xs
xsm
sm
md
lg

ยูเอ็นแถลงว่ามีผู้ถูกสังหารแล้ว 93,000 คนในศึกซีเรีย

เผยแพร่:   โดย: ผู้สื่อข่าวของอัลญะซีเราะห์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

UN says 93,000 people killed in Syria
By Al-Jazeera Correspondents
14/06/2013

เมื่อนับถึงสิ้นเดือนเมษายนปีนี้ มีผู้คนอย่างน้อยที่สุด 93,000 คนแล้วที่ถูกฆ่าตายในท่ามกลางความขัดแย้งสู้รบทำสงครามกันในซีเรีย โดยที่ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 6,561 คน ทั้งนี้ตามการแถลงของสำนักงานสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ โดยที่ยูเอ็นยอมรับด้วยว่า ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตที่ตนเก็บรวบรวมมาได้นี้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก และการเข่นฆ่าสังหารกันยังคงดำเนินอยู่ “ในระดับสูงลิ่วจนน่าตื่นตะลึง”

โดฮา – เมื่อนับถึงสิ้นเดือนเมษายนปีนี้ มีผู้คนอย่างน้อยที่สุด 93,000 คนแล้วที่ถูกฆ่าตายในท่ามกลางความขัดแย้งสู้รบทำสงครามกันในซีเรีย โดยที่ตัวเลขอันถูกต้องแท้จริงน่าที่จะ “สูงกว่านี้อีกมาก” สำนักงานสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติแถลง ถึงแม้ว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการที่ระบุกันออกมาในวันพฤหัสบดี (13 มิ.ย.) ซึ่งคือ 92,901 คน ก็สูงขึ้นมามากอยู่แล้วจากจำนวนผู้เสียชีวิตที่ยูเอ็นแถลงเอาไว้ในครั้งก่อน นั่นคือในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขอยู่ที่ 59,000 คน

“กระแสอันสม่ำเสมอของการสังหารกันยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในระดับสูงลิ่วจนน่าตื่นตะลึง” นาวี พิลเลย์ (Navi Pillay) ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Human Rights) แถลง “ตัวเลขนี้น่าที่จะเป็นไปได้ที่สุดว่าเป็นตัวเลขการบาดเจ็บล้มตายขั้นต่ำสุด ตัวเลขแท้จริงของการเข่นฆ่ากันเหล่านี้มีความเป็นไปได้ที่จะสูงกว่านี้มาก”

รายงานของสำนักงานสิทธิมนุษยชนยูเอ็น ซึ่งได้มาจากการศึกษาล่าสุดที่พยายามประมวลรวบรวมตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มีหลักฐานระบุยืนยัน บ่งบอกให้ทราบว่า นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว มีผู้คนถูกเข่นฆ่าไปในแต่ละเดือนเฉลี่ยแล้วมากกว่า 5,000 คน โดยที่พื้นที่ย่านชนบทของกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย และของเมือง อาเลปโป (Aleppo) เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศนี้ เป็นบริเวณที่มีผู้ถูกสังหารสูงที่สุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2012 เป็นต้นมา ขณะที่ในจำนวนเหยื่อผู้สูญเสียชีวิตทั้งสิ้น 92,901 คนนั้น ที่เป็นเด็กมีอย่างน้อยที่สุด 6,561 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ 1,729 คน

เจมส์ เบย์ส (James Bays) บรรณาธิการข่าวด้านการทูต (diplomatic editor) ของอัลญะซีเราะห์ ซึ่งรายงานข่าวเรื่องนี้มาจากสำนักงานใหญ่ของยูเอ็นในนครนิวยอร์ก กล่าวถึงตัวเลขเหล่านี้ว่า “น่าฉงนสงสัย”

ยูเอ็นนั้นมีช่องทางเข้าถึงซีเรียอยู่ไม่มากนัก และด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถที่จะทำการนับจำนวนศพกันจริงๆ ได้ แทนที่จะทำเช่นนั้น พวกเขาต้องหันไปพึ่งพาวิธีการสำรวจเชิงสถิติ

“พวกเขาใช้วิธีสำรวจแหล่งต่างๆ หลายๆ แหล่ง ที่มีการระบุชื่อ, วันเวลา, และสถานที่ (ของพวกที่ถูกสังหาร)” ผู้สื่อข่าวของอัลญะซีเราะห์แจกแจง พร้อมกับบอกต่อไปว่า สหประชาชาติยอมรับว่าตัวเลขที่รวบรวมมาได้ของตนคงจะต่ำกว่าจำนวนผู้ที่ตายจริงๆ ไปมาก

**การสังหารหมู่ด้วยฝีมือฝ่ายกบฎ**

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ มีรายงานว่า ระหว่างการสู้รบในหมู่บ้านฮัลตา (Halta) ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศและชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่นั้น พวกกบฎได้สังหารผู้คนไปอย่างน้อย 60 คน ในจำนวนนี้หลายๆ คนเป็นพวกที่ภักดีต่อรัฐบาลพลเรือนของซีเรีย ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของพวกนักเคลื่อนไหว การสู้รบที่นั่นซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา พุ่งเป้าโจมตีไปที่สมาชิกจำนวนหนึ่งของชุมชนชาวมุสลิมนิกายชิอะห์ อันเป็นตอกย้ำให้เห็นว่าสงครามกลางเมืองในซีเรียกำลังมีลักษณะเป็นศึกระหว่างคนต่างนิกายศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ

มีรายงานว่าพวกนักรบฝ่ายค้านได้ยกกำลังบุกจู่โจมและเผาบ้านเรือนของพลเรือนในหมู่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดดีร์ อัซซอร์ (Deir Azzor) ทางภาคตะวันออกของซีเรียแห่งนี้ กล่าวกันว่าการโจมตีคราวนี้เป็นการตอบโต้แก้แค้นจากการที่ก่อนหน้านั้นพวกชิอะห์จากหมู่บ้านฮัลตาได้ทำการโจมตีฝ่ายค้าน และสังหารนักรบฝ่ายค้านตายไป 4 คน ทางด้านเจ้าหน้าที่รัฐบาลซีเรียผู้หนึ่งได้แถลงประณามการโจมตีย่านที่อยู่อาศัยของชาวชิอะห์ในหมู่บ้านฮัลตาซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวสุหนี่คราวนี้ว่า เป็น “การสังหารหมู่”พลเรือน ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวเอพีเมื่อวันพฤหัสบดี (13 มิ.ย.)

คลิปวิดีโอชิ้นหนึ่งที่พวกกบฏได้นำขึ้นโพสต์ทางออนไลน์ตั้งแต่วันอังคาร (11 มิ.ย.) โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “การบุกถล่มและกวาดล้างฮัตลา” (The storming and cleansing of Hatla) แสดงให้เห็นนักรบจำนวนหลายสิบคนกำลังโบกธงสีดำเป็นการเฉลิมฉลอง และกำลังยิงปืนอยู่ในถนนหสายสายของชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่ง ขณะที่มีควันโขมงพวยพุ่งขึ้นเหนือสิ่งปลูกสร้างหลายๆ แห่ง

พวกกบฎติดอาวุธในซีเรียนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นพวกสุหนี่ซึ่งเป็นประชากรส่วนข้างมากของประเทศ ขณะที่ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ยังคงสามารถรักษาความสนับสนุนหลักๆ จากพวกชนกลุ่มน้อยของประเทศเอาไว้ได้ โดยที่ 1 ในชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ได้แก่พวกนิกายอาลาวิต (Alawite) ของ อัสซาด เอง ซึ่งเป็นพวกที่แตกแขนงออกมาจากศาสนาอิสลามนิกายชิอะห์ นอกจากนั้นก็เป็น ชนกลุ่มน้อยชาวคริสเตียน และชาวชิอะห์

**สหรัฐฯถกเถียงเรื่องยุทธศาสตร์ช่วยกบฎซีเรีย**

การกล่าวหาเรื่องสังหารหมู่นี้ บังเกิดขึ้นในขณะที่สหรัฐฯกำลังมีการถกเถียงอภิปรายกันอีกครั้งถึงวิธีการในการเข้าช่วยเหลือฝ่ายค้านชาวซีเรีย ระหว่างการตอบคำถามผู้สื่อข่าวพร้อมๆ กับรัฐมนตรีต่างประเทศ วิลเลียม เฮก (William Hague) ของสหราชอาณาจักร ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันพุธ (12 มิ.ย.) รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี (John Kerry) ของสหรัฐฯกล่าวว่า หนทางแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการเมืองซึ่งจะสามารถยุติสงครามและรักษาซีเรียเอาไว้ได้นั้น ยังเป็นสิ่งที่กำลังเสาะแสวงหากันอยู่

สหรัฐฯนั้นอยู่ระหว่างการไต่ตรองชั่งน้ำหนักมาเป็นเวลาแรมเดือนแล้ว ว่าจะส่งอาวุธให้แก่พวกกบฎซีเรียดีหรือไม่ ทว่าประเด็นนี้กำลังกลายเป็นประเด็นที่ต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดลงไปในขณะนี้ เมื่อพิจารณาจากการเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับสงครามในซีเรียมากขึ้นเรื่อยๆ ของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) กลุ่มติดอาวุธของชาวชิอะห์ในเลบานอน โดยที่กลุ่มนี้ให้การสนับสนุนรัฐบาลอัสซาด เช่นเดียวกับอิหร่าน ซึ่งก็หนุนหลังประธานาธิบดีอัสซาดในการทำศึกกับพวกกบฎ

“เวลานี้เรากำลังรวมศูนย์ความพยายามของเราไปที่การทำทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเราสามารถทำได้เพื่อสนับสนุนฝ่ายค้าน ขณะที่พวกเขาลงมือกระทำการเพื่อเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจอยู่ในภาคสนาม” เคร์รีกล่าวเช่นนี้ระหว่างการแถลงข่าวร่วมภายหลังหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร

การแสดงความเห็นของเคร์รีคราวนี้ บังเกิดขึ้นในขณะที่มีรายงานว่า กองกำลังอาวุธของระบอบปกครองอัสซาด กำลังเตรียมตัวเพื่อเปิดการรุกครั้งสำคัญต่อส่วนต่างๆ ของเมืองอาเลปโป ซึ่งตกอยู่ใต้การยึดครองของพวกกบฏ

คณะรัฐบาลโอบามานั้นกำหนดจัดการประชุมกันในสัปดาห์นี้เพื่อตัดสินใจว่าจะส่งอาวุธให้แก่พวกกบฎในซีเรียหรือไม่[1] โดยที่ เคร์รี แถลงว่าเขาได้หยิบยกเรื่องนี้หารือกับ เฮก เช่นกัน การประชุมหารือต่างๆ เหล่านี้มีขึ้นก่อนหน้าการประชุมระดับผู้นำของกลุ่ม 8 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี-8) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในไอร์แลนด์เหนือ สัปดาห์หน้า เป็นที่คาดหมายกันว่า บรรดาผู้นำของ จี-8 จะถกเถียงอภิปรายกันเกี่ยวกับการร่วมไม้ร่วมมือกันในการตอบสนองต่อสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ในซีเรีย ตลอดจนวิธีการที่จะนำเอาฝ่ายต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์กันอยู่เข้ามาร่วมการประชุมสันติภาพ

สำหรับในส่วนของรัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักรเองนั้น เฮกแถลงว่าทั้งสหราชอาณาจักร, สหรัฐฯ, และเหล่าพันธมิตรในยุโรปตลอดจนในภูมิภาคตะวันออกกลาง (ชาติเหล่านี้รวมตัวกันเป็นกลุ่มซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “ลอนดอน 11” (London 11) โดยที่ได้จัดการพบปะหารือกันตามเมืองต่างๆ ในตุรกีและในจอร์แดนหลายครั้งแล้ว) อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มระดับความพยายามของพวกตนในการเข้าช่วยเหลือฝ่ายค้าน

ในวันพุธ (12 มิ.ย.) เช่นกัน ความวุ่นวายทำท่าแผ่ลามไปในบริเวณชายแดนของซีเรียติดต่อกับเลบานอน โดยที่ตำรวจเลบานอนแถลงว่า เฮลิคอปเตอร์ของฝ่ายซีเรียลำหนึ่งได้ยิงจรวดหลายลูกเข้าใส่หมู่บ้านอาร์ซาอัล (Arsaal) ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของเลบานอน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 2 คน

หมายเหตุผู้แปล
[1] คณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯแถลงที่กรุงวอชิงตันในคืนวันพฤหัสบดี (14มิ.ย.) ว่า หลังจากศึกษาทบทวนรายงานข่าวกรองต่างๆ แล้ว มีข้อสรุปว่าระบอบปกครองอัสซาดของซีเรียมีการใช้อาวุธต้องห้าม รวมทั้งอาวุธเคมีอย่าง แก๊ส ซาริน (Sarin) ในการโจมตีของตน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตที่อาจจะมีจำนวนสูงถึง 150 คน ขณะเดียวกัน พวกเจ้าหน้าที่อเมริกัน เป็นต้นว่า เบน โรดส์ (Ben Rhodes) รองที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของทำเนียบขาว กล่าวว่า ประธานาธิบดีได้ตัดสินใจแล้วที่จะให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นแก่ฝ่ายค้านในซีเรีย ซึ่งครอบคลุมถึงการให้ความสนับสนุนโดยตรง อันรวมถึงความสนับสนุนทางทหารด้วย แก่กลุ่มกบฎ ซีเรียน มิลิทารี เคาน์ซิล (Syrian Military Council หรือ SMC) ทั้งนี้หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม โดยอ้างคำบอกเล่าของพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯซึ่งระบุว่า อาวุธที่สหรัฐฯจะจัดส่งให้พวกกบฏนั้น ประกอบด้วยอาวุธขนาดเล็กและเครื่องกระสุน ตลอดจนอาวุธต่อสู้รถถัง แต่ไม่มีอาวุธต่อสู้อากาศยาน (ดูเรื่อง US vows military aid to Syria rebels as battles rage, สำนักข่าว AFP, 15 June 2013.)

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส เผยแพร่นำเสนอรายงานชิ้นนี้ ตามความตกลงที่จัดทำไว้กับอัลญะซีเราะห์ )
กำลังโหลดความคิดเห็น