เอเอฟพี - สหภาพแรงงานของตุรกีประกาศหยุดงานเป็นเวลา 2 วัน ตั้งแต่วันนี้ (4) เพื่อประท้วงที่ทางการตุรกีใช้ความรุนแรงเกิดเหตุต่อผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาล จนอาจเข้าขั้นใช้อำนาจรัฐก่อการร้าย (state terror)
สมาพันธ์สหภาพแรงงานสาธารณะของตุรกี (Confederation of Public Workers' Unions – KESK) ได้นัดหยุดงานประท้วงเป็นเวลา 2 วัน โดยชี้ว่า “การใช้อำนาจรัฐก่อการร้ายเพื่อปราบปรามการประท้วงอย่างสันติ ถือเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมือง”
สมาพันธ์ผู้ใช้แรงงานแห่งนี้มีสมาชิกราว 240,000 คน จากสหภาพแรงงานทั้งหมด 11 แห่ง ซึ่งการนัดหยุดงานดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อทั้งโรงเรียน, มหาวิทยาลัย และหน่วยงานสาธารณะทั่วตุรกี
เช้ามืดที่ผ่านมา (4) ตำรวจปราบจลาจลได้ยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมที่นครอิสตันบูล ซึ่งจุดไฟเผารถยนต์, ขว้างปาก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่ และป่าวร้องสโลแกนประณามรัฐบาล ส่วนสถานการณ์ที่กรุงอังการาก็อยู่ในสภาพวุ่นวายไม่แพ้กัน
ล่าสุด ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุประท้วงรัฐบาลตุรกีครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี ขยับเพิ่มเป็น 2 รายทั่วประเทศ
นายกรัฐมนตรี ตอยยิบ เออร์โดแกน ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนโมร็อกโก เผยก่อนออกเดินทางว่า สถานการณ์ในประเทศเริ่มสงบลงแล้ว และปฏิเสธว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ “ตุรกีสปริง” ตามคำอ้างของผู้ประท้วง ซึ่งกล่าวหาว่า พรรครัฐบาลเอเคพีที่มีรากมาจากฝ่ายอิสลามิสต์กำลังยัดเยียดการปฏิรูปแบบอนุรักษ์นิยม เพื่อเปลี่ยนตุรกีไปสู่ความเป็นรัฐอิสลามเคร่งจารีต
เออร์โดแกน ยังกล่าวโทษ “กลุ่มหัวรุนแรง” และ “ผู้ต่อต้านรัฐบาล” ว่าเป็นผู้ยุยงให้ประชาชนก่อความวุ่นวาย
“พรรคฝ่ายค้าน รีพับลิกัน พีเพิลส์ ปาร์ตี (CHP) กับพวกต่อต้านรัฐบาล มีส่วนรู้เห็นกับการจลาจลที่เกิดขึ้น” เออร์โดแกน ให้สัมภาษณ์ที่กรุงราบัต เมืองหลวงของโมร็อกโก
“สถานการณ์ในขณะนี้เริ่มคลี่คลาย... เมื่อผมกลับไปถึงปัญหาทุกอย่างคงจะจบลงแล้ว”
สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์ เผยวานนี้ (3) ว่า มีชายคนหนึ่งถูกรถยนต์ที่ขับพุ่งเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมในนครอิสตันบูลชนจนเสียชีวิต เมื่อวันอาทิตย์ (2) ขณะที่สถานีโทรทัศน์เอกชน เอ็นทีวี ก็รายงานเช้าวันนี้ (4) ว่า หนุ่มวัย 22 ปี นาม อับดุลเลาะห์ โกเมิร์ต ถูกยิงเข้าที่ศีรษะในจังหวัดฮาไต ทางตอนใต้ของตุรกี
องค์กรสิทธิมนุษยชนและแพทย์เปิดเผยว่า การปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจที่นครอิสตันบูลส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 1,000 ราย และอีก 700 รายที่กรุงอังการา
ด้านรัฐบาลตุรกีเผยตัวเลขประมาณการเมื่อวันอาทิตย์ (2) ว่า การประท้วงใน 67 เมืองส่งผลให้พลเมืองบาดเจ็บเพียง 58 ราย และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงอีก 115 นาย ส่วนผู้ที่ถูกจับอีกกว่า 1,700 คนก็ได้รับการปล่อยตัวแล้วเป็นส่วนใหญ่
การประท้วงต่อต้านรัฐบาลตุรกีปะทุขึ้นเมื่อวันศุกร์ (31) โดยเริ่มจากการชุมนุมอย่างสงบของคนกลุ่มเล็กๆ เพื่อคัดค้านแผนพัฒนาสวนสาธารณะ เกซี ปาร์ก บริเวณจัตุรัสตักซิมในเมืองอิสตันบูล ซึ่งพวกเขากล่าวหาว่าจะมีการต่อยอดจนทำให้กลายเป็นศูนย์การค้า ปรากฏว่าตำรวจใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุม จึงทำให้เกิดกระแสต่อต้านลุกลามอย่างรวดเร็วไปสู่คนทุกวัย และทุกภาคส่วนทางการเมืองและสังคม
เออร์โดแกน ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2002 ใช้อำนาจออกกฎหมายเชิงปฏิรูปหลายด้าน ทั้งเรื่องการศึกษาวิชาศาสนา และล่าสุดก็คือข้อบังคับว่าด้วยการจำหน่ายแอลกอฮอล์