xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯยินยอมให้บริษัทอินเทอร์เน็ตรายใหญ่เผยข้อมูลการสอดแนมผู้ใช้ “อย่างจำกัด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - เฟซบุ๊ก และ ไมโครซอฟต์ บรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐฯว่าจะเปิดเผยเรื่องที่หน่วยข่าวกรองวอชิงตันขอสอดแนมข้อมูลผู้ใช้ “อย่างจำกัด” เท่านั้น ซึ่งเป็นชัยชนะเล็กๆสำหรับบริษัทอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ที่กำลังเผชิญวิกฤตความศรัทธาจากผู้ใช้ หลังสหรัฐฯถูกเปิดโปงโครงการสอดแนมข้อมูล

เฟซบุ๊ก สื่อสังคมออนไลน์ซึ่งมีผู้ใช้กว่า 1,100 ล้านคนทั่วโลก เป็นบริษัทแรกที่ออกมาเผยว่า เคยได้รับคำร้องจากหน่วยงานของสหรัฐฯเพื่อขอเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ราว 9,000-10,000 ครั้ง ครอบคลุมบัญชีผู้ใช้ 18,000-19,000 บัญชี ในช่วงครึ่งหลังของปี 2012 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำขอตรวจสอบจากตำรวจ

ภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลงนี้ เฟซบุ๊ก จะไม่สามารถระบุได้ว่า มีกี่คำร้องที่ออกภายใต้กฎหมายสอดแนมข้อมูลต่างชาติ (FISA) เนื่องจากปัจจุบันยังถือว่าเป็นความลับของรัฐบาล

ด้าน ไมโครซอฟต์ คอร์ปอเรชัน ก็แถลงวานนี้(14)ว่า เคยได้รับหมายจากสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ, หมายศาล และคำสั่งอื่นๆประมาณ 6,000-7,000 ครั้ง ให้เปิดเผยข้อมูลบัญชีลูกค้า 32,000 รายในช่วงเวลาเดียวกัน

ข้อตกลงดังกล่าวสะท้อนถึงแรงกดดันที่สหรัฐฯ และบริษัทไอทียักษ์ใหญ่เหล่านี้กำลังเผชิญ หลังสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) ถูกเปิดโปงโครงการสอดแนมการใช้อินเทอร์เน็ตของชาวต่างชาติ ซึ่งทำให้สังคมเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับขอบเขตและปริมาณข้อมูลส่วนบุคคลที่รัฐบาลสหรัฐฯสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย

ด้านบริษัทไอทีอื่นๆ คาดว่าจะทยอยเปิดเผยจำนวนคำร้องที่ได้รับจากรัฐบาลสหรัฐฯ แต่จะไม่ระบุชัดเจนว่าเป็นคำร้องจากเอ็นเอสเอกี่ครั้ง แหล่งข่าวเผย

กูเกิล, เฟซบุ๊ก และไมโครซอฟต์ ต่างเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯอนุญาตให้เปิดเผยจำนวนครั้งและขอบเขตของการสอดแนมที่พวกเขาถูกร้องขอมา รวมไปถึงคำสั่งลับที่มีขึ้นตามอำนาจของกฎหมาย FISA ด้วย หลังจากบริษัทต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงจากรายงานในหนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน และวอชิงตันโพสต์ ซึ่งระบุว่า พวกเขาอนุญาตให้หน่วยงานสหรัฐฯเข้าถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของบริษัทได้โดยตรง ตามโปรแกรมลับของเอ็นเอสเอที่ใช้ชื่อรหัสว่า “ปริซึม” (PRISM)
กำลังโหลดความคิดเห็น