xs
xsm
sm
md
lg

‘ความชิงชังทางเชื้อชาติศาสนา’ถูกใช้เป็น‘นโยบาย’ในพม่า (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน แมคคาร์แทน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Racial hatred as policy in Myanmar
By Brian McCartan
05/04/2013

ภาวะความตึงเครียดระหว่างผู้คนต่างเชื้อชาติและศาสนาในพม่า ได้ถูกระบอบปกครองเผด็จการทหารในอดีตทำให้กลายเป็นเรื่องถาวรติดตรึงแน่นหนา และยังคงก่อให้เกิดความเดือดดาลคลั่งไคล้ขึ้นมาได้เป็นระยะๆ จวบจนกระทั่งในปัจจุบัน เรื่องนี้จึงเป็นความเสี่ยงอันสำคัญอีกประการหนึ่งในการดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองและทางเศรษฐกิจในแดนหม่อง ทั้งนี้ความรุนแรงอันบ้าคลั่งได้ปะทุขึ้นในเดือนที่แล้วที่เมืองเมกติลา นับเป็นเหตุจลาจลต่อต้านชาวมุสลิมขนาดใหญ่ครั้งแรกที่ปะทุขึ้นภายนอกรัฐยะไข่ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา และก็สะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนเชื้อชาติศาสนาต่างๆ กำลังย่ำแย่เลวร้ายลง สภาพการณ์เช่นนี้หมายความว่าความหวังที่พม่าจะสามารถดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ อย่างกว้างขวางต่อไปนั้น ยังคงเป็นตกอยู่ในท่ามกลางความไม่แน่นอน ขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันก็ดูเหมือนจะพลาดโอกาสที่จะเร่งยุติอาการความหวาดกลัวคนต่างชาติซึ่งได้ครอบงำประเทศนี้ตลอดช่วงประวัติศาสตร์อันยาวนานทีเดียว

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**การรัฐประหารที่เจือด้วยความหวาดกลัวชาวต่างชาติ**

ภายใต้กฎหมายว่าด้วยชนชาติหลายๆ ฉบับที่ออกมาบังคับใช้หลังจากฝ่ายทหารของพม่าทำรัฐประหารยึดอำนาจในปี 1962 ชาวมุสลิมได้พบว่าพวกตนต้องประสบความลำบากอย่างมากในการยื่นเรื่องขอบัตรประจำตัวประชาชน แล้วการที่ไม่ได้รับความยอมรับในทางกฎหมายก็ทำให้พวกเขาประสบความลำบากอย่างมากในการเดินทางออกนอกย่านที่อยู่อาศัย, ในการสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลและในการประกอบธุรกิจ เนื่องจากในทางเป็นจริงแล้วไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นพลเมือง ชาวมุสลิมจึงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นทหาร หรือเข้ารับราชการมีตำแหน่งใดๆ ในทางข้าราชการพลเรือน ชาวมุสลิมจำนวนมากเป็นพวกที่ไม่มีที่ดิน และทำงานเป็นพ่อค้าหรือเป็นผู้ใช้แรงงานรับจ้างรายวัน

อารมณ์ความรู้สึกหวาดกลัวชาวต่างชาติเหล่านี้ บ่อยครั้งยังมักถูกพวกทหารที่เป็นผู้ปกครองประเทศฉวยใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในเวลาที่พวกเขาต้องการผ่อนคลายบรรเทาแรงบีบคั้นกดดันทางการเมือง, เศรษฐกิจ, หรือทางสังคม และกลายเป็นยุทธวิธี “แบ่งแยกแล้วปกครอง” อันถาวร เพื่อการควบคุมประชากรไปเลย กรณีการเข่นฆ่าสังหารหมู่คนเผ่าพันธุ์มุสลิมโรฮิงญา ได้บังเกิดขึ้นมาในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และอีกครั้งหนึ่งในช่วงปี 1991-1992

ในปี 2001 เกิดการจลาจลต่อต้านมุสลิมปะทุขึ้นมาทั่วทั้งภาคกลางของพม่า มัสยิด, บ้านเรือน, และร้านรวงจำนวนมากถูกทำลาย ในเหตุความรุนแรงคราวนั้นก็เช่นเดียวกัน มีพระสงฆ์หลายรูปถูกประณามว่าเป็นผู้กระตุ้นยุยง ถึงแม้ในเวลานั้นเองมีหลายๆ คนมองเห็นว่า มี “มือที่พยายามแอบซุกซ่อนไว้” ของระบอบปกครองทหารอยู่เบื้องหลังความรุนแรงเหล่านั้น ในครั้งนั้น มีเสียงกล่าวหากันอย่างกว้างขวางว่าพวกสายลับของฝ่ายข่าวกรองทหารกำลังปลอมตัวห่มจีวรพระออกมาก่อเหตุ ทฤษฎีหนึ่งที่มีผู้เสนอกันในขณะนั้นก็คือ ความรุนแรงครั้งนั้นบังเกิดขึ้นในฐานะที่เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อการที่พวกตอลิบานระเบิดทำลายพระพุทธรูปประทับยืนองค์มหึมาและทรงความสำคัญยิ่งในทางประวัติศาสตร์ ที่เขตบามิยัน (Bamiyan) ของประเทศอัฟกานิสถาน

ศาสนาอิสลามมักถูกระบอบปกครองทหารของพม่ามองว่าเป็นภัยคุกคาม เหตุผลส่วนหนึ่งเนื่องจากระบอบปกครองนี้ไม่สามารถส่งอิทธิพลต่อศาสนาอิสลาม ในลักษณะเดียวกับที่พวกเขามีต่อศาสนาพุทธซึ่งอยู่ใต้การควบคุมของรัฐ ฝ่ายทหารค่อยๆ เพิ่มข้อจำกัดอันเข้มงวดต่อศาสนาอิสลามมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงระหว่างปลายทศวรรษ 1990 ไปจนถึงต้นทศวรรษ 2000 เป็นต้นว่า มีการออกกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่ชาวมุสลิมต้องขออนุญาตก่อนจึงจะจัดพิธีกรรมทางศาสนาและจัดการเฉลิมฉลองในโอกาสพิเศษต่างๆ ได้ จำนวนมัสยิดก็ถูกจำกัด และแม้กระทั่งการซ่อมแซมบูรณะมัสยิดที่มีอยู่แล้วก็ถูกตีกรอบให้ทำได้เฉพาะส่วนภายในอาคารเท่านั้น นอกจากนั้น กิจกรรมต่างๆ ของพวกผู้นำทางศาสนาและกลุ่มศาสนากลุ่มต่างๆ ก็ถูกติดตามจับตามองอย่างใกล้ชิด

นับตั้งแต่ที่รัฐบาลกึ่งพลเรือนของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 2011 แรงขับดันเพื่อการปฏิรูปในด้านต่างๆ ของรัฐบาลของเขาก็ช่วยให้มีการผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในขณะที่อยู่ในการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ที่สุดต้องวางตัวไม่ยุ่งเกี่ยวใดๆ กับเรื่องการเมือง และต้องพยายามเก็บเนื้อเก็บตัว ครั้นเมื่อถึงยุคปฏิรูปแล้ว ก็ทำให้บางผู้บางคนในชุมชนชาวมุสลิมค้นพบช่องทางที่จะมีปากมีเสียงในทางการเมืองได้บ้าง รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นผ่านทางอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายข้อจำกัดเกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนี้ บ่อยครั้งก็ยังเป็นช่องทางให้พวกชาวพุทธชาตินิยมสุดโต่ง สามารถเติมเชื้อเพลิงในรูปของถ้อยคำโวหารกระตุ้นยุแหย่ชาวพุทธให้เกลียดชังชาวมุสลิมได้เช่นกัน

ยังคงมีบางฝ่ายที่สงสัยข้องใจว่า รัฐบาล หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นพวกเสื่อมถอยล้าหลังในฝ่ายทหาร อาจจะเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการก่อความรุนแรงต่อต้านชาวมุสลิมที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ นี้ ในเมกติลา การโจมตีย่านชาวมุสลิมของเมืองนี้ดำเนินไปอย่างมีขั้นมีตอน บ่งชี้ให้เห็นว่าน่าจะมีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าอย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่การจัดตั้งจัดองค์กรเพื่อปฏิบัติการในเรื่องเช่นนี้ จะมาจากพวกกลุ่มชาวพุทธชาตินิยมสุดโต่ง ซึ่งไม่ได้มีความเชื่อมโยงใดๆ กับฝ่ายทหาร

เมื่อลองพิจารณาดูจากภายนอกโดยไม่ทราบเรื่องราวเส้นสายวงในแล้ว รัฐบาลหรือฝ่ายทหารดูแทบจะไม่ได้รับประโยชน์หรือผลดีใดๆ เลย ถ้าหากจะลงทุนยุยงส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงคราวนี้ขึ้นมา จริงอยู่พวกสายแนวคิดแข็งกร้าวในกองทัพอาจจะสามารถใช้ความรุนแรงในบางระดับเพื่อเป็นฉากบังหน้า ก่อนที่จะพยายามเข้ายึดอำนาจดำเนินการควบคุมโดยตรงอีกคำรบหนึ่ง ทว่าจวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ลู่ทางโอกาสที่จะกระทำเช่นนั้นดูยังไม่น่าที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงต้นทุนอันมากมายมหาศาลที่อาจจะต้องสูญเสียไป ทั้งในรูปความคิดเห็นของประชาคมระหว่างประเทศที่มีต่อประเทศพม่า, ความสูญเสียในเรื่องโอกาสแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ, ตลอดจนการที่จะเกิดความไม่สงบของพลเรือนขึ้นมาอย่างชนิดควบคุมไม่ได้ตลอดทั่วทั้งประเทศ

เท่าที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้รับการยกย่องชมเชยอย่างกว้างขว้างในระดับนานาชาติ จากการที่รัฐบาลของเขาดำเนินความพยายามในการปฏิรูปด้านต่างๆ กระทั่งดูเหมือนจะสามารถดึงดูดเงินลงทุนต่างประเทศจำนวนมากเข้ามาขับดันให้เศรษฐกิจของพม่าเติบโตรุ่งเรือง ในเวลาเดียวกัน ฝ่ายทหารในตอนนี้ส่วนใหญ่แล้วก็ยังคงสามารถรอดพ้นไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่ถูกขุดคุ้ยเรื่องการใช้อำนาจในทางมิชอบต่างๆ ของพวกเขาในอดีต ขณะที่มือของพวกเขากำลังกุมอำนาจอยู่อย่างเงียบๆ ต่อไป โดยผ่านระบบการจัดสรรที่นั่งในรัฐสภาเป็นจำนวน 25% ให้แก่กองทัพ และการที่ทหารได้เข้าไปเป็นสมาชิกในองค์กรฝ่ายรัฐบาลจำนวนหนึ่ง พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย (Senior General Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการกองทัพพม่าคนปัจจุบัน รู้สึกมั่นอกมั่นใจถึงขนาดที่ประกาศออกมาในระหว่างการสวนสนามของทหารเนื่องในวันกองทัพพม่าเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ฝ่ายทหารยังคงรักษา “บทบาทการเป็นผู้นำในทางการเมือง” ของตนเอาไว้ต่อไป

แทนที่จะเป็นผู้กระตุ้นยุแหย่ให้เกิดความรุนแรงระหว่างชุมชน ฝ่ายทหารกลับจะได้ผลประโยชน์มากมายด้วยซ้ำ ถ้าหากสามารถดำเนินการต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงมติมหาชน และปลดชนวนคลายปมความตึงเครียดทางศาสนาให้ได้ก่อนที่มันจะลุกลามบานปลายกลายเป็นความรุนแรงซึ่งสร้างความแตกแยกดังที่ได้เห็นกันในช่วงหลังๆ นี้ทั้งในรัฐยะไข่และพื้นที่ภาคกลางของพม่า อย่างไรก็ตาม จวบจนถึงเวลานี้ ไม่ว่ากองทัพ, รัฐบาล, หรือรัฐสภา ก็ยังไม่ได้แสดงตนออกมาให้เห็นเลยว่าจะเป็นผู้นำในการคลี่คลายประเด็นปัญหานี้

ออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้าน และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy ใช้อักษรย่อว่า NLD) ของเธอ ก็แสดงท่าทีเงียบงันเสียเป็นส่วนใหญ่ในประเด็นปัญหาเรื่องชาวมุสลิม ซู จี นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงปีที่แล้วเมื่อเธอแสดงให้เห็นความใส่ใจเพียงน้อยนิดต่อชะตากรรมของชาวโรฮิงญา ชื่อเสียงเกียรติคุณของเธอซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ในระดับไร้ข้อตำหนิครหา กลับมีอันถูกกัดกร่อนลงในระยะหลังๆ นี้ จากการที่เธอดูจะวางตนใกล้ชิดมากเกินไปกับพวกอดีตนายพล ผู้ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เองเป็นพวกที่สั่งคุมขังเธอให้อยู่แต่ภายในบริเวณบ้านพัก

ในฐานะที่เป็นผู้นำของฝ่ายค้านที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน ตลอดจนเป็นหนึ่งในผู้ที่ดูเหมือนให้ความสนับสนุนต่อสิทธิของชาวชนชาติต่างๆ ซู จี จึงเป็นปากเสียงทางศีลธรรมที่ทรงพลังที่สุดในประเทศนี้ กระนั้นก็ตาม หนทางในการแก้ไขคลี่คลายทัศนคติต่อต้านชาวมุสลิมซึ่งติดตรึงในความคิดของผู้คนในพม่าอย่างกว้างขวาง ถึงอย่างไรก็ต้องเริ่มต้นด้วยการดำเนินการปฏิรูปต่างๆ ในด้านการตำรวจและระบบศาลยุติธรรม ตำรวจในพม่านั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงเป็นพิเศษทั้งในเหตุรุนแรงเมื่อเร็วๆ นี้ และในปีที่แล้วที่ยะไข่ จากการอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลยในขณะที่พวกฝูงชนผู้บ้าคลั่งอาละวาดบุกเข้าทำลายย่านที่พำนักอาศัยของชาวมุสลิม

เต็ง เส่ง ออกมาแถลงทางโทรทัศน์ที่มีการถ่ายทอดออกไปทั่วประเทศเมื่อวันที่ 28 มีนาคม โดยกล่าวตักเตือน “พวกฉวยโอกาสทางการเมืองและพวกสุดโต่งทางศาสนา” ว่า จะไม่มีการ“อดทนอยู่นิ่งเฉยต่อการกระทำต่างๆ ของพวกเขา” คำแถลงเช่นนี้นับว่าเข้มแข็งและเป็นก้าวเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องถ้าหากว่าไม่ล่าช้าไปสักหน่อย ประธานาธิบดีของรัฐบาลกึ่งพลเรือนผู้นี้ยังระบุในข้อความที่ส่งถึงพวกผู้ก่อเหตุความรุนแรงว่า เขาจะใช้ทั้งกำลังและการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อพวกยุยง “อย่างถึงที่สุดเท่าที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้”

กระนั้นก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่า เต็ง เส่ง จะสามารถทำให้คำขู่เของเขารื่องที่จะใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ ให้บังเกิดผลได้แค่ไหนเพียงใด ในสภาพที่กำลังตำรวจเต็มไปด้วยความย่ำแย่เลวร้าย, กองทัพก็มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในเรื่องการยิงใส่พลเรือนแทนที่จะทำหน้าที่พิทักษ์คุ้มครองพลเรือนผู้ปราศจากอาวุธ, และระบบศาลยุติธรรมซึ่งแทบจะไม่ได้แสดงให้เห็นความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่เลย ด้วยเหตุดังนี้ ความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติของพม่าที่กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ ตลอดจนความหวังที่จะได้เห็นประเทศนี้มีการดำเนินการปฏิรูปต่างๆ อย่างกว้างขวางมากขึ้น จึงยังคงตกอยู่ในท่ามกลางความไม่แน่นอนต่อไป

ไบรอัน แมคคาร์แทน เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระ สามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ bpmccartan1@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น