เอเอฟพี - สตรีมีครรภ์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีมลภาวะทางอากาศสูงนั้น เสี่ยงต่อการที่บุตรจะเป็น “ออทิสติก” มากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศในระดับต่ำกว่าถึงสองเท่า ผบวิจัยในสหรัฐฯเผยวันนี้ (18)
ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นการวิจัยระดับชาติครั้งแรกที่ทำการตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างปริมาณมลภาวะและความผิดปกติทางด้านพัฒนาการ
ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์โดยวารสาร Environmental Heath Perspectives
“ผลการวิจัยชิ้นนี้ยิ่งเพิ่มความกังกลให้กับเรามากขึ้น” แอนเดรีย โรเบิร์ท ผู้เขียนรายงาน ซึ่งเป็นผู้ช่วยวิจัยจากในโรงเรียนการสาธารณสุข ภาควิชาสังคมและและพฤติกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุ
“ข้อมูลจากการวิจัยระบุว่า 20-60% ของสตรีมีครรภ์ที่เราทำการศึกษานั้น พวกเธออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งก่อให้เกิดมลพิษ”
ข้อมูลดังกล่าวมาจากการสอบถามพยาบาลจำนวน 116,430 ราย ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1989 (พ.ศ.2532)
ในการวิเคราะห์นั้น นักวิจัยได้แบ่งกลุ่มคุณแม่ออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ที่บุตรเกิดมาเป็นออทิสติกจำนวน 325 คน กลุ่มที่สองคือผู้ที่บุตรเกิดมาแล้วไม่ได้มีความผิดปกติใดๆ จำนวน 22,000 คน
ในการประเมินระดับมลภาวะที่คุณแม่ได้รับขณะตั้งครรภ์นั้น นักวิจัยได้อาศัยข้อมูลมลพิษจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม นำมาพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น รายได้ การศึกษา และการสูบบุหรี่ในช่วงตั้งครรภ์”
จากการวิเคราะห์พบว่า สตรีที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับของอนุภาคดีเซลและปรอทในอากาศสูง มีความเสี่ยงที่ลูกจะเป็นออทิสติกมากกว่าผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเขตมลภาวะต่ำสุดถึง 2 เท่า
ในส่วนของสารพิษจำพวก ตะกั่ว แมงกานีส เมทิลลีนคลอไรด์ และโลหะผสม ผู้หญิงที่อยู่ในพื้นที่ที่มีมลสารดังที่กล่าวในระดับสูง มีโอกาสที่ลูกจะเป็นออทิสติกสูงถึง 50%
ออทิสติก คือความผิดปกติทางสมองที่เกิดกับเด็กประมาณ 1 ใน 88 คนในสหรัฐฯ และ 1 ใน 100 คนในอังกฤษ
ทีมนักวิจัยแนะนำว่า สตรีที่กำลังตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจวัดระดับของโลหะและมลสารต่างๆในเลือด เพื่อจะได้ทราบว่าสารพิษชนิดใดบ้างที่ทำให้ทารกเกิดมามีโอกาสป่วยเป็นออทิสติกเพิ่มขึ้น