xs
xsm
sm
md
lg

“แมร์เคิล” นายกฯหญิงเมืองเบียร์ ยอมรับ ยุโรปต้องมีทั้ง “การเติบโต-สร้างวินัยใช้จ่าย” ชี้ “รัดเข็มขัด” อย่างเดียวไม่พอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อังเกลา แมร์เคิล
เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กแห่งเยอรมนี ยอมรับเป็นครั้งแรกว่า ยุโรปจำเป็นต้องหาหนทางสร้างการเติบโต ควบคู่ไปกับการสร้างวินัยทางการคลัง พร้อมปฏิเสธว่า ที่ผ่านมาเธอไม่ได้ให้ความสำคัญที่มากเกินพอดีกับการบังคับใช้มาตรการ “รัดเข็มขัด” สุดเข้มงวดกับหลายประเทศในกลุ่มยูโรโซน

นางแมร์เคิล วัย 58 ปี ซึ่งก้าวขึ้นครองอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี ของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซนมาตั้งแต่ปี 2005 เผยเมื่อวันจันทร์ (22) ที่กรุงเบอร์ลิน ระหว่างขึ้นเวทีกล่าวสุนทรพจน์ร่วมกับนายกรัฐมนตรีโดนัลด์ ทุสก์แห่งโปแลนด์ โดยระบุ ประเทศในกลุ่มยูโรโซน หรือกลุ่ม 17 ประเทศ ที่ใช้เงินยูโรเป็นเงินตราสกุลหลัก จำเป็นต้องสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างวินัยในการใช้จ่าย เพื่อป้องกันมิให้ต้องประสบกับภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวและการขาดดุลงบประมาณอีกในอนาคต

นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี ยืนยันว่า ในช่วงที่ผ่านมา เธอมิได้ให้ความสำคัญที่มากเกินไปต่อการบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจที่มีความเข้มงวดต่อบรรดาประเทศที่ประสบปัญหาในยูโรโซนอย่างกรีซ สเปน และโปรตุเกส อย่างไรก็ดี นางแมร์เคิลยอมรับว่า การใช้มาตรการรัดเข็มขัดมีผลกระทบต่อผู้คนเป็นวงกว้าง แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น

ผู้นำรัฐบาลเยอรมนียังระบุด้วยว่า ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่กลุ่มประเทศในยูโรโซน จะต้องยอมสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางการเงินของตนให้กับองค์กรกลางของยุโรปที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น เพื่อเปิดทางให้มีการควบคุมการดำเนินนโยบายทางการเงินการคลังที่มีประสิทธิภาพและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แทนการดำเนินนโยบายแบบ “ต่างคนต่างทำ” ดังเช่นที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ยูโรโซนประสบกับวิกฤตครั้งเลวร้าย

ท่าทีล่าสุดของนางแมร์เคิลมีขึ้นราว 2 เดือน ก่อนที่บรรดาผู้นำของชาติต่างๆ ในยุโรปจะพบหารือกันที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรในลักษณะ “สหภาพทางการคลัง” ขึ้นใหม่เพื่อกำกับดูแลนโยบายที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิก

ในอีกด้านหนึ่ง โชเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในด้านการบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) ออกมาเรียกร้องให้มีการ “จำกัดขอบเขต” ของการบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัด และขอให้มีการผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการดังกล่าวลง

ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นชาวโปรตุเกส ระบุ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนในยุโรปและก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมลุกลามเป็นวงกว้าง ขณะเดียวกันบรรดาประเทศที่ประสบปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวและมีการขาดดุลงบประมาณอย่างร้ายแรงนั้น ส่วนใหญ่ต้องประสบกับความยากลำบากในการตัดลดการใช้จ่ายภายในกรอบเวลาตามเงื่อนไขที่ประเทศเจ้าหนี้เป็นผู้กำหนด

“เห็นได้ชัดว่าการบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัดอย่างพร่ำเพรื่อของยุโรปตลอดหลายปีที่ผ่านมานั้น มีข้อจำกัด และผมเชื่อว่านโยบายหรือมาตรการใดๆ จะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อมันสามารถนำมาแก้ปัญหาอย่างได้ผล และยังต้องได้รับการสนับสนุนทั้งทางการเมืองและทางสังคมด้วย” บาร์โรโซกล่าว



โชเซ มานูเอล บาร์โรโซ
กำลังโหลดความคิดเห็น