เอเอฟพี - นกนับล้านตัวที่หยุดพักตามพื้นที่ลุ่มน้ำตามชายฝั่งทะเลของออสเตรเลียตลอดช่วงอพยพประจำปีอาจตายเพราะระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการใช้ประโยชน์จากดินเพื่อการเพาะปลูก ซึ่งเป็นการทำลายแหล่งอาหารของนกอพยพข้ามทวีป ทั้งนี้ เป็นการเตือนของนักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม
การศึกษาถึงนิสัยการโยกย้ายถิ่นของนกชายฝั่งที่มีการเผยแพร่ล่าสุดคาดการณ์ว่าการสูญเสียพื้นที่ประมาณ 23-40 เปอร์เซ็นต์ของแหล่งอาหารหลัก มีผลทำให้จำนวนประชากรนกอพยพลดลงไป 70 เปอร์เซ็นต์ และการศึกษาโดยกลุ่มนักวิทยาสาสตร์จากโครงการวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย บ่งชี้ว่า ในพื้นที่บางแห่งจำนวนของนกอพยพอาจลดลงถึง 80 เปอร์เซ็นต์
นักวิจัยได้ลงพื้นที่ศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำตามเส้นทางการบินอพยพของนกหลายสายพันธุ์จากมลรัฐอะแลสกาในสหรัฐฯ เรื่อยไปจนถึง รัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปินส์ เวียดนาม ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ ซึ่งในหลายจุดก็พบข้อมูลว่า การพัฒนาพื้นที่ตามชายฝั่งอย่างรวดเร็ว และการเตรียมดินเพื่อการเพาะปลูก กลายเป็นปัจจัยคุกคามแหล่งอาหารของนกที่บินอพยพข้ามทวีปมาหยุดพัก
ขณะที่บรรดาสายพันธุ์ของนกชายฝั่งอพยพข้ามทวีปที่ตกอยู่ในอันตรายรวมถึงนกปากแอ่นหางลาย นกชายเลนปากโค้ง นกนอตใหญ่ นกตีนเหลือง นกหัวโตทรายเล็ก นกนอตเล็ก จากการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ “Proceedings of the Royal Society”
นักวิทยาศาสตร์ยังพบต่อไปว่าถึงแม้พื้นที่อาศัยลุ่มน้ำตามชายฝั่งของนกจะยังถูกคุกคามไม่มากนัก แต่มันถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนภัย อาจส่งผลทำให้จำนวนประชากรของนกชายฝั่งลดลงอย่างมากในอนาคตอันใกล้