เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอียิปต์ ออกมาเตือนว่า กองทัพจะเข้าแทรกแซงถ้ามีความรุนแรงปะทุขึ้นภายในประเทศ เนื่องจากฝ่ายค้านของประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มอร์ซี กำลังวางแผนประท้วงรัฐบาลในเดือนนี้ (มิ.ย.)
“กองทัพจำเป็นต้องเข้าแทรกแซง เพื่อที่จะหยุดยั้งอียิปต์ไม่ให้ถลำลึกลงไปในหลุมแห่งความขัดแย้ง และการสู้รบกันเอง” อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิสซี ได้กล่าวเตือนเมื่อวันเสาร์ (22 มิ.ย.) ก่อนครบรอบหนึ่งปีที่มอร์ซีได้รับการเลือกตั้ง ในขณะที่ฝ่ายค้านออกมาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีผู้นี้ลาออกจากตำแหน่ง
ฝ่ายค้านของมอร์ซี ผู้ซึ่งกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้ลักเอาดอกผลต่างๆ ของการโค่นล้มอำนาจของอดีตประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัคในปี 2011 ได้วางแผนที่จะจัดการประท้วงในวันอาทิตย์ (30 มิ.ย.) ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีที่มอร์ซีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง โดยนับว่าเขาเป็นประธานาธิบดีที่เป็นพลเรือนและเป็นพวกอิสลามเคร่งจารีตคนแรกของแดนไอยคุปต์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ออกมากระตุ้นเตือนให้ชาวอียิปต์พักเรื่องทะเลาะเบาะแว้งเอาไว้ก่อน โดยกล่าวว่าเป็นหน้าที่ของกองทัพที่จะต้องป้องกันเหตุความไม่สงบที่อาจเกิดขึ้น
“มันเป็นหน้าที่ของกองทัพที่มีต่อชาติบ้านเมืองและต่อศีลธรรมจรรยา ที่จะเข้าแทรกแซง...เพื่อป้องกันเหตุความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคนต่างศาสนาหรือการล่มสลายของสถาบันของรัฐ” ซิสซีแถลงในที่ประชุมของทหาร
นอกจากนี้เขายังวิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่ออกมากล่าวต่อต้านกองทัพ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์ (2) โมฮาเหม็ด อัล-บัลทากุย สมาชิกของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อภราดรภาพมุสลิมได้ออกมาวิจารณ์กองทัพในการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดี ก่อนที่ฝ่ายค้านจะวางแผนประท้วง
“คนที่คิดว่าเราละเลยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับชาติอียิปต์กำลังเข้าใจผิดเสียแล้ว หากเกิดความขัดแย้งภายในประเทศ พวกเราจะไม่มีทางอยู่เฉยแน่” พลเอกซิสซีตอบโต้
ทั้งนี้ในเวลาต่อมา มอร์ซีได้เรียกนายพลซิสซีเข้าพบเมื่อตอนเย็นของวันอาทิตย์ (23) เพื่อทบทวนแผนต่างๆ ของกองทัพที่เตรียมการไว้ “สำหรับช่วงเวลาที่กำลังจะมาถึง” ทำเนียบประธานาธิบดีแถลง
กลุ่มผู้สนับสนุนมอร์ซีเรือนหมื่นได้ชุมนุมกันเมื่อวันศุกร์ (21) เพื่อแสดงพลังก่อนที่จะมีการประท้วงของฝ่ายค้านในวันที่ 30 มิถุนายน ขณะที่ประธานาธิบดีมอร์ซีก็ได้ออกมาย้ำข้อเรียกร้องของเขาที่ต้องการให้ประชาชนยุติการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
มีความวิตกกันว่าจะมีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มผู้ต่อต้านประธานาธิบดีในการประท้วง
เป็นที่ชัดเจนว่าประชาชนในประเทศอียิปต์แบ่งเป็น 2 ขั้ว กลุ่มผู้สนับสนุนมอร์ซีกล่าวว่าประธานาธิบดีกำลังจัดระเบียบสถาบันที่มีพฤติกรรมการคอร์รัปชันมานานนับทศวรรษ ในขณะที่มีนักวิจารณ์กล่าวหาว่า เขากำลังรวมอำนาจไว้ในเงื้อมมือของขบวนการภราดรภาพมุสลิม
ตั้งแต่มอร์ซีเข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้วก็ได้ตั้งท่าประจันหน้าต่อสู้กับทั้งศาลยุติธรรม สื่อมวลชน ตำรวจ และล่าสุดนี้ก็ได้เล่นงานศิลปินส่วนใหญ่
ทางด้าน โมฮัมเหม็ด เอลบาราเด ผู้นำสำคัญคนหนึ่งของฝ่ายค้าน อดีตเลขาธิการ ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งเป็นองค์กรชำนัญพิเศษของยูเอ็น ที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังด้านพลังงานนิวเคลียร์ ได้ออกมาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออกจากตำแหน่งเพื่อรักษาเอกภาพของประเทศ
“เพื่ออียิปต์ ผมขอเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มอร์ซี ลาออก และให้โอกาสพวกเราได้เริ่มต้นช่วงเวลาใหม่ๆ ซึ่งอยู่บนฐานของหลักการปฏิวัติ คือ เสรีภาพและความยุติธรรมในสังคม” เอลบาราเดกล่าว
ส่วนกลุ่มรณรงค์ที่ได้รับการขนานนามว่า ตามารอด (แปลว่ากบฏในภาษาอาหรับ) ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่เรียกร้องให้มีการประท้วงประธานาธิบดีในวันครบรอบการเข้ารับตำแหน่ง และปรากฏว่าได้รับการตอบสนองอย่างกว้างขวาง โดยผู้จัดการรณรงค์ของตามารอดได้ระบุว่าได้ทำการล่ารายชื่อผู้ที่เรียกร้องให้ประธานาธิบดีลงจากตำแหน่งได้ถึง 15 ล้านรายชื่อ
ทั้งนี้ประธานาธิบดีซึ่งระบุว่ายังสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ออกมาแถลงว่าจะพิจารณาให้กำหนดวันเลือกตั้งให้เร็วขึ้นมาอีก ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ระบุวันที่แน่นอน
“ผมจะดำเนินการติดต่อกับกลุ่มต่างๆ และอาจจะเร่งให้มีการจัดการเลือกตั้งรัฐสภา เพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ใช้ทางออกที่เห็นพ้องต้องกัน เพื่อจัดการกับความเห็นต่างของพวกเรา” เขาระบุในบทสัมภาษณ์ของอักห์บาร์ อัล-ยูม หนังสือพิมพ์ของรัฐซึ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันเสาร์ (22)
ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ ได้เกิดความรุนแรงประทุขึ้นในอียิปต์ไม่ขาดสาย เนื่องจากประชาชนซึ่งมีความเห็นทางการเมืองที่ไม่ลงรอยกัน พากันออกมาเคลื่อนไหวตามท้องถนน จนเกิดการปะทะกันขั้นรุนแรงในบางครั้ง