รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น รับรองกฎหมายจัดตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ วันนี้ (7) ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจแก่นายกรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ท่ามกลางภัยคุกคามจากขีปนาวุธเกาหลีเหนือและข้อพิพาทดินแดนกับจีนที่ยังเป็นปัญหาเรื้อรัง
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงสหรัฐฯ ออกมาชื่นชมแผนของ อาเบะ ที่จะจัดตั้งหน่วยงานในลักษณะเดียวกับสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ซึ่งจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและช่วยให้รัฐบาลโตเกียวออกมาตรการรับมือปัญหาด้านความมั่นคงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
โยชิฮิเดะ สุกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงต่อสื่อมวลชนว่า “เราได้จัดเตรียมโครงสร้างการบริหาร ซึ่งจะช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถตรวจสอบสถานการณ์ความมั่นคงของประเทศได้อย่างรอบด้าน”
ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกเสนอต่อที่ประชุมสภาสมัยปัจจุบัน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 26 มิถุนายน และประกาศเป็นกฎหมายระหว่างการประชุมสมัยวิสามัญของสภาไดเอตในฤดูใบไม้ร่วง
ญี่ปุ่นเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการรวมศูนย์อำนาจด้านความมั่นคง หลังจากที่เกาหลีเหนือแสดงฤทธิ์เดชข่มขู่สหรัฐฯและประเทศเพื่อนบ้านเมื่อ 3-4 เดือนก่อน รวมถึงเหตุการณ์กลุ่มอิสลามิสต์จับคนงานชาวญี่ปุ่นในโรงแยกก๊าซแอลจีเรียเป็นตัวประกันเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้พลเมืองญี่ปุ่นถูกสังหารไป 10 คน
นอกจากนี้ ปัญหาการแย่งอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเซงกากุ หรือเตี้ยวอี๋ว์ ก็ลุกลามถึงขั้นที่จีนและญี่ปุ่นต่างส่งเครื่องบินรบและเรือตรวจการณ์ออกลาดตระเวนเพื่อข่มขู่ซึ่งกันและกัน จนหลายฝ่ายเกรงว่า การเข้าใจผิดกันแม้แต่น้อยอาจเป็นชนวนนำไปสู่เหตุปะทะรุนแรง
ริชาร์ด อาร์มิเทจ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯในสมัยของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช กล่าวในเวทีสัมมนาเมื่อเดือนที่แล้วว่า แม้ข้อพิพาทหมู่เกาะเซงกากุจะเกี่ยวพันกับหลายกระทรวงของญี่ปุ่น แต่ที่ผ่านมายังไม่มีกระบวนการที่จะรวบรวมข้อมูลส่งไปให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา และออกคำสั่งอย่างทันท่วงที”
“สภาความมั่นคงแห่งชาติจะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยในการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นในวันข้างหน้า”
ภายใต้กรอบการทำงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี, เลขาธิการคณะรัฐมนตรี, รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม จะมีการพบปะหารืออยู่เป็นประจำเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ ส่วนรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จะถูกเรียกเข้าประชุมด้วยในกรณีฉุกเฉิน