เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-เดือนเมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นเดือนที่นองเลือดที่สุดในอิรักในรอบเกือบ 5 ปี นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2008 เป็นต้นมา จากการที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงทั่วประเทศ 712 ราย และอีก 1,633 คนได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยของคณะผู้แทนองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในอิรัก
ข้อมูลล่าสุดของยูเอ็นระบุว่า กรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก ถือเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมากที่สุดโดยมีผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเรือนในเดือนเมษายนที่ผ่านมาสูงถึง 211 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 486 คน รองลงมาคือเมืองดิยาลา, ซาลาเฮดดิน, เคอร์คุก,นิเนเวห์และเมืองอันบาร์
รายงานของคณะผู้แทนสหประชาชาติในอิรักเผยว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายในอิรักในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากการโจมตีในรูปแบบต่างๆ ทั้งการใช้มือระเบิดฆ่าตัวตาย ระเบิดคาร์บอมบ์ รวมถึงเหตุกราดยิงต่อเป้าหมายที่เป็นแหล่งชุมชนของมุสลิมชีอะห์
โดยส่วนใหญ่พบว่าผู้อยู่เบื้องหลังเหตรุนแรงส่วนมาก จะเป็นพวกกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงของมุสลิมนิกายซุนนี ที่มีจุดยืนต่อต้านรัฐบาลอิรักภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนูริ อัล มาลิกิ ซึ่งเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์
ทั้งนี้ มีการประเมินว่า จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดจากการทำสงครามในอิรัก นับตั้งแต่ที่กองทัพสหรัฐฯและชาติพันธมิตรเปิดฉากบุกอิรักเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ปี 2003 ถึงสิ้นปี 2011ซึ่งสหรัฐฯประกาศถอนตัวจากการสู้รบในอิรักนั้นมีระหว่าง 176,000 – 189,000 คน โดยในจำนวนดังกล่าวคาดว่ามีผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเรือนรวมอยู่ด้วยราว 134,000 คน และถึงแม้กองกำลังต่างชาติจะถอนกำลังออกจากแผ่นดินอิรักแล้ว แต่ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ก็ยังคงเกิดเหตุรุนแรงในอิรักอย่างต่อเนื่องจากความขัดแย้งกันเองระหว่างชาวมุสลิมซุนนีและชีอะห์