xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: “พระราชาธิบดี วิลเลม-อเล็กซานเดอร์” กษัตริย์ดัตช์พระองค์แรกในรอบศตวรรษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระราชธิบดี วิลเลม-อเล็กซานเดอร์ และพระราชินีแม็กซิมา แห่งเนเธอร์แลนด์
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - นับเป็นความปลาบปลื้มในหัวใจพสกนิกรชาวเนเธอร์แลนด์อย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อมกุฎราชกุมาร วิลเลม-อเล็กซานเดอร์ หรือ “เจ้าชายแห่งออเรนจ์” เสด็จฯ ขึ้นครองราชย์สมบัติต่อจากพระมารดา สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ ทำให้ดินแดนแห่งสีส้มได้มีประมุขที่เป็นบุรุษพระองค์แรกในรอบ 123 ปี

สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีพระชนมายุ 75 พรรษา ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติแก่พระราชโอรสองค์โต เช่นเดียวกับที่สมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนาทรงกระทำเมื่อ 33 ปีก่อน การเปลี่ยนรัชกาลในปีนี้ยังมีความหมายพิเศษสำหรับชาวดัตช์ เนื่องจากเป็นปีที่ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์สถาปนาครบ 200 ปี อีกทั้งสมเด็จพระราชาธิบดี วิลเลม-อเล็กซานเดอร์ และพระราชินีแม็กซิมา ยังทรงเป็นกษัตริย์และราชินีที่พระชนมายุอ่อนเยาว์ที่สุดในหมู่ราชวงศ์ยุโรปปัจจุบันด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากสิ้นรัชสมัยของพระองค์แล้ว เนเธอร์แลนด์จะกลับไปมีประมุขเป็น “ควีน” อีกครั้ง เนื่องจากสมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีพระราชธิดาถึง 3 พระองค์ด้วยกัน ได้แก่ เจ้าหญิงคาธารินา-อามาเลีย พระชันษา 9 ปี ซึ่งขณะนี้ทรงมีสถานะเป็น “เจ้าหญิงแห่งออเรนจ์” แทนที่สมเด็จพระบิดา, เจ้าหญิง อเล็กเซีย ชันษา 7 ปี และเจ้าหญิงเอเรียน ชันษา 5 ปี

วันที่ 30 เมษายน ถือเป็นวันพิเศษสำหรับชาวเนเธอร์แลนด์ เพราะเป็นวันเถลิงถวัลยราชสมบัติของประมุขถึง 2 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระราชาธิบดี วิลเลม-อเล็กซานเดอร์ และอดีตสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ ซึ่งทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระราชมารดาของพระองค์ในวันนี้เมื่อ 33 ปีก่อน วันที่ 30 เมษายนยังถือเป็น “วันราชินี” เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพในสมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนาด้วย

สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งเนเธอร์แลนด์ทรงประกอบพิธีสาบานตนแทนการสวมมงกุฎ ณ มหาวิหาร Nieuwe Kerk ซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึง 600 ปี โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาร่วมเป็นสักขีพยาน และนอกจากพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์ออเรนจ์แล้ว ยังมีพระราชวงศ์ชั้นสูงจากต่างแดนอีกราว 20 ประเทศที่เสด็จฯไปร่วมในพระราชพิธีสืบสันตติวงศ์ด้วย อาทิ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส มกุฎราชกุมารแห่งสหราชอาณาจักร และดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์, เจ้าชายฟิลิเปแห่งสเปน, เจ้าชายโฮกุน มกุฎราชกุมารแห่งนอร์เวย์ และเจ้าหญิงเมตเต-มาริต พระชายา รวมถึงเจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฏราชกุมารแห่งญี่ปุ่น และเจ้าหญิงมาซาโกะ พระชายา ซึ่งเสด็จฯเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 7 ปี

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงร่วมพระราชพิธีสืบสันตติวงศ์ ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม

มร.โยฮัน บัว เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เอ่ยถึงพระราชพิธีสืบราชสมบัติในปีนี้ว่า รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เลือกใช้คำในภาษาอังกฤษว่า inauguration หรือ “พิธีเปิดตัว” แทนที่จะใช้คำว่า coronation ซึ่งหมายถึงการขึ้นครองราชสมบัติ เนื่องจากต้องการสะท้อนมุมมองของชาวดัตช์ที่เน้นความสัมพันธ์แนวราบระหว่างกษัตริย์และประชาชน ซึ่งอยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน และต่างมีพันธกรณีซึ่งกันและกัน

ฯพณฯ ท่าน โยฮัน บัว กล่าวด้วยว่า สิ่งที่สะท้อนถึงพระวิสัยทัศน์อันทันสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ก็คือ การที่ทรงเลือกสละราชสมบัติในช่วงเวลาอันเหมาะสมที่สุด และแม้หลังจากนี้พระองค์จะทรงกลับไปมีสถานะเป็น “เจ้าหญิงเบียทริกซ์” พระราชมารดาในกษัตริย์พระองค์ใหม่ แต่ประชาชนชาวเนเธอร์แลนด์ก็จะยังจดจำพระองค์ท่านในฐานะอดีตพระราชินีผู้ทรงเป็น “ที่ปรึกษา” ของชาติ ผู้ทรงวางรากฐานการพัฒนาอันมีคุณูปการต่อสังคมดัตช์อย่างมากมาย
สมเด็จพระราชาธิบดีทรงจุมพิตและสวมกอดอดีตสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ พระราชมารดา
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยังจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ โดยเชิญชวนให้ชาวดัตช์ผลิตผลงานศิลปะที่สะท้อนความทรงจำเกี่ยวกับรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งก็ปรากฎว่ามีผู้ให้ความสนใจส่งผลงานเข้าประกวดอย่างล้นหลาม โดยทางรัฐบาลได้คัดเลือกงานศิลปะที่สวยงามที่สุด 75 ชิ้นนำไปจัดแสดงในนิทรรศการ “ภาพความทรงจำของพระราชินีเบียทริกซ์” ณ พระราชวังเฮทลู ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถได้ทรงเสด็จฯไปเปิดนิทรรศการดังกล่าวด้วยพระองค์เอง

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยซึ่งสมควรได้รับการบันทึกไว้ก็คือ บริษัท ฟาเบอร์แฟรก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่มีสำนักงานในประเทศไทย ได้รับเกียรติให้เป็นผู้ออกแบบธงสัญลักษณ์ในพระราชพิธีสืบสันตติวงศ์ โดยมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์และสมเด็จพระราชาธิบดี วิลเลม-อเล็กซานเดอร์บนพื้นสีธงชาติเนเธอร์แลนด์ ซึ่งธงดังกล่าวจะถูกส่งไปยังสถานทูตเนเธอร์แลนด์ทั่วโลก เพื่อประดับตบแต่งเนื่องในวโรกาสมหามงคลนี้

พระราชาธิบดีในศตวรรษที่ 21

สมเด็จพระราชาธิบดี วิลเลม-อเล็กซานเดอร์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ และเจ้าชายเคลาส์ วอน แอมสเบิร์ก แห่งเนเธอร์แลนด์ ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 27 เมษายน ปี 1967 และได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารแห่งเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน ปี 1980

อดีตมกุฎราชกุมารทรงศึกษาวิชาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเลย์เดน (Leiden University) จากนั้นทรงรับราชการในกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์ ทรงสนพระราชหฤทัยด้านการกีฬา และการบริหารจัดการน้ำเป็นพิเศษ

ในปี 1998 รัฐสภาเนเธอร์แลนด์มีมติเห็นชอบให้มกุฎราชกุมาร วิลเลม-อเล็กซานเดอร์ ทรงเข้าเป็นสมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และทรงได้รับการถวายตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาของสหประชาชาติว่าด้วยน้ำและการสุขาภิบาล ระหว่างปี 2006 ถึงปัจจุบัน

ก่อนถึงพระราชพิธีสืบสันตติวงศ์เพียงไม่กี่สัปดาห์ อดีตมกุฎราชกุมารแห่งเนเธอร์แลนด์ได้พระราชทานสัมภาษณ์สื่อในประเทศว่า ทรงมีพระประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะสืบทอดสถาบันกษัตริย์อันยืนยงมานานถึง 200 ปี แต่ขณะเดียวกันก็จะทรงเป็นกษัตริย์ในศตวรรษที่ 21 ที่ประชาชนสามารถ “เข้าถึงได้”

“ประการแรก ข้าพเจ้าจะเป็นพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณี จะสืบทอดธรรมเนียมของบูรพกษัตริย์ซึ่งทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความต่อเนื่อง และเสถียรภาพของชาติ”

อีกหนึ่งพระราชดำรัสที่ยังคงประทับอยู่ในใจชาวเนเธอร์แลนด์ก็คือ “เราต่างเป็นมนุษย์ปุถุชน และปุถุชนย่อมผิดพลาดกันได้”

“หากท่านทำสิ่งใดผิดพลาดไปแล้ว ก็ควรเรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านั้น และป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีก”

เจ้าชายทรงเน้นว่า กษัตริย์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของปวงชน และทรงพร้อมที่จะรับบทบาทใดๆ ก็ตามที่รัฐสภามอบหมาย ทรงตั้งพระทัยที่จะเป็น “กษัตริย์ผู้หลอมรวมสังคมให้เป็นหนึ่ง โดยเป็นตัวแทนและเป็นแรงบันดาลใจแก่สังคมในศตวรรษที่ 21”
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์
บรรยากาศงานเฉลิมฉลองในกรุงอัมสเตอร์ดัม
กำลังโหลดความคิดเห็น