ภาพยนตร์เรื่อง “ฮอบบิท” กำลังเป็นกระแสนิยมสำหรับคอหนังแฟนตาซีที่ต้องตารอคอย แต่หลังจากหนังจบความคิดคงยังจบไม่ลงเพราะเกิดคำถามว่า “อาณาจักรของคนตัวเล็ก” แบบในหนังนั้นมีจริงไหม? แล้วความลับที่โลกสร้างคนตัวเล็กขึ้นมา มันคืออะไรกันแน่?
หนังสือเดอะฮอบบิท (The Hobbit หรือ There and Back Again) เป็นนิยายแนวแฟนตาซีที่ประพันธ์โดย เจ.อาร์.อาร์.โทลคีน ในลักษณะกึ่งเทพนิยาย โดยเริ่มแรกเป็นเพียงนิทานก่อนอนที่เขาเล่าให้ลูกฟัง แต่เมื่อเริ่มคิดเล่นคำที่ยืมมาจากภาษาต่างๆ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษโบราณมาใช้ทำให้มีจุดเด่นอันน่าสนใจ จนได้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1937 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการผจญภัยของ “ชาวฮอบบิท” หรือ “ฮาฟลิง-สูงครึ่งแค่เดียว” ชื่อ นายบิลโบ แบ๊กกิ้นส์ ที่เดินทางผจญภัยไปเพื่อนเผ่าพันธุ์ต่างๆ
นิยายเรื่องนี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนสำนักพิมพ์ต้องตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง และทำให้เกิดงานเขียนชิ้นต่อมา คือ เรื่อง “เดอะ ลอร์ดออฟเดอะริงส์” ที่ดังกว่าหลายเท่าตัว ในนิยายหนุ่มน้อยบิลโบชาวเผ่าฮอบบิทเติบโตในหมู่บ้านเล็กๆ อันแสนสงบและแวดล้อมไปด้วยดินแดนของยักษ์ มนุษย์ เอฟล์ เและเผ่าพันธุ์อื่นๆ แล้วในโลกแห่งความจริงมีดินแดนของคนตัวเล็กที่ไปมาหาสู่กับคนตัวใหญ่เผ่าอื่นแบบในนิยายหรือเปล่า? คำตอบคือ “มี” แต่เราอาจต้องเดินทางไปสัมผัสวิถีชีวิตแบบนนี้ในดินแดนอันแสนไกลในป่าลึกของทวีปแอฟริกา
ชนเผ่าปิกมี (Pygmy) น่าจะเป็นที่รู้จักกันมานาน ทั้งในสารคดี และงานเขียนต่างๆ ด้วยรูปลักษณ์ที่โดดเด่น คือ มีรูปร่างที่เล็กกว่าคนทั่วไปแต่ก็ยังสมส่วนจนดูคล้ายว่าถูกย่อส่วนลงไป กล่าวคือ ชาวเผ่าปิกมีมักสูงเต็มที่เพียง 145-150 เซนติเมตรเท่านั้น เราอาจรู้จักชาวเผ่าปิกมีเพียงแต่เรื่องของความสูงที่ไม่ธรรมดา แต่ความลับของการถอดรหัสทางพันธุกรรมซึ่งกำหนดให้ชาวเผ่าปิกมีตัวเล็กแบบนี้ พึ่งถูกเปิดเผยเมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมานี้เอง
ในอดีตนักวิทยาศาสตร์และนักมนุษยวิทยาสันนิษฐาน ว่า การที่ชนเผ่าปิกมีเตี้ยกว่าปกติ เพราะพวกเขาต้องมีการปรับตัว เพื่ออาศัยอยู่ในป่าลึกของเขตร้อนชื้น การที่ตัวเล็กกว่าปกติอาจจะทำให้เคลื่อนไหวได้สะดวก เหมาะกับการเก็บหาของป่า และล่าสัตว์ แถมยังทนต่ออากาศร้อนได้ดีกว่า ที่น่าสนใจ คือ ชาวปิกมีมีแนวโน้มการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้เร็วกว่าปกติเพื่อให้เพมาะสมกับอายุขัยที่สั้นกว่าคนทั่วไป คือ สูงที่สุดไม่เกิน 30 ปีเท่านั้น
ในยุคต่อมาเมื่อเทคโนโลยีการศึกษาทางพันธุกรรมเจริญมากขึ้น ข้อสันนิษฐานนั้นจึงถูกทดสอบอย่างต่อเนื่อง เช่น มีข้อเสนอจากนักพันธุศาสตร์ว่าการที่ชนเผ่าปิกมีตัวเล็กกว่าคนทั่วไป อาจจะเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 12 ที่มีหน้าที่ควบคุมการหลั่งโกรธฮอร์โมน หรือฮอร์โมนที่ทำให้มีความสูงตามปกติ ข้อสันนิษฐานนนี้เกิดจากการเทียบเคียงการเกิดอาการ “แคระที่มีร่างกายสมส่วน” จากความผิดปกติของการหลั่งโกรธฮอร์โมนในหนูทดลอง
จนเมื่อไม่นานนี้ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ และพันธุศาสตร์ประชากรของชนเผ่าปิ๊กมี่ จึงได้เสนอข้อพิสูจน์เพื่อเปิดเผยความลึกลับทางพันธุกรรมของเผ่าปิกมีเกี่ยวกับที่มาของความสูงที่น้อยกว่าชนเผ่าอื่น และอาจใช้อธิบายที่ไปที่มาของการมีดินแดงเป็นของตนเองมาตั้งแต่โบราณกาลด้วย
จากผลการศึกษาที่ได้พบว่า ความเป็นมาของชนเผ่าปิกมีน่าตื่นเต้นไม่ต่างกับดินแดนในนิยาย หลังจากที่นักวิจัยทางมนุษยวิทยาแยกแยะชาติพันธุ์ในทวีปแอฟริกาด้วยการภาษาที่ใช้สื่อสารแล้วพบว่าชนเผ่าปิกมีเป็นชนเผ่าหนึ่งที่ใช้การสื่อสารด้วยกลุ่มภาษาบันทู (Bantu) ซึ่งประชากรที่ใช้กลุ่มภาษานี้มีหลากหลายชนเผ่า แต่มีเพียงชนเผ่าปิกมีเท่านั้นที่ตัวเล็กกว่าชนเผ่าอื่น
จากตรรกะดังกล่าวนักชีววิทยาได้ทำการศึกษาต่อ ด้วยการเปรียบเทียบตำแหน่งของยีนที่จำเพาะในชนเผ่าบันทู และชนเผ่าปิกมีในประเทศแคเมอรูน โดนอนุมานว่า ภาษาเป็นสิ่งหนึ่งที่อาจช่วยนักวิทยาศาสตร์ไล่ย้อนสายบรรพบุรุษของแต่ละชาติพันธุ์ โดยการเทียบเคียงกับผลลัพธ์ทางพันธุศาสตร์ได้ด้วยการศึกษาจากยีนส์จำเพาะที่พบในอวัยวะหนึ่งภายในเซลล์มนุษย์ที่เรียกว่า “ไมโตรคอนเดีย” ซึ่งมี DNA เป็นของตนเอง และจะมีการบันทึกข้อมูลจากแม่สู่ลูกส่งต่อกันมาเป็นรุ่นๆ
วิธีการดังกล่าวใช้แพร่หลายในการตรวจสอบสายบรรพบุรุษของสิ่งมีชีวิตและชนเผ่าต่างๆ ที่สามารถบอกอายุหรือช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมได้ด้วยการเปรียบเทียบข้อมูลทางพันธุกรรมกับสิ่งมีชีวิตที่พบในยุคนั้นๆ เรียกว่า DNA ของเจ้าไมโตรคอนเดียนั้นเปรียบเมือนบันทึกกาลเวลาของสิ่งมีชีวิตเลยทีเดียว
ผลการวิจัยพบว่า ชาวเผ่าบันทูซึ่งมีความสูงตามปกติและชนเผ่าปิกมี น่าจะเคยมีบรรพบุรุษร่วมกัน ซึ่งก็สอดคล้องกับกลุ่มภาษาที่ใช้สื่อสารในปัจจุบัน แต่พบว่ามีข้อแตกต่างกันบนโครโมโซมคู่ที่ 3 หลายตำแหน่ง และด้วยโครโมโซมในตำแหน่งเหล่านั้น มีผลกับการหลั่งฮอร์โมนหลายตัว โดยเฉพาะโกรทฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของความสูง เซราโทนินที่มีผลเกี่ยวข้องกับระบบเมทาบอลิซึมและการเจริญเติบโตของร่างกาย และออกซิโตซินที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์โดยเฉพาะเพศหญิง
นั่นอาจจะเป็นคำตอบว่าทำไมชนเผ่าปิกมีถึงมีขนาดตัวที่เล็กกว่าปกติและแสดงมีลักษณะการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าชนเผ่าอื่นๆ คือ สาวเผ่าปิกมีจะเริ่มมีลูกได้เมื่ออายุราว 10 ขวบ ซึ่งชาวปีกมี่มีอายุขัยเฉลี่ยสั้นกว่าปกติคือเพียง 25 ปีเท่านั้น
ส่วนในเรื่องการแยกดินแดนจนมีอาณาเขตของเผ่าปิกมีเป็นของตนเองนั้น ผลการศึกษาทางพันธุศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของยีนส์ที่ทำให้ชาวปิกมีแตกต่างกับชาวบันทูซึ่งน่าจะเป็นประชากรหลักของพื้นที่นี้ อาจเกิดขึ้นเมื่อราว 6-70,000 ปีที่ผ่านมา หรือกล่าวง่ายๆ คือในเวลานั้น เริ่มมี “ปิกมี” คนแรกถือกำเนิดขึ้นบนโลก จนในเวลาต่อมาเมื่อคนตัวเล็กหรือคนเผ่าเหล่ายังอยู่รอดก็ทำให้เกิดการเพิ่มประชากรของคนตัวเล็กเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อราว 4-5,000 ปีที่ผ่านก็เริ่มมีการแยกดินแดนออกไปอย่างเอกเทศ เพราะผลการวิจัยพบว่ายีนจำเพาะของเผ่าปิกมีเริ่มแยกจากชาวบันทูอย่างชัดเจนในช่วงเวลานั้น
อย่างไรก็ตาม รูปร่างเล็กๆ น่ารักของสาวปิกมีอาจต้องตาหนุ่มบันทูบางคนอยู่ ทำให้มีการแต่งงานข้ามชนเผ่า จนเกิดการแลกเปลี่ยนทางพันธุกรรมกับชนเผ่าบันทูเรื่อยมา แต่ด้วยแรงกดดันทางสังคมที่อาจจะทำให้คนตัวเล็กใช้ชีวิตร่วมกับคนตัวใหญ่ไม่ไหว อาจจะถูกดูแคลน หรือไม่สามารถต่อสู้เพื่อแย่งพื้นที่อาศัยหรือทำกินได้ดีเท่า จึงทำลูกหลานปิกมี ซึ่งมีรูปร่างเล็กมักจะกลับเข้ามาอาศัยในถิ่นฐานเดิม ทำให้ปัจจุบันยีนที่พบเฉพาะในชนเผ่าปิกมีจึงปรากฏชัดเจน และแตกต่างกับชนเผ่าบันทูซึ่งมีดินแดนใกล้เคียงอย่างมาก
ข้อน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่อาจเป็นจุดประสงค์รองของการวิจัย คือ ในร่างกายเล็กๆ ของเผ่าปิกมีนั้นมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าคนปกติ ซึ่งอาจมีผลจากระบบฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อตอบสนองต่อการอยู่อาศัยในดินแดนที่เต็มไปด้วยโรคร้ายของเขตร้อน ถ้าเทียบกับฮอบบิทในหนัง ชาวปิกมีก็เป็นชนเผ่าพิเศษที่สมบุกสมบันเหมือนออบบิทที่เดินได้ไม่มีวันเหนื่อย และที่สำคัญชาวปิกมีอาจจะครองความลับของระบบภูมิคุ้มกันโรคในมนุษย์ไว้เหมือนกับนายบิลโบที่ครองแหวนเอกธำมรงค์ที่สามารถเปลี่ยนโลกเทพนิยายชี้ให้ร้ายหรือดีก็เป็นได้
ในภาพยนตร์เรื่องฮอบบิท ยังมีคนแคระอีกเผ่าหนึ่งที่นิยมไว้หนวดเครารุงรังแต่รูปร่างไม่สมส่วน ซึ่งถ้าเทียบเคียงกับโลกแห่งความจริง ความพิเศษทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างจากต้นกำเนิดของขนเป่าปิกมี นั่นคือการเกิด “อาการแคระ หรือ Dwarfism” ซึ่งมีสาเหตุทางการแพทย์มากมายกว่า 200 สาเหตุ เช่น ต่อม พิธูอิตารี หรือส่วนหน้า หรือต่อมใต้สมองส่วนหน้าที่มีหน้าที่หลั่งโกรทฮอร์โมนไม่ทำงาน หรือมีเนื้องอกไปกดทับ ผลจากพันธุกรรม ผลจากการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างต่อมไร้ท่อต่างๆ ในกระแสเลือดไม่ปกติ ฯลฯ
ผลลัพธ์ที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า คือ คนที่มีอาการแคระจะมีร่างกายที่เจริญเติบโตช้ากว่าคนทั่วไป มีทั้งอาการแคระที่รูปร่างสมส่วน (proportionate dwarfism) และไม่สมส่วน (Disproportionate dwarfism) คือ อาจมีช่วงคอ แขน ขาสั้นกว่าสัดส่วนที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โดยทั่วไปทางการแพทย์ถือว่าผู้ที่มีอาการแคระจะมีความสูงไม่เกิน 147 เซนติเมตร เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ โดยอาจจะแสดงอาการเบื้องต้นที่เห็นในเด็กได้จากสัดส่วนความสูงของเชิงกรานที่ต่ำกว่าปกติและใบหน้าค่อนข้างกลมเนื่องจากมีการสะสมไขมันมาก เป็นต้น
ที่แน่ๆ คือ คนที่มีอาการแคระไม่ได้มีผลกระทบกับสติปัญญา บรรดาคนตัวเล็กจึงยังสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม และทำหน้าที่ของตนเองได้ตามที่ศักยภาพทางร่างกายเอื้ออำนวย ไม่ต่างจากในภาพยนตร์ที่เหล่าคนแคระและฮอบบิทกลับเป็นนักรบที่เข้มแข็ง และพร้อมจะต่อสู้เพื่อสันติภาพของดินแดนตนเคียงบ่าเคียงไหล่กับมนุษย์และเอฟล์อย่างเต็มภาคภูมิ
สิ่งที่ดูผิดปกติมักแลกมาด้วยความพิเศษในตนเองเสมอ ในภาพยนตร์แม้เผ่าฮอบบิทจะตัวเล็ก แต่ก็เดินเก่งและถูกควบคุมด้วยมนต์ดำได้ยาก ในโลกแห่งความจริงแม้ขาวปิกมีจะดูแปลกตาแต่ก็อาจเป็นผู้กำความลับเรื่องภูมิคุ้มกันโรคของมนุษยชาติไว้ ธรรมชาติไม่เคยริบรอนสิ่งใดไปโดนไม่ให้อะไรกลับมา...น่าคิดว่าทำไมคนบางคนถึงมักเข้าข้างตนเองว่า ตนเองนั้นแสนปกติแต่กลับทำผลกระทบอันผิดปกติให้กับผู้อื่นไม่เคยหยุดหย่อน?
ป.ล. ติ๊งต่อง....เรียนท่านผู้มีอุปการคุณ โปรดทราบ...นายปรี๊ดต้องกราบงามๆ ขอโทษผู้ที่ติดตามอ่าน คอลัมน์ “คุยวิทย์สะกิดใจ” เป็นประจำด้วย ที่ห่างหายไปจากหน้าจอถึง 2 สัปดาห์ เนื่องจากติดภารกิจทางการศึกษาและงานวิจัยอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ทำให้ไม่สะดวกในการส่งบทความมาลงตามปกติ จึงขอชดเชยด้วยการลงบทความต่อเนื่องกันสองสัปดาห์เป็นของสมนาคุณแด่ผู้มีอุปการะทุกท่าน และนายปรี๊ดได้อ่านทุกความคิดเห็นที่ทุกท่านเสนอมาทั้งในด้านดีและด้านที่ต้องแก้ไข ขอขอบคุณที่ติดตามโดยตลอดครับ ติ๊งต่อง....
เกี่ยวกับผู้เขียน
“นายปรี๊ด” นักศึกษาทุนปริญญาเอกด้านชีววิทยา ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย
ทั้งงานสอน บทความเชิงสารคดี ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทำสื่อการสอน ของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์
กรรมการตัดสินโครงงาน วิทยากรบรรยายและนักจัดกิจกรรมเพื่อการจุดประการวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว
ติดตามอ่านบทความของนายปรี๊ดที่จะมาแคะคุ้ยเรื่องวิทย์ๆ...
สะกิดต่อมคิด ให้เรื่องเล็กแสนธรรมดากลายเป็นความรู้ก้อนใหม่ ได้ทุกวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์
อ้างอิง
1.) L. Quintana-Murci et al., “Maternal traces of deep common ancestry and asymmetric gene flow between Pygmy hunter-gatherers and Bantu-speaking farmers,” PNAS, 2008.105: 1596-601.
2.) http://news.sciencemag.org/sciencenow/2009/02/05-03.html
3.) http://www.upenn.edu/pennnews/news/penn-geneticists-identify-genes-linked-western-african-pygmies-small-stature