เอเอฟพี - ตำรวจบังกลาเทศปะทะกับผู้ประท้วงหลายหมื่นคนที่เป็นพวกมุสลิมแนวคิดแข็งกร้าว ซึ่งต้องการให้รัฐบาลออกกฎหมายลงโทษผู้ดูหมิ่นศาสนาอิสลาม ผลคือมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 36 รายจากการต่อสู้กันตามท้องถนนสายต่างๆ ในเมืองหลวงธากาและเมืองอื่นๆ และตำรวจสั่งห้ามการชุมนุมและพกพาอาวุธปืนตลอดวันจันทร์ (6) รวมทั้งสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ของพวกอิสลามิสต์ เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ลุกลาม
การปะทะกันคราวนี้ ซึ่งปะทุขึ้นตั้งแต่วันอาทิตย์ (5) มีบางจุดถือว่ามีความรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในกรุงธากานับแต่บังกลาเทศประกาศเอกราชเมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว และทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายร้อยคน ต่อมาในตอนก่อนเช้ามืดวันจันทร์ ตำรวจปราบจลาจลก็ได้ยกกำลังบุกเข้าสลายการชุมนุมประท้วงของพวกมุสลิมแนวคิดแข็งกร้าวเหล่านี้ ที่บริเวณใกล้ๆ กับย่านโมทิจฮีล อันเป็นย่านธุรกิจสำคัญ
นอกจากนั้นยังมีผู้ชุมนุมเดินขบวนถูกจับกุมตัวหลายสิบคน ขณะที่ผู้นำของการประท้วงคราวนี้ได้ถูกนำตัวขึ้นเครื่องบินเดินทางไปยังเมืองจิตตะกอง ที่เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ
ก่อนหน้านั้น พวกพนักงานธนาคาร บริษัทประกันภัย และเทรดเดอร์หุ้นหลายร้อยคนต้องตัดสินใจนอนค้างในสำนักงาน ขณะที่เสียงปืนดังกึกก้องรอบๆ ย่านโมทิจฮีลตลอดคืนวันอาทิตย์ (5)
ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ร้านค้าและยวดยานจำนวนมากถูกเผา ต้นไม้ถูกโค่น และก้อนหินเกลื่อนกลาดบนถนน
มาซูดูร์ เราะห์มาน โฆษกสำนักงานตำรวจธากาเปิดเผยว่า ตำรวจใช้ระเบิดขว้างแบบมีแต่เสียงดัง หัวฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา และกระสุนยางเพื่อสลายผู้ประท้วงพวกอิสลามิสต์อย่างน้อย 70,000 คนที่ไปตั้งแคมป์กันที่โมทิจฮีล เพื่อกดดันให้รัฐบาลออกกฎหมายปกป้องศาสนาอิสลาม
“เราถูกบีบให้ต้องดำเนินการหลังจากมีการรวมตัวกันโดยผิดกฎหมายที่โมทิจฮัล และผู้ชุมนุมยังใช้ก้อนอิฐ ก้อนหิน ท่อนไม้ และไม้ไผ่ทำร้ายตำรวจ” เราะห์มานกล่าวและเสริมว่า ผู้ประท้วงสลายตัวไปในช่วงเช้าวันจันทร์
ทางด้าน โมซัมเมล ฮัก ผู้กำกับการตำรวจผู้หนึ่งในโรงพยาบาลวิทยาลัยแพทยศาสตร์ธากา ระบุว่า มีผู้นำศพทั้งหมด 11 ศพมายังโรงพยาบาลแห่งนี้ ในจำนวนนี้เป็นตำรวจ 1 รายซึ่งมีบาดแผลถูกมีดยาวฟันที่ศีรษะ
เวลาเดียวกันก็มีรายงานการพบศพในที่อื่นๆ อีก 25 ศพ ทั้งนี้ตามการรวบรวมของเอเอฟพีจากรายงานของตำรวจและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ต่างๆ
ในจำนวนนี้รวมถึงผู้ที่เสียชีวิตในเขตคันช์ปูร์ ที่อยู่ทางชานเมืองด้านตะวันออกเฉียงใต้ของธากา ซึ่งแหล่งข่าวหลายรายเผยว่า กลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามิสต์กว่า 5,000 คน ได้ปะทะกับตำรวจและกองกำลังรักษาชายแดน ทำให้ฝ่ายกองกำลังความมั่นคงเหล่านี้ต้องตอบโต้ด้วยกระสุนจริง โดยมีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายรวมอย่างน้อย 8 ราย
ความรุนแรงยังปะทุขึ้นที่เมืองฮาธาซารี เมืองเล็กๆ นอกนครจิตตะกอง ซึ่ง ลีอากอต อาลี ผู้บังคับการตำรวจของที่นั่นระบุว่า มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 4 ราย ภายหลังพวกอิสลามิสต์หลายพันคนปะทะกับตำรวจและกองกำลังรักษาชายแดน
ไม่เพียงเท่านั้น โฆษกตำรวจ ชาห์ อาลาม บอกว่า มีผู้ถูกสังหารไปอย่างน้อย 2 คนในเขตบาเกอร์ฮัต ซึ่งอยู่ติดชายฝั่งทะเลทางด้านใต้ของประเทศ จากการยิงต่อสู้กันระหว่างตำรวจกับพวกอิสลามิสต์
ในเวลาเดียวกัน สถานีโทรทัศน์ 2 แห่งของฝ่ายนิยมอิสลามิสต์ อันได้แก่ ดิกันตา เทเลวิชั่น และ อิสลามิก ทีวี ซึ่งออกอากาศภาพเหตุการณ์ปะทะกันที่โมทิจฮีล ได้ถูกบังคับให้ยุติการออกอากาศแล้ว โดยพวกนักข่าวของสถานีทั้งสองบอกว่า มีตำรวจนอกเครื่องแบบหลายสิบคนบุกเข้าไปในที่ทำงานของพวกเขา
ทั้งนี้ เหตุการณ์รุนแรงคราวนี้ระเบิดขึ้นตอนช่วงบ่ายวันอาทิตย์ หลังจากนักเคลื่อนไหวของกลุ่มอิสลามิสต์ เฮฟาจัต-อี-อิสลาม นำชาวมุสลิมหลายหมื่นคนที่เรียกร้องให้มีการออกกฎหมายปกป้องศาสนาอิสลาม ไปปิดทางหลวงอย่างน้อย 6 สายระหว่างธากากับเมืองอื่นๆ และเกิดปะทะกับตำรวจ
อัลลามา ชาห์ อาหมัด ชาฟี ผู้นำของเฮฟาจัต-อี-อิสลาม ซึ่งว่ากันว่ามีอายุประมาณ 90 ปี เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการระดมชาวอิสลามิสต์ให้มาชุมนุมประท้วงกันในคราวนี้ และในวันจันทร์ตำรวจได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้เขาออกมาจากโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามของเขาในกรุงธากา และนำตัวขึ้นเครื่องบินไปยังเมืองจิตตะกอง โดยที่ตำรวจพยายามบอกว่า ผู้นำอิสลามิสต์ผู้นี้สมัครใจออกไปเองโดยมิได้ถูกจับกุม
ในส่วนของนายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา ได้ยืนกรานเรื่อยมาว่า จะไม่ยอมตามเสียงเรียกร้องของกลุ่มหัวรุนแรง ซึ่งโกรธแค้นกลุ่มบล็อกเกอร์ที่พวกเขากล่าวหาว่า เขียนข้อความที่ประณามศาสดามุฮัมมัด
ตำรวจเผยว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งมีผู้ประท้วงเข้ามาสมทบกันเนืองแน่นถึง 200,000 คน ก่อนที่จะค่อยๆ ลดจำนวนลงในตอนดึกเมื่อเวลาย่างเข้าสู่วันจันทร์
ทางด้านเมาลานา มูอิน รูฮี โฆษกกลุ่มเฮฟาจัต-เอ-อิสลาม บอกว่า ยอดผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์รุนแรงทั่วเมืองธากาคราวนี้น่าจะมากกว่าที่ตำรวจรายงานไว้ เนื่องจากตำรวจใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ประท้วง แต่ไม่ได้ให้ตัวเลขที่แน่นอน
เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงลุกลาม วันจันทร์ ตำรวจธากาประกาศห้ามการประท้วง เดินขบวน และชุมนุม ตลอดจนถึงการพกพาอาวุธปืนจนถึงเวลาเที่ยงคืน
บังกลาเทศซึ่งมีประชากรมุสลิมถึง 90% แต่รัฐบาลได้ประกาศตนเป็นรัฐที่แยกห่างจากความเชื่อทางศาสนานั้น ได้เกิดเหตุการณ์รุนแรงระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามนับตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ เมื่อฝ่ายตุลาการเริ่มรื้อฟื้นคดีเพื่อพิจารณาลงโทษผู้กระทำความผิดฐานเป็นอาชญากรสงคราม ในระหว่างการสู้รบแบ่งแยกบังกลาเทศออกจากปากีสถานเพื่อประกาศตนเป็นประเทศเอกราชในปี 1971 โดยปรากฏว่าจนถึงขณะนี้ มีผู้นำอิสลามิสต์ 3 คนถูกตัดสินว่ากระทำความผิดจากบทบาทของพวกเขาในเหตุการณ์สังหารหมู่ในสมัยนั้น
สำหรับผู้เสียชีวิตจากการปะทะกันระหว่างตำรวจกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงนับจากต้นปีจนถึงขณะนี้ มีจำนวนมากกว่า 140 รายแล้ว