เอเจนซีส์ - พลเมืองจีนเกือบร้อยละ 50 ประกาศตนเป็นผู้ไม่นับถือพระเจ้า ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงยิ่งกว่าประเทศใดๆ ในโลก ผลสำรวจล่าสุดเผย
ประชากรราว 47% ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินจีนยอมรับว่า ตนเองเป็นพวก “อเทวนิยม” หรือไม่เชื่อในพระเจ้า (atheists) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 13% ทั่วโลก
ผลสำรวจโดยสถาบัน วิน/แกลลัป อินเตอร์เนชันแนล ประจำปี 2012 สรุปจากการสอบถามความคิดเห็นประชาชนกว่า 50,000 คนใน 40 ประเทศ โดยมีคำตอบให้เลือกว่า พวกเขามองตนเองเป็น “ผู้เคร่งครัดในศาสนา”, “ผู้ไม่มีศาสนา” หรือ “ผู้ไม่เชื่อในพระเจ้า”
ผลที่ออกมาดูจะไม่น่าประหลาดใจ เพราะรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งก่อตั้งในปี 1949 ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่เชื่อถือในพระเจ้า และวัดวาอารามต่างๆ ของจีนก็ถูกทำลายจนหมดสิ้นในช่วงของการปฏิวัติวัฒนธรรมระหว่างปี 1967-1977
หลังจากนั้นรัฐบาลจีนเริ่มผ่อนคลายนโยบายด้านความเชื่อ โดยรับรอง “เสรีภาพในการนับถือศาสนา” แก่ประชาชนชนจีนไว้ในมาตราที่ 36 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 1978 และตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาก็เริ่มเกิดโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานของพุทธและเต๋า
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลปักกิ่งแสดงออกถึงการอุปถัมภ์ศาสนาพุทธและเต๋าอย่างเด่นชัด โดยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชาวพุทธโลกเมื่อปี 2006 และการประชุมนานาชาติว่าด้วยลัทธิเต๋าในปี 2007 ทั้งนี้ก็เนื่องจากรัฐบาลจีนเล็งเห็นว่า ทั้งสองศาสนาเป็นองค์ประกอบสำคัญในวัฒนธรรมจีน
ปัจจุบันรัฐบาลจีนให้การรับรองศาสนาทั้ง 5 ได้แก่ พุทธ, เต๋า, อิสลาม, คริสต์นิกายคาทอลิก และคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์
ญี่ปุ่นมีผู้ไม่นับถือพระเจ้าอยู่ร้อยละ 31 แต่ที่น่าสังเกตก็คือ ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นรัฐอิสลาม ยังมีประชากรถึงร้อยละ 5 ที่ยอมรับว่าตนเองไม่ศรัทธาในพระเจ้า ทั้งที่แนวคิดดังกล่าวถือเป็นอาชญากรรมในประเทศ และเป็นสถิติสูงยิ่งกว่าในอิรักและอัฟกานิสถานซึ่งมีพวกอเทวนิยมอยู่เพียงร้อยละ 1
ความศรัทธาในพระเจ้ายังคงเข้มข้นในอิตาลีซึ่งถือเป็นบ้านของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก โดยชาวเมืองมะกะโรนี 3 ใน 4 ของประเทศประกาศตนเป็นผู้เคร่งครัดในศาสนา
ผลสำรวจของ วิน/แกลลัป ยังพบว่า ความศรัทธาในศาสนาจะเข้มแข็งเป็นพิเศษในหมู่คนยากจนและผู้ที่ได้รับการศึกษาน้อย ดังจะเห็นได้จากพลเมืองในกานา, ไนจีเรีย, อาร์เมเนีย และฟิจิ ซึ่ง 9 ใน 10 ระบุว่าตนเองเป็นเคร่งครัดในศาสนา