xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัยจัดทำในไทยเผย ยาต้านไวรัส “เทโนโฟเวียร์” ใช้ป้องกันเอดส์ในกลุ่มผู้ติดยาเสพติดได้ดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - การให้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีแก่ผู้ติดยาเสพประจำทุกวัน สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลงไปแทบจะครึ่งหนึ่ง งานวิจัยนำร่องซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (13) และทดลองกับอาสาสมัครชาวไทยระบุ

การวิจัยซึ่งดำเนินมา 4 ปี ได้พิสูจน์สมมติฐานที่ว่ายาต้านเชื้อไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ แทนที่จะนำมารักษาหลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อเพียงเท่านั้น รายงานวิจัยระบุ

ในการวิจัยครั้งนี้ แพทย์ชาวไทยและชาวอเมริกันได้คัดเลือกอาสาสมัครจำนวน 2,411 คน จากคลินิกต่างๆ ในกรุงเทพฯ

เมื่อเริ่มต้นการวิจัย ผู้เข้าร่วมเป็นผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือดและไม่มีเชื้อไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV)

อาสาสมัครเหล่านี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ทุกๆวันกลุ่มแรกจะต้องรับประทานยาต้านไวรัสเทโนโฟเวียร์ (Tenofovir) ซึ่งเป็นยารักษาโรคเอดส์ชั้นแนวหน้า ในขณะที่ให้อีกกลุ่มรับประทานยาหลอก

โดยทุกๆ เดือนทั้งสองกลุ่มจะได้รับการทดสอบเชื้อเอชไอวี ถุงยางอนามัย คำแนะนำทางการแพทย์ และการรักษาด้วยยาระงับปวดเมธาโดนเพื่อให้เลิกใช้ยาระงับปวดที่สกัดจากฝิ่น

เมื่อสิ้นปีที่ 4 มีอาสาสมัครที่ใช้ยากลุ่มเทโนโฟเวียร์ติดเชื้อเพียง 17 คน ส่วนกลุ่มที่ใช้ยาหลอกติดเชื้อ 33 คน

ตัวเลขของผู้ติดเชื้อได้ชี้ให้เห็นว่าการใช้ยาเทโนโฟเวียร์สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโดยเฉลี่ย 48.9 เปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับผู้ที่รับประทานยาเป็นประจำจะสามารถลดความเสี่ยงได้มากขึ้นกว่า 70 เปอร์เซนต์

จากการวิจัยไม่พบว่าการรับประทานยาเทโนโฟเวียร์ทำให้เชื้อไวรัสดื้อยาหรือแสดงผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร “เดอะลานสิต” ออนไลน์ ซึ่งเป็นวิธีที่รู้จักกันดีในชื่อ “การป้องกันโรคก่อนสัมผัสเชื้อ” (Pre-exposure prophylaxis) หรือ PrEP สามารถใช้ป้องกันการติดโรคในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง คณะผู้วิจัยกล่าว

ในการวิจัยครั้งก่อนพบว่า PrEP ช่วยป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้รักเพศเดียวกัน และในกลุ่มคู่รักชายหญิงที่มีฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อและอีกฝ่ายหนึ่งไม่ติดเชื้อ (Discordant) นอกจากนี้ PrEP ยังช่วยลดความเสี่ยงในส่งต่อเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก

“การวิจัยครั้งนี้เป็นก้าวที่สำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ ตอนนี้เรารู้แล้วว่า PrEP สามารถใช้ได้ผลกับประชากรทุกคนที่เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น” โจนาธาน เมอร์มิน จากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้เงินสนับสนุนการวิจัยร่วมกับกรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุขไทย

“การฉีดสารเสพติดเข้าเส้นเลือด คือ ปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีทั่วโลก และเราคาดหวังว่า PrEP จะมีบทบาทสำคัญในการลดจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ข้อมูลของ UNAIDS (หน่วยงานสำคัญขององค์การสหประชาชาติที่ดำเนินงานด้านโรคเอดส์) ระบุว่าในปี 2011มีประชากรจำนวนมากถึง 34 ล้านคนป่วยเป็นโรคเอดส์ และในปีเดียวกันมีผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ถึง 2.5 ล้านคน โดยราว 10 เปอร์เซนต์ของผู้ติดเชื้อเหล่านี้มีสาเหตุมาจากการใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด

บางประเทศในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 80 เปอร์เซนต์ทิ่ได้รับเชื้อจากการใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น

เชื้อไวรัสสามารถส่งผ่านการใช้เข็มฉีดยาหรือหลอดฉีดยาร่วมกัน และถ้าหากผู้ติดยาขายบริการทางเพศเพื่อหาเงินมาซื้อยาเสพติด

นักวิเคราะห์กล่าวว่าผลการวิจัยอาจให้กำลังใจ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องไม่ลืมว่า ในขณะที่งานวิจัยก้าวหน้าจะมีอาสาสมัครที่ติดยาเสพติดน้อยลงเรื่อยๆ และดูเหมือนว่าทำให้พวกเขาข้องแวะกับพฤติกรรมเสี่ยงประเภทอื่นน้อยลง

นอกจากนี้ ดูเหมือนว่าการกักขังอาสาสมัครบางส่วนจะเอื้ออำนวยให้พวกเขาสามารถปฏิบัติตามขั้นตอนในการใช้ยาและคำแนะนำของแพทย์ได้อย่างเคร่งครัด เหล่านักวิเคราะห์กล่าวเสริม

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดคำถามขึ้นว่า PrEP จะมีประสิทธิภาพหากนำมาใช้ในชีวิตจริงมากน้อยแค่ไหน พวกเขากล่าวทิ้งท้าย

ซาลิม อับดุล การิม จากศูนย์วิทยาศาสตร์ CAPRISA AIDS ของประเทศแอฟริกาใต้กล่าวว่า PrEP เป็นได้เพียงวิธีการที่ต้องใช้เทคนิคในการรักษาอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ การให้นำเข็มเก่ามาแลกเข็มใหม่ การเปลี่ยนมาใช้ยาระงับปวดเมธาโดนแทนยาที่สกัดจากฝิ่น และการให้คำปรึกษาเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ซึ่งยังเป็นโครงการที่เป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองในบางประเทศ

แดเนียล วูลฟ์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาการลดอันตรายจากการใช้ยาระหว่างประเทศ (International Harm Reduction Development Programme) ของ มูลนิธิโอเพนโซไซตี ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการตราหน้าให้ผู้ติดยาเป็นผู้มีความผิดทางอาญา

เขาถามว่าจะนำการรักษาแบบ PrEP ไปปฏิบัติในประเทศที่ให้เจ้าหน้าที่จับกุม กักขังหรือประณามผู้ติดยาเสพติดได้อย่างไร

“ถ้าหากประเทศเหล่านี้ไม่พยายามที่จะสร้างความเชื่อมั่นหรือความเต็มใจที่จะช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด ภาคสาธารณสุขก็ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์ตามแนวทาง PrEP ได้เลย” เขากล่าวผ่านอีเมล์ ขณะเข้าร่วมการประชุมเรื่องเอชไอวีและผู้ใช้ยาเสพติด ซึ่งจัดขึ้นที่วิลนีอุส เมืองหลวงของลิทัวเนีย

กำลังโหลดความคิดเห็น