xs
xsm
sm
md
lg

เกาหลีใต้ขอเจรจาโสมแดงเรื่องนิคมอุตฯแกซอง ขู่ “ถอนตัว” อย่างถาวรหากไม่รับเงื่อนไข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิคมอุตสาหกรรมแกซองซึ่งตั้งอยู่ในฝั่งเกาหลีเหนือ ห่างจากชายแดนเกาหลีใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร
เอเอฟพี - รัฐบาลเกาหลีใต้ขอเจรจากับเปียงยางอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับอนาคตของนิคมอุตสาหกรรมแกซอง วันนี้(25) พร้อมขู่เป็นนัยว่า โซลอาจถอนตัวจากการร่วมทุนอย่างถาวรหากเกาหลีเหนือไม่รับข้อเสนอ

โซลเสนอที่จะส่งคณะทำงานเข้าเจรจากับฝ่ายโสมแดงเพื่อคลี่คลายปัญหานิคมอุตสาหกรรมแกซอง สัญลักษณ์ความร่วมมือระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ที่กำลังตกเป็น “ตัวประกัน” ในความขัดแย้งครั้งใหญ่บนคาบสมุทรเกาหลี

เกาหลีใต้ยังยื่นคำขาดว่าจะใช้ “มาตรการขั้นรุนแรง” หากว่าเกาหลีเหนือไม่ยอมรับข้อเสนอภายใน 24 ชั่วโมง

“รัฐบาลของเรามีเจตนารมณ์มั่นคงที่จะรักษาและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแกซองต่อไป... แต่เราไม่อาจปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปเช่นนี้” คิม ฮยุง-ซ็อก โฆษกกระทรวงการรวมชาติเกาหลีใต้ แถลง

คิม ไม่ได้ระบุว่า เกาหลีใต้เตรียมมาตรการตอบโต้เอาไว้อย่างไร แต่ถ้อยที่คำเด็ดขาดเป็นสัญญาณให้คาดเดาได้ว่า โซลอาจสั่งให้บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ 123 แห่งถอนตัวออกจากนิคมอุตสาหกรรมแกซองอย่างถาวร

เมื่อวานนี้(24) รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศจะช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องให้แก่บริษัทที่มีโรงงานอยู่ในแกซอง หลังการปิดนิคมอุตสาหกรรมส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ และถูกลูกค้ายกเลิกคำสั่งซื้อไปแล้วหลายราย

นิคมอุตสาหกรรมแกซองเป็นหนึ่งในผลสัมฤทธิ์จากนโยบาย “ซันไชน์” ซึ่งริเริ่มในสมัยของอดีตประธานาธิบดี คิม แด-จุง แห่งเกาหลีใต้ในทศวรรษที่ 1990 เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองเกาหลี นโยบายผ่อนปรนที่ว่านี้ยังนำไปสู่การจัดประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างประธานาธิบดี คิม แด-จุง และผู้นำ คิม จอง อิล ในปี 2000

เขตอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนประมาณ 10 กิโลเมตร ช่วยให้รัฐโสมแดงมีรายได้เป็นสกุลเงินแข็งจากการเก็บภาษี และลดภาระค่าจ้างแรงงานในประเทศได้ถึง 53,000 คน

เกาหลีเหนือสั่งห้ามคนงานเกาหลีใต้เดินทางเข้าไปที่นิคมอุตสาหกรรมแกซองตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน เนื่องจากไม่พอใจที่สื่อบางสำนักรายงานว่า เกาหลีเหนือคงไม่กล้าแตะต้องเขตอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเสมือนขุมรายได้หลักของรัฐ ต่อมาเมื่อรัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีใต้เอ่ยถึง “มาตรการทางทหาร” เพื่อปกป้องสวัสดิภาพพลเมืองที่ยังเหลืออยู่ที่แกซอง เปียงยางจึงตอบโต้ด้วยการถอนคนงานเกาหลีเหนือออกทั้งหมดในวันที่ 9 เมษายน ซึ่งทำให้กระบวนการผลิตต้องหยุดชะงักลงไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น