xs
xsm
sm
md
lg

“โรฮานี” ชนะเป็น ปธน.อิหร่านคนใหม่ แนวคิดสายกลาง-ลุ้นสัมพันธ์นานาประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวอิหร่านไปรวมตัวกันใต้ภาพขนาดยักษ์ของ ฮัสซัน โรฮานี ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่มีแนวคิดปานกลาง และพวกนิยมการปฏิรูปประกาศเทคะแนนให้ ณ ด้านนอกที่ทำการศูนย์รณรงค์เลือกตั้งของเขาในย่านใจกลางกรุงเตหะรานเมื่อวันเสาร์(15) โรฮานีได้รับการประกาศยืนยันแล้วว่าเป็นผู้ชนะได้นั่งตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป
เอเจนซีส์ - ฮัสซัน โรฮานี นักวิชาการศาสนาอิสลามแนวคิดสายกลางที่ฝ่ายปฏิรูปก็เทคะแนนสนับสนุนด้วย เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่แล้ว จากผลการนับคะแนนที่ประกาศในวันอาทิตย์ (16 มิ.ย.) โดยที่เขาแถลงยกย่องชัยชนะของตนเองว่าคือชัยชนะเหนือพวกสุดโต่ง พร้อมเรียกร้องให้มหาอำนาจโลกปฏิบัติต่ออิหร่านด้วยความเคารพ ด้านตะวันตกแสดงความยินดีอย่างระแวดระวังกับว่าที่ผู้นำใหม่ของสาธารณรัฐอิสลามผู้นี้ อย่างไรก็ดี อิสราเอลดักคออย่าหวังมากว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในโครงการนิวเคลียร์ของเตหะราน

ชาวอิหร่านนับหมื่นคนออกมาฉลองบนท้องถนนในกรุงเตหะรานตั้งแต่คืนวันเสาร์ (15) พร้อมชูภาพ โรฮานี วัย 64 ปี และตะโกนคำขวัญสนับสนุนการปฏิรูปขณะที่ข่าวชัยชนะการเลือกตั้งของโรฮานีแพร่กระจายออกไป ซึ่งเท่ากับเป็นการสิ้นสุดของคณะบริหารสายอนุรักษนิยมของมะห์มูด อะห์มาดิเนจัด ที่ครองอำนาจมานาน 8 ปี และเป็นจุดเริ่มต้นของเสรีภาพที่เพิ่มมากขึ้นของประชาชน

การเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นในวันศุกร์ (14) นับเป็นการลงคะแนนเลือกผู้นำฝ่ายบริหารของสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้เป็นครั้งแรก ภายหลังการเลือกตั้งปี 2009 ซึ่งชัยชนะสมัยที่ 2 ของอะห์มาดิเนจัด ประธานาธิบดีที่กำลังจะพ้นตำแหน่งและกฎหมายห้ามไม่ให้ลงเลือกตั้งสมัยที่ 3 ติดต่อกันนั้น ได้ส่งผลให้กลุ่มผู้สนับสนุนผู้สมัครรายอื่นออกมาประท้วงและถูกทางการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงนองเลือด

ภายหลังได้รับการยืนยันชัยชนะเด็ดขาดด้วยคะแนนโหวต 50.5% จึงไม่ต้องมีการเลือกตั้งรอบสองอีก โรฮานีได้ออกมาประกาศว่า นี่คือชัยชนะของปัญญาชน แนวทางสายกลาง และความก้าวหน้าที่มีเหนือลัทธิสุดโต่ง พร้อมเรียกร้องให้มหาอำนาจโลกปฏิบัติต่ออิหร่านด้วยความเคารพ และยอมรับสิทธิของอิหร่าน ซึ่งเป็นการพาดพิงถึงโครงการนิวเคลียร์ของเตหะรานโดยนัย

โรฮานีมีชัยชนะเหนือผู้สมัครอื่นๆ ที่เป็นพวกแนวความคิดอนุรักษนิยม 5 คน โดยตามการแถลงของกระทรวงมหาดไทย เขาได้คะแนนทั้งสิ้น 18.6 ล้านคะแนน จากประชาชนผู้ใช้สิทธิทั้งสิ้น 36.7 ล้านคน ขณะที่ผู้สมัครที่ได้คะแนนอันดับ 2 คือ โมฮัมหมัด บาเกอร์ กอลิบาฟ นายกเทศมนตรีกรุงเตหะราน ได้คะแนน 6.07 ล้านคะแนน หรือ 16.55% ทั้งนี้ โรฮานีจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนสิงหาคม

ทางด้านอยาตอลเลาะห์ อาลี กอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ได้แสดงความยินดีต่อชัยชนะของโรฮานีและต่อการที่ชาวอิหร่านออกไปใช้สิทธิอย่างคับคั่ง

ขณะที่ฝ่ายตะวันตกเผยท่าทีว่า เตรียมพร้อมหารือกับผู้นำใหม่ของอิหร่านโดยตรงเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ที่เป็นปัญหา โดยทำเนียบขาวกล่าวว่า การหารือดังกล่าวจะพุ่งเป้าไปที่การเสาะหาวิธีแก้ไขทางการทูตที่จะสามารถตอบสนองข้อกังวลของนานาชาติ

ฝ่ายตะวันตกนั้นระแวงว่า โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านมีจุดมุ่งหมายในการสร้างอาวุธ ถึงแม้เตหะรานปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวโดยสิ้นเชิง

สำหรับ บัน คีมูน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ แสดงความยินดีต่อชัยชนะของโรฮานีและจำนวนผู้ใช้สิทธิ พร้อมเรียกร้องให้อิหร่านรับบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในกิจการระหว่างประเทศ

แคทเธอลีน แอชตัน กรรมาธิการนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ที่รับหน้าที่หัวหน้าคณะเจรจาของ 6 ชาติมหาอำนาจเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน แถลงว่า พร้อมทำงานกับโรฮานี เพื่อค้นหาวิธีแก้ปัญหาทางการทูต

เช่นเดียวกับปารีสที่ประกาศความพร้อมในการทำงานกับโรฮานี และลอนดอนเรียกร้องให้ประธานาธิบดีคนใหม่บริหารอิหร่านใน “แนวทางที่แตกต่าง”

ทว่า อิสราเอล ประเทศเดียวในตะวันออกกลางที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่ชี้ขาดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านคือ กอเมเนนี ไม่ใช่ประธานาธิบดี

ส่วนแนวร่วมแห่งชาติซีเรียเรียกร้องให้โรฮานีทบทวนการให้การสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด

ทั้งนี้ โรฮานีรับสืบทอดเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการลงโทษของสหรัฐฯ และอียู เพื่อตอบโต้การดำเนินโครงการนิวเคลียร์ โดยในปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้ออิหร่านสูงกว่า 30% ค่าเงินเรียลรูดลงเกือบ 70% และอัตราว่างงานพุ่ง

ระหว่างหาเสียง โรฮานีประกาศจะดำเนินการเพื่อให้นานาชาติผ่อนคลายมาตรการลงโทษ รวมทั้งฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับอเมริกา ที่ตัดขาดกันมาหลังเหตุการณ์นักศึกษาอิหร่านบุกยึดสถานทูตสหรัฐฯ ในปี 1979

ย้อนกลับไปในปี 2003 ตอนที่โรฮานีเป็นผู้เจรจาระดับสูงด้านนิวเคลียร์ภายใต้อดีตประธานาธิบดีนักปฏิรูป โมฮัมหมัด กอตามี อิหร่านตกลงระงับโครงการเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียม อย่างไรก็ดี 2 ปีต่อมาโครงการดังกล่าวได้รับการรื้อฟื้นเมื่ออาห์มาดิเนจัดได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก

นอกจากนี้ โรฮานียังเป็นตัวแทนของกอเมนีในสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุด และเป็นเลขาธิการของสภาแห่งนี้นาน 16 ปีจนถึงปี 2005

ผู้สังเกตการณ์มองว่า โรฮานีอาจเป็นตัวกลางระหว่างกลุ่มหัวรุนแรงที่รายล้อมกอเมเนนีและปฏิเสธการประนีประนอมกับตะวันตก กับกลุ่มปฏิรูปที่ถูกปราบปรามมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แต่ยืนหยัดเรียกร้องให้อิหร่านยึดหลักความเป็นจริงในการปฏิสังสรรค์กับโลก และปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยเพื่อความอยู่รอด
กำลังโหลดความคิดเห็น