เอเอฟพี - หมอกควันจากไฟป่าอินโดนีเซียซึ่งทำให้ค่ามลพิษทางอากาศในสิงคโปร์พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเกาะแห่งนี้ หากสถานการณ์ยังคงวิกฤตต่อเนื่องไปอีกหลายสัปดาห์ นักเศรษฐศาสตร์เตือนวานนี้(21)
หมอกควันที่แผ่ปกคลุมไปทั่วเกาะสิงคโปร์ส่งผลให้สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งต้องปิดให้บริการ บริษัทบางรายอนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ ส่วนภัตตาคารซึ่งเคยมีลูกค้าแน่นในช่วงเที่ยงวันศุกร์ก็เงียบเหงาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า ธุรกิจท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากปัญหาหมอกควันพิษที่เล่นงานสิงคโปร์ต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 และจัดว่าเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมร้ายแรงที่สุดที่เกิดกับสิงคโปร์ ถัดจากปัญหาหมอกควันพิษเมื่อปี 1997
วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา(20) นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง แห่งสิงคโปร์ กล่าวเตือนว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้ “อาจยืดเยื้อหลายสัปดาห์หรือนานยิ่งกว่านั้น จนกว่าฤดูแล้งบนเกาะสุมาตราจะสิ้นสุดลง”
ทั้งนี้ ฤดูแล้งบนเกาะสุมาตราจะเริ่มราวๆเดือนมิถุนายน และกินเวลาต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายนของทุกปี
ราจีฟ บิสวัส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากสถาบันวิจัย ไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ เผยว่า “ผลกระทบจากหมอกควันอินโดนีเซียที่มาถึงสิงคโปร์คราวนี้ อาจร้ายแรงยิ่งกว่าเมื่อปี 1997... เศรษฐกิจสิงคโปร์อาจเสียหายรุนแรง หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ ซึ่งก็ยังอยู่ในช่วงที่ชาวเกาะสุมาตราแผ้วถางป่าเพื่อแปลงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม”
“ภาพหมอกควันที่ปกคลุมไปทั่วเกาะสิงคโปร์ถูกนำเสนอผ่านสื่อทั่วโลก และอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับเวิลด์-คลาสของที่นี่”
ทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางไปเยือนสิงคโปร์ราว 14.4 ล้านคน ทำให้เกาะแห่งนี้มีรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 23,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราวๆ 4.0% ของจีดีพี
“หากจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างฮวบฮาบ จะกระทบตัวเลขจีดีพีของสิงคโปร์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2013” เพราะประจวบกับที่ภาคการผลิตของสิงคโปร์ก็เริ่มซบเซา โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมียอดซื้อจากตลาดสหรัฐฯและยุโรปลดลง บิสวัส ระบุ
ด้าน จิต ซุน ลิม หัวหน้าฝ่ายวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสถาบัน โนมุระ สิงคโปร์ เตือนว่า แม้แต่อัตราการบริโภคภายในประเทศก็อาจลดลงด้วย เนื่องจากคนส่วนใหญ่เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน
มลพิษทางอากาศในสิงคโปร์พุ่งถึงระดับ 401 ตามมาตรฐานพีเอสไอ (Pollutants Standards Index) ในช่วงเที่ยงวานนี้(21) ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะคนป่วยและผู้สูงอายุ หากยังคงอยู่ระดับนี้นานเกิน 24 ชั่วโมง
สนามบินนานาชาติชางงียังคงเปิดรับผู้โดยสารตามปกติ ขณะที่สนามบินเซเลตาร์ ซึ่งให้บริการสำหรับแขกวีไอพีและเครื่องบินส่วนตัว ต้องปิดให้บริการชั่วคราวเนื่องจากทัศนวิสัยย่ำแย่