบาลชุดก่อนที่คอร์รัปชั่นกระจาย ดังนั้นจึงควรได้รับโอกาสบริหารประเทศจนครบวาระในปี 2016 และความพยายามปลดมอร์ซีถือเป็นการรัฐประหารต่อระบอบประชาธิปไตย

ทางด้านกองทัพที่มีบทบาทสำคัญในการถ่ายโอนอำนาจในอียิปต์หลังการปฏิวัติโค่นล้มมูบารัค ได้ออกมาเตือนว่า จะเข้าแทรกแซงหากความไม่สงบลุกลามบานปลาย

ทั้งนี้ นับจากเข้ารับตำแหน่ง มอร์ซีได้เปิดศึกรบรากับทั้งระบบตุลาการ สื่อมวลชน และตำรวจ ขณะที่เศรษฐกิจถดถอย การลงทุนเหือดแห้ง เงินเฟ้อพุ่งทะยาน และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญก็ซบเซา

มีรายงานว่า ชาวอียิปต์จำนวนมากพากันกักตุนอาหารและถอนเงินสดมาเก็บไว้กับตัว เนื่องจากกังวลกับการประท้วงใหญ่ในวันอาทิตย์ นอกจากนั้นการที่ประชาชนพากันไปเข้าแถวรอหน้าสถานีบริการเนื่องจากน้ำมันขาดแคลน ยังทำให้พื้นที่บางส่วนในไคโรกลายเป็นอัมพาต


ในวันเสาร์ (29) มีสมาชิกอย่างน้อย 8 คนประกาศลาออกออกจาก สภาชูเราะห์ ซึ่งฝ่ายอิสลามิสต์ครองเสียงครอบงำ เพื่อเป็นการแสดงความสนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหวรากหญ้า “ตอมาร็อด” (ภาษาอาหรับแปลว่า “กบฏ”) ซึ่งอ้างว่า พวกตนสามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนได้แล้ว 22 ล้านคนเพื่อยื่นฎีกาเรียกร้องให้มอร์ซีลาออกและจัดการเลือกตั้งใหม่

อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวยังไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันอย่างเป็นอิสระได้ ทั้งนี้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปีที่แล้ว มอร์ซี ได้ชัยชนะด้วยคะแนน 13.2 ล้านเสียง หรือราว 51% เทียบกับ 12.3 ล้านคะแนนที่คู่แข่งได้รับ

โมฮัมเหม็ด อัล-เบลตากุย ผู้นำของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ประกาศกับพวกผู้สนับสนุนมอร์ซีในไคโรว่า จะไม่ยอมให้มีการรัฐประหารโค่นล้มมอร์ซี ขณะที่ตัวประธานาธิบดีเองโจมตีว่า “นักเลงอันธพาล” ซึ่งหมายถึงตำรวจลับยุคมูบารัค อยู่เบื้องหลังขบวนการล้มรัฐบาล

กลางสัปดาห์ที่แล้ว มอร์ซียังได้กล่าวปราศรัยทางทีวี เตือนว่ากระแสแบ่งขั้วจะทำให้อียิปต์เป็นอัมพาต เขายังพยายามลดแรงเสียดทานด้วยการเสนอให้ฝ่ายค้านมีส่วนร่วมในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ทว่า ได้ถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง โดยฝ่ายค้านยืนกรานให้มอร์ซีลาออกสถานเดียว

ทางด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันเสาร์ระหว่างเยือนแอฟริกาใต้ว่า มอร์ซีและฝ่ายต่อต้านควรเจรจาแก้ไขข้อขัดแย้งอย่างสันติ และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทั้งปวง

วอชิงตันนั้นได้สั่งอพยพเจ้าหน้าที่การทูตที่ไม่สำคัญรวมทั้งครอบครัวนักการทูตออกจากอียิปต์แล้ว และโอบามาระบุว่า การปกป้องเจ้าหน้าที่การทูตเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรก หลังมีบทเรียนสำคัญครั้งที่เอกอัครราชทูตในลิเบียถูกสังหารเมื่อปีที่แล้วในเหตุโจมตีสถานกงสุลในเมืองเบงกาซี

ผู้สังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่า การประท้วงในอียิปต์คล้ายคลึงกับสถานการณ์ในตุรกีช่วงเดือนสองเดือนมานี้ โดยที่ผู้นำประเทศแนวทางอิสลามิสต์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น แต่ต้องเผชิญการต่อต้านจากฝ่ายฆราวาสนิยม (พวกต้องการให้แยกศาสนาออกจากรัฐ) ที่ไม่พอใจแนวทางเผด็จการของรัฐบาล

ผู้สังเกตการณ์เหล่านี้ชี้ว่า อนาคตของอียิปต์อาจถูกกำหนดด้วยเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันนับจากนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น