เอเจนซีส์-สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประกาศต่อรัฐบาลทั่วโลกน้อมรับมาตรการควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นับเป็นครั้งแรกที่บรรดาสายการบินระหว่างประเทศได้ยอมรับมาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ดีมาตรการของ IATA นี้ ก็ยังไม่อาจสร้างความพึงพอใจแก่บรรดาผู้เคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันจันทร์(3)สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(IATA) ได้ทำการอนุมัติมติยอบรับมาตรการการควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเดินทางทางอากาศ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2020 แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดถึงจำนวนก๊าซเรือนกระจก และยังไม่มีความเห็นชัดเจนว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆจะเข้ามามีบทบาทอย่างไร แต่ถึงกระนั้น หลายฝ่ายเชื่อว่า การเคลื่อนไหวของIATA อาจจะมีส่วนช่วยลดความตึงเครียดระหว่างบรรดาประเทศต่างๆ ที่ไม่พอใจกับกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเข้มงวดของสหภาพยุโรป (EU) ที่มีการประกาศก่อนหน้านี้
ก่อนหน้านี้รัฐบาลหลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ จีนและอินเดียก็ได้คัดค้านการที่จะให้บรรดาสายการบินในประเทศของตนเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสหภาพยุโรปพร้อมกับดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมายไปแล้ว
เมื่อปีที่แล้ว คณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นองค์การฝ่ายบริหารของอียูได้กล่าวไว้ว่า ถ้าจะผ่อนปรนกฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรป บริษัทสายการบินต่างๆจะต้องออกมาแสดงความสมัครใจที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันอย่างจริงจังไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
อย่างไรก็ดี บรรดากลุ่มผู้รณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมชี้ว่ามติของIATAเมื่อวันจันทร์(3) นั้น อาจเป็นเพียงการเปิดทางให้สายการบินต่างๆ ได้ประโยชน์จากการซื้อขาย "คาร์บอน เครดิต" เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในราคาถูกเท่านั้น หาใช่เป็นการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แท้จริงแต่อย่างใด
บิล เฮมมิงส์ ผู้จัดการฝ่ายการบิน บริษัท Transport&Environment ซึ่งให้การสนับสนุนการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "มติของ IATA แสดงให้เห็นว่า IATAนั้นยินดีที่จะก้าวออกมาจากจุดยืนเดิมที่ว่า แค่การควมคุมจราจรทางอากาศที่ดี เครื่องบินที่ดี หรือการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ก็เพียงพอจะลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว "
ทั้งนี้ มติของ IATAในครั้งนี้จะสัมฤทธิผลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่า ภายในปีนี้ รัฐบาลนานาประเทศและองค์การบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO)จะยอมรับกฏเกณฑ์ที่ใช้ควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ IATA เสียก่อน