เอเอฟพี - อดีตนายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ ประกาศชัยชนะในศึกเลือกตั้งครั้งสำคัญของปากีสถาน วันนี้(12) หลังผลการนับคะแนนกว่าร้อยละ 60 ปรากฎว่าพรรคของเขาได้คะแนนนำท่วมท้น ทว่า ชารีฟ ยังจะต้องเผชิญศึกหนักในการจัดตั้งรัฐบาลผสม และรับมือกับปัญหาสำคัญของประเทศ
ผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการกว่าครึ่งเริ่มเผยให้เห็นถึงการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เคยสูญเสียอำนาจจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 1999 หลังชาวปากีสถานผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งราว 86 ล้านคนออกมาใช้สิทธิ์มากถึงร้อยละ 60 ขณะที่กลุ่มตอลิบานก็ลงมือโจมตีเพื่อขัดขวางการเลือกตั้ง จนมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 24 ราย
คู่แข่งสำคัญอย่างพรรค เตห์รีก-เอ-อินซาฟ (พีทีไอ) ของ อิมรอน ข่าน อดีตนักคริกเก็ตชื่อดังผู้ผันตัวสู่วงการเมือง ออกมายอมรับความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งระดับชาติแล้ว แต่ยืนยันจะจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นในจังหวัดทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ
ตามข้อมูลจากสถานีโทรทัศน์เอกชน จีโอ พรรคพรรคสันนิบาตมุสลิม-เอ็น (พีแอลเอ็ม-เอ็น) ของ ชารีฟ มีคะแนนนำอยู่เป็นอันดับหนึ่ง 126 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคพีทีไอ 34 ที่นั่ง ส่วนฝ่ายรัฐบาลอย่างพรรคประชาชนปากีสถาน (พีพีพี) ดูเหมือนจะพ่ายอย่างหมดรูป จากเดิมที่เคยครองที่นั่งในสภาถึง 125 ที่นั่ง กลับมาได้คะแนนพอๆกับพรรคของ ข่าน เพียง 32 ที่นั่งเท่านั้น
การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวานนี้(11) ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์สำหรับการเมืองปากีสถาน เมื่อรัฐบาลพลเรือนสามารถอยู่จนครบวาระ และส่งต่ออำนาจปกครองให้แก่รัฐบาลชุดใหม่ที่ได้จากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย หลังจากปากีสถานเคยผ่านการรัฐประหารมา3 ครั้ง และตกอยู่ใต้ผู้นำเผด็จการทหารถึง 4 คน
ชารีฟ ประกาศชัยชนะต่อผู้สนับสนุนหลายร้อยคนบริเวณที่ทำการพรรคสันนิบาตมุสลิม-เอ็น (พีแอลเอ็ม-เอ็น) ในเมืองลาฮอร์ โดยมี ชาห์บาซ ผู้เป็นพี่ชาย และ มัรยัม บุตรสาว ยืนอยู่เคียงข้าง
“เราควรขอบคุณพระเจ้าที่ประทานโอกาสให้พรรค พีเอ็มแอล-เอ็น กลับมารับใช้พี่น้องชาวปากีสถานอีกครั้งหนึ่ง... ผมขอวิงวอนให้ทุกพรรคการเมืองเข้ามาร่วมพูดคุยกับผม และช่วยกันแก้ไขปัญหาของชาติ” ชารีฟ กล่าว
อัสซาด โอมาร์ แกนนำคนสำคัญของ พีทีไอ ส่งสารแสดงความยินดีไปยังอดีตนายกฯ ชารีฟ แล้ว ส่วน ข่าน ซึ่งยังนอนพักอยู่ที่โรงพยาบาลเนื่องจากตกเวทีหาเสียงจนกระดูกสันหลังร้าว จะมีถ้อยแถลงออกมาภายหลังในวันนี้(12)
ขณะที่การนับคะแนนยังเป็นไปอย่างล่าช้า ผลการนับคะแนนเบื้องต้นซึ่งถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์ก็บ่งชี้ว่า คงไม่มีพรรคใดชนะขาดได้ที่นั่งในสภาเกิน 172 จากทั้งหมด 342 ที่นั่ง และเป็นไปได้ที่จะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลผสม
อิมเตียซ กุล นักวิเคราะห์การเมือง ให้ความเห็นว่า เมื่อมองจากสัดส่วนคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับ น่าจะเกิดภาวะชะงักงันหรือที่เรียกว่า “สภาแขวน” (hung parliament) ซึ่ง พีแอลเอ็ม-เอ็น จะต้องหาทางจับขั้วกับ ส.ส.จากพรรครัฐบาลเดิมซึ่งเคยเป็นศัตรูกันมาก่อนให้ได้