xs
xsm
sm
md
lg

“เวิลด์แบงก์” เผย แรงงานฟิลิปปินส์ในต่างแดนครองแชมป์ “ส่งเงินกลับบ้าน” มากที่สุดในอาเซียน ไทยรั้งที่ 4

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-รายงานล่าสุดของธนาคารโลก (เวิลด์ แบงก์) ที่มีการเผยแพร่ในวันจันทร์ (29) ชี้ แรงงานชาวฟิลิปปินส์ในต่างแดนถือเป็นแรงงานต่างด้าวที่ “ส่งเงินกลับประเทศตัวเอง” มากที่สุด เมื่อเทียบกับแรงงานของชาติเพื่อนบ้านอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนแรงงานงานไทยส่งเงินกลับบ้านมากเป็นอันดับ 4

รายงานของธนาคารโลกว่าด้วยการอพยพย้ายถิ่นและการพัฒนาฉบับล่าสุดระบุว่า ฟิลิปปินส์ซึ่งมีประชาชนอพยพไปทำงานในประเทศต่างๆทั่วโลกกว่า 12.6 ล้านคน ครองแชมป์ในฐานะดินแดนที่มีแรงงานส่งเงินกลับบ้านมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยในปี 2012 ที่ผ่านมา แรงงานชาวตากาล็อกที่ไปทำมาหากินอยู่ในต่างแดน ได้ส่งเงินกลับมายังประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตนคิดเป็นวงเงินสูงถึง 24,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 716,935 ล้านบาท)

นอกจากฟิลิปปินส์จะเป็นดินแดนที่มีแรงงานส่งเงินกลับประเทศมากที่สุดในภูมิภาคแล้วแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างแดนซึ่งมีจำนวน 12.6 ล้านคนยังครอง “อันดับที่ 3 ของโลก” ในด้านการส่งเงินกลับบ้านสูงสุดเป็นรองเพียงแค่แรงงานจากอินเดีย (69,350 ล้านดอลลาร์) และแรงงานจีนแผ่นดินใหญ่ (60,240 ล้านดอลลาร์) เท่านั้น

สำหรับดินแดนที่มีแรงงานส่งเงินกลับประเทศมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองลงมาจากฟิลิปปินส์ในปีที่ผ่านมา ได้แก่ เวียดนาม (10,000 ล้านดอลลาร์) และอินโดนีเซีย (7,200 ล้านดอลลาร์)

ส่วนประเทศไทยถูกจัดให้เป็นดินแดนที่มีแรงงานส่งเงินกลับประเทศมากเป็นอันดับที่ 4 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปีที่แล้วพี่น้องแรงงานไทยที่เดินทางไปขายแรงงานในต่างแดน มีการส่งเงินกลับประเทศคิดเป็นวงเงิน 4,120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 120,880 ล้านบาท)

ขณะที่มาเลเซียซึ่งอยู่ในอันดับ 5 มีแรงงานส่งเงินกลับบ้าน 1,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( ราว 37,220 ล้านบาท) ในปีที่แล้ว

ขณะที่เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว มีแรงงานส่งเงินกลับบ้านในปีที่ผ่านมาคิดเป็นวงเงิน 560 ล้านดอลลาร์, 250 ล้านดอลลาร์ และ 110 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี มีเพียง 2 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งทางธนาคารโลกระบุว่าไม่พบข้อมูลว่ามีแรงงานส่งเงินกลับประเทศ คือ สิงคโปร์และบรูไน ดารุสซาลามซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูง จึงไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปขายแรงงานในต่างแดน เหมือนกับแรงงานของประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน

ข้อมูลจากรายงานของเวิลด์ แบงก์ยังระบุว่า ในปี 2012 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มียอดเงินที่แรงงานส่งกลับประเทศรวมกันสูงถึง 47,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.4 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นยอดเงินที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2011 ถึง 8.43 เปอร์เซ็นต์

แต่หากคิดรวมยอดเงินทั้งหมดที่แรงงานพลัดถิ่นในทุกทวีปทั่วโลก ส่งเงินกลับประเทศบ้านเกิดของตนในปีที่ผ่านมานั้น จะสูงถึง 401,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 11.7 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2011 ราว 5.3 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่าขณะนี้มีผู้คนมากกว่า 215 ล้านคนทั่วโลกต้องอพยพออกไปทำงานในต่างประเทศ ขณะที่อีกมากกว่า 700 ล้านคนเป็นแรงงานที่ต้องอพยพย้ายถิ่นอยู่ภายในประเทศของตัวเอง




กำลังโหลดความคิดเห็น