เอเอฟพี - ทางการสวิตเซอร์แลนด์ปฏิเสธที่จะรื้อฟื้นคดีทุจริตของประธานาธิบดี อาซิฟ อาลี ซาร์ดารี แห่งปากีสถาน โดยอ้างความคุ้มกัน (immunity) ที่ ซาร์ดารี ได้รับในฐานะประมุขรัฐ กระทรวงกฎหมายปากีสถานแถลง วันนี้(10)
เดือนตุลาคมปีที่แล้ว รัฐบาลปากีสถานได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังทางการสวิสให้นำคดีฟอกเงินของ ซาร์ดารี ที่เกิดในช่วงทศวรรษ 1990 ขึ้นพิจารณาใหม่ ตามข้อเรียกร้องของศาลสูงสุดปากีสถาน
ซาร์ดารี และ เบนาซีร์ บุตโต ภริยาผู้ล่วงลับของเขาซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งปากีสถาน ถูกกล่าวหาว่าใช้บัญชีธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์ฟอกเงินสินบนมูลค่าราว 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ยัสมิน อับบาซี เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ว่า ทางการสวิตเซอร์แลนด์ตอบกลับมาว่าไม่สามารถรื้อคดีดังกล่าว ซึ่งถูกแช่แข็งไว้ตั้งแต่ ซาร์ดารี ก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อปี 2008
“พวกเขาตอบจดหมายกลับมา พร้อมอธิบายว่า ประธานาธิบดีได้รับความคุ้มกันจากการถูกดำเนินคดี”
“นี่คือเหตุผลสำคัญ และพวกเขาก็ยืนยันกับเราว่า ประธานาธิบดีมีสิทธิ์ได้รับความคุ้มกัน”
ศาลสูงสุดปากีสถานใช้เวลาร่วม 3 ปีกดดันให้รัฐบาลพรรคประชาชนปากีสถาน (พีพีพี) ติดต่อไปยังทางการสวิตเซอร์แลนด์เพื่อรื้อคดีทุจริตของประธานาธิบดี ซึ่งสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องยอมทำตาม
ปีที่แล้ว อดีตนายกรัฐมนตรี ยูซุฟ ราซา กิลานี ต้องพ้นจากตำแหน่ง หลังถูกศาลสูงสุดตัดสินให้มีความผิดฐานหมิ่นศาล เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้ส่งคำร้องไปยังทางการสวิตเซอร์แลนด์เพื่อรื้อฟื้นคดีทุจริตของ ซาร์ดารี
นักวิจารณ์บางคนชี้ว่า การที่ศาลสูงสุดปากีสถานไม่หยุดติดตามคดีฟอกเงินของ ซาร์ดารี ถือเป็นความพยายามล้มล้างรัฐบาลผสมพรรคพีพีพี และเป็นเหตุให้การเมืองปากีสถานขาดสเถียรภาพ
หลัง กิลานี ถูกถอดจากเก้าอี้นายกฯก็เกิดความหวั่นเกรงกันว่า นายกรัฐมนตรี ราจา เปอร์เวซ อัชรอฟ อาจไม่พ้นชะตากรรมเดียวกัน และรัฐบาลชุดปัจจุบันอาจมีอันล่มไปก่อนจะทำงานครบ 5 ปีในเดือนมีนาคมนี้
เมื่อเดือนมีนาคมปี 2010 อัยการในสวิตเซอร์แลนด์เคยออกมาแถลงแล้วครั้งหนึ่งว่า การรื้อคดีทุจริตของ ซาร์ดารี ไม่สามารถกระทำได้ในขณะที่เขายังเป็นประธานาธิบดี
ปากีสถานจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งหากพรรคพีพีพีแพ้เลือกตั้งคราวนี้ ซาร์ดารี ก็อาจหลุดจากตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งจะทำให้ความคุ้มกันจากการถูกฟ้องร้องหมดไปด้วย