xs
xsm
sm
md
lg

คณะกรรมาธิการยุโรปจ่อเพิ่มแรงกดดันชาติสมาชิกเร่งเดินหน้าปฏิรูปศก. หลังศก.ยุโรปโดยรวมยังถดถอย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารสูงสุดของสหภาพยุโรป (อียู) เตรียมเพิ่มแรงกดดันต่อประเทศสมาชิกหลายประเทศ รวมถึง ฝรั่งเศส ให้เร่งเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการเติบโตและสร้างงาน หลังยุโรปยังคงไม่หลุดพ้นจากเมฆหมอกแห่งความถดถอยทางเศรษฐกิจ

คณะกรรมาธิการยุโรปเตรียมออกข้อแนะนำทางเศรษฐกิจสำหรับชาติสมาชิกฉบับล่าสุดในวันพุธ (29) ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงประเทศภาคีที่ยังคงตกอยู่ใต้แผนการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจอย่าง กรีซ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ โปรตุเกส และไซปรัส

แหล่งข่าวด้านการทูตในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมระบุว่าคณะกรรมธิการยุโรปเตรียมเพิ่มแรงกดดันต่อประเทศสมาชิกหลายประเทศ รวมถึงฝรั่งเศสและสเปน ให้เร่งเดินหน้ากระบวนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ โดยในกรณีของฝรั่งเศสนั้นยังต้องเร่งเปิดเสรีด้านตลาดแรงงานและปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญอย่างเร่งด่วนอีกด้วย แม้ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ โอลลองด์ ผู้นำฝรั่งเศสจะเคยให้คำมั่นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาระหว่างเยือนกรุงบรัสเซลส์ว่า จะเร่งผลักดันการปฏิรูปภายในประเทศให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ความเคลื่อนไหวของคณะกรรมาธิการยุโรปในการเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลเมืองน้ำหอม มีขึ้นหลังจากที่เศรษฐกิจของฝรั่งเศสซึ่งได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของกลุ่มยูโรโซน หรือกลุ่ม 17 ประเทศที่ใช้เงินยูโรเป็นเงินตราสกุลหลัก มีอันต้องก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอย จนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของกลุ่มยูโรโซนโดยรวม

ขณะที่สโลเวเนีย ซึ่งก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของยูโรโซนตั้งแต่ ค.ศ. 2007 และกำลังประสบวิกฤตจากปัญหาเสถียรภาพของภาคธนาคาร และประสบภาวะไม่สมดุลด้านงบประมาณอย่างเลวร้ายได้รับการคาดหมายว่า จะเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากคณะกรรมาธิการยุโรป เช่นเดียวกับอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และเบลเยียมที่ต่างกำลังประสบปัญหาในการตัดลดการขาดดุลไม่ให้สูงเกินกว่าข้อกำหนดของยูโรโซนที่ปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เช่นกัน

ทั้งนี้ บรรดาผู้นำ 27 ชาติที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมสุดยอด“อียู ซัมมิต” ระหว่างวันที่ 27-28 มิถุนายนนี้ที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม โดยหลายฝ่ายคาดว่า ประเด็นเรื่องภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ความล้มเหลวของการบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัด และวิกฤตของกลุ่มยูโรโซนจะกลายเป็นหัวข้อหลักในการหารือของเหล่าผู้นำ
กำลังโหลดความคิดเห็น