เอเอฟพี - เนปาลจัดงานฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งการพิชิตยอดเขา “เอเวอเรสต์” เพื่อสดุดีความกล้าของบรรดานักปีนเขาที่ดั้นด้นฝ่าสภาพอากาศอันเลวร้ายไปจนถึงจุดสูงที่สุดของโลก ขณะที่หลายฝ่ายวิตกว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะบั่นทอนความบริสุทธิ์งดงามของยอดเขาแห่งนี้ไปทีละน้อย
งานฉลอง “Everest Daimond Jubilee” จะปิดฉากลงในวันนี้ (29) ด้วยพิธีเลี้ยงอาหารค่ำที่พระราชวังเก่าในเมืองกาฐมาณฑุ เพื่อเป็นเกียรติแก่ เอ็ดมันด์ ฮิลลารี และเท็นซิง นอร์เกย์ สองนักปีนเขาผู้พิชิตเอเวอเรสต์ได้เป็นกลุ่มแรก
โครงการสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์ในปี 1953 ของอังกฤษ นอกจากจะพลิกโฉมหน้าของกีฬาปีนเขาไปตลอดกาลแล้ว ยังทำให้ ฮิลลารี ชาวนิวซีแลนด์ และนอร์เกย์ ไกด์ชาวเนปาล มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะ “วีรบุรุษ” ของมนุษยชาติทั่วโลก
ปีเตอร์ ซึ่งเป็นบุตรชายของฮิลลารี ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า “ฮิลลารี และเท็นซิง ไม่ต่างจากร็อคสตาร์ในทศวรรษ 1950-60... การที่พวกเขาออกเดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่เคยมีใครไปถึงมาก่อน นั่นคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากในปี 1953”
“ตอนนั้นผู้คนยังไม่รู้ว่าบนยอดเขามีอะไรอยู่บ้าง พวกเขาไม่รู้ว่าเมื่อขึ้นไปแล้วจะยังมีสติอยู่ได้หรือไม่ พวกเขาไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าพ่อผมกับไกด์จะปีนสันเขาช่วงสุดท้ายที่แสนลาดชันได้สำเร็จหรือเปล่า ซึ่งทุกวันนี้คนก็เรียกสันเขาช่วงนั้นว่า Hillary Steps”
งานเลี้ยงอาหารค่ำในเย็นวันนี้ (29) จะมีนักปีนเขาระดับตำนานไปปรากฏตัวด้วย เช่น ไรน์โฮลด์ เมสเนอร์ นักปีนเขาชาวอิตาลี ซึ่งเป็นมนุษย์คนแรกที่ขึ้นสู่ยอดเอเวอเรสต์เพียงลำพัง โดยปราศจากถังออกซิเจนสำรอง, ลูกหาบ หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ช่วย และ คันชา เชอร์ปา นักปีนเขาผู้ร่วมโครงการสำรวจเอเวอเรสต์ในปี 1953 คนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่
ฮิลลารี และเพื่อนพ้องในแวดวงนักปีนเขารู้สึกกังวลที่เห็นผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลมายังเนปาล ทำให้การพิชิตยอดเอเวอเรสต์กลายเป็นธุรกิจ และก่อให้เกิดมลพิษต่อธรรมชาติ
ฤดูปีนเขาปีนี้มีผู้ที่ขึ้นไปถึงยอดเอเวอเรสต์ 540 คน และยังเกิดเจ้าของสถิติใหม่ๆ เช่น ยูอิจิโร มิอุระ วัย80 ปี ซึ่งกลายเป็นผู้พิชิตเอเวอเรสต์ที่อายุมากที่สุดในโลก, สตรีพิการคนแรก, สตรีคนแรกจากซาอุดีอาระเบียและปากีสถาน รวมถึงชายไร้แขนคนแรก
ทหารจากกองทัพอินเดียและเนปาลเก็บกวาดขยะบนเส้นทางขึ้นสู่ยอดเอเวอเรสต์ได้มากกว่า 4 ตันในปีนี้ ทว่าตามจุดแวะพักต่างๆ ยังคงมีขยะตกค้างอยู่อีกเป็นจำนวนมาก
ทาชิ เท็นซิง วัย 49 ปี ซึ่งเป็นหลานชายของนอร์เกย์ เรียกร้องให้รัฐบาลเนปาลหาทางแก้ไขปัญหา โดยชี้ว่า “ผู้นำของเราควรตระหนักถึงคุณค่าของขุนเขา... เราไม่ควรปล่อยให้เนปาลกลายเป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวราคาถูก”