(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
South Korea, Japan: a reignited rivalry
By Jieh-Yung Lo
28/03/2013
“เค-ป๊อป” กำลังผงาดขึ้นมาอย่างโดดเด่น ในเวลาเดียวกับที่โลกตะวันตกจืดจางคลายความสนใจในแง่มุมต่างๆ ของวัฒนธรรมป๊อปแบบญี่ปุ่นไปเสียแล้ว หลังจากที่ได้เคยติดบ่วงหลงเสน่ห์อยู่ในช่วงทศวรรษ 1990 เหล่านี้ย่อมเป็นการสะท้อนภาพของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพลวัตแห่งอำนาจของเอเชียตะวันออก โดยที่ “ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ” ในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่น ได้ถูกพัดพาเซซัดเข้าไปในปริมณฑลของความทรงจำ ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ จึงดูเหมือนว่า ถึงแม้โซลกับโตเกียวมีผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและทางความมั่นคงที่เหลื่อมซ้อนร่วมกันอยู่ไม่ใช่น้อย แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็กำลังก้าวเดินเข้าสู่ขั้นตอนอันละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง
เกาหลีใต้กำลังผงาดขึ้นมาอย่างโดดเด่นในอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมความบันเทิงระดับโลก ภาวะเช่นนี้จะนำพาให้โสมขาวเคลื่อนตัวอยู่บนเส้นทางที่จะต้องชนปะทะกับผู้เป็นศัตรูเก่ารายหนึ่งเข้าจนได้
คาบสมุทรเกาหลีและญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์กันอันสลับซับซ้อน โดยมีต้นตอมาจากการเกี่ยวข้องพัวพันกันทั้งในทางวัฒนธรรมและในทางการเมืองเป็นเวลานานนมหลายๆ พันปี ความสลับซับซ้อนดังกล่าวนี้ยิ่งเพิ่มทวีขึ้นอีกจากการที่ญี่ปุ่นซึ่งอยู่ภายใต้ลัทธิมุ่งขยายตัวด้วยการใช้กำลังทหาร ได้เข้ารุกรานยึดครองเกาหลีเป็นอาณานิคมในช่วงต้นๆ ของศตวรรษที่ 20 แล้วส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายยังคงอยู่ในสภาพบูดบึ้งขุ่นเคืองในระยะแห่งยุคสงครามเย็น ถึงแม้ทุกวันนี้ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้มีฐานะเป็นชาติคู่ค้ารายสำคัญของกันและกัน อีกทั้งมีนักศึกษา, บุคคลในวงการธุรกิจ, นักท่องเที่ยว, และผู้ทำงานในแวดวงบันเทิงของแต่ละฝ่าย เดินทางติดต่อระหว่างประเทศทั้งสองเป็นจำนวนมาก
ในอดีตกาลนับตั้งแต่สมัยกลางเป็นต้นมา การเมืองของเอเชียตะวันออกมีท้องเรื่องอันโดดเด่นอยู่ที่ดุลแห่งอำนาจและอิทธิพลระหว่างจีน, ญี่ปุ่น, และคาบสมุทรเกาหลี แต่ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจในช่วงหลังสงครามของญี่ปุ่น ได้มีบทบาทกลายเป็นตัวกำหนดลักษณะสำคัญประการหนึ่งในย่านเอเชีย-แปซิฟิก ความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ตลอดจนการค้าขายระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ได้ขยายตัวเติบใหญ่อย่างน่าตื่นใจภายหลังทั้งสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ขั้นปกติระหว่างกันในปี 1965 ถึงแม้ทั้งสองชาติต่างขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและต่างแข่งขันกันในด้านผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม แต่เวลาเดียวกันก็สามารถเสริมเติมให้แก่กันและกันในด้านอื่นๆ อีกมากมายหลายหลาก
กระนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ซึ่งแม้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทางด้านความมั่นคงแทบจะเหมือนกันไปหมด แต่บ่อยครั้งก็ยังคงตกเป็นเชลยของการทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างอารมณ์เสีย ในประเด็นปัญหาต่างๆ จำนวนหนึ่ง เป็นต้นว่า เนื้อหาในตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นที่หลายๆ ฝ่ายระบุว่ามุ่งแก้ไขบิดเบือนความเป็นจริงในอดีต, การโต้เถียงกันเกี่ยวกับหมู่เกาะด็อคโด/ทาเกชิมะ (Dokdo/Takeshima islets) ในทะเลญี่ปุ่นที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกัน, ตลอดจนการที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในเวลานั้นๆ หลายๆ ราย โดยรายสุดท้ายก็คือ จุนอิชิโร โคอิซูมิ (Junichiro Koizumi) เดินทางไปสักการะศาลเจ้าแห่งสงครามยาสุคุนิ (Yasukuni War Shrine)
ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ย่างก้าวเข้าสู่ขั้นตอนอันละเอียดอ่อนและทำนายคาดการณ์ไม่ถูก ตั้งแต่ที่ผลการเลือกตั้งในแต่ละประเทศทำให้ได้รัฐบาลแนวทางอนุรักษนิยมในเกาหลีใต้ และ ชินโสะ อาเบะ (Shinzo Abe) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว อี มยอง-บัค (Lee Myung-bak) ประธานาธิบดีหัวอนุรักษนิยมของเกาหลีใต้เวลานั้น ได้ประกาศยกเลิกกำหนดการลงนามในสัญญาแลกเปลี่ยนข่าวกรองทางทหารกับญี่ปุ่น รวมทั้งฉีกทิ้งแผนการทวิภาคีที่จะสรุปผลเพื่อจัดทำข้อตกลงจัดหาและเอื้อเฟื้อสัมภาระให้แก่การปฏิบัติงานของกำลังทหารของอีกฝ่ายหนึ่ง (Acquisition and Cross-Servicing Agreement) หลังจากนั้นไม่นานนัก นั่นคือในเดือนสิงหาคม 2012 ประธานาธิบดีอี ยังเดินทางไปเยือนหมู่เกาะด็อคโด/ทาเกชิมะ ซึ่งเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นกำลังช่วงชิงกันอยู่อีกด้วย
ขณะที่มีความสนใจกันอย่างมากมายในเรื่องที่ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างดำเนินโนบายการต่างประเทศว่าด้วยข้อพิพาททางดินแดนด้วยท่าทียืนกรานแข็งกร้าว แต่ดูเหมือนยังคงมีบทวิเคราะห์เพียงจำนวนจำกัด ซึ่งพูดถึงผลกระทบจากการที่อิทธิพลวัฒนธรรมป๊อปของเกาหลีใต้ ทำท่าจะสามารถเข้าแทนที่วัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่นบนเวทีระดับโลก
ระหว่างช่วงทศวรรษ 1980 และทศวรรษ 1990 วัฒนธรรมญี่ปุ่นและอิทธิพลของญี่ปุ่นสามารถขยายตัวออกนอกพรมแดนของตนเองไปไกลกว้างขวาง ด้วยผลิตผลทางวัฒนธรรมอย่างเช่น ดนตรีเจ-ป๊อป, หนังการ์ตูน เอนิเมะ, หนังสือการ์ตูน มังงะ, ภาพยนตร์แนวสยองขวัญ, ตลอดจนความสำเร็จของแบรนด์สินค้าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ของญี่ปุ่นในตลาดต่างแดน แต่ในระยะหลังๆ มานี้ ฐานะความเหนือล้ำและการครอบงำเช่นนี้ของญี่ปุ่น กำลังถูกเกาหลีใต้เข้ามาแข่งขันช่วงชิงและสยบให้แพ้พ่าย ทั้งนี้ผลผลิตด้านบันเทิงของเกาหลีมีการเติบโตขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาแล้ว ยิ่งมาในปีนี้ ท่านผู้ชมท่านผู้ฟังทั่วโลกส่วนที่อยู่นอกเอเชีย ยังได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานถึงผลกระทบอย่างฉับพลันของ “กระแสเกาหลี” (Korean wave) โดยผ่านทางพวกอาร์ตติสต์ เค-ป๊อป อย่างเช่น ไซ
กระแสดังกล่าวนี้ทำให้วัฒนธรรมเกาหลีเป็นที่สนอกสนใจและได้ปรากฏตัวให้เห็นบนเวทีนานาชาติเพิ่มขึ้นมากอย่างชนิดพุ่งพรวด เราน่าที่จะตั้งข้อสมมุติฐานได้อย่างไม่ผิดข้อเท็จจริงนักว่า กระแสเกาหลียังได้ช่วยหล่อหลอมพัฒนาให้แบรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์ของเกาหลีให้มีเสน่ห์และกลายเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว รายงานข่าวระบุว่า ซัมซุง ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกทั้งในเรื่องโทรทัศน์, โทรศัพท์, และชิปความจำที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ต่างๆ สามารถทำผลกำไรได้สูงสุดเป็นสถิติใหม่ ในเวลานี้ซัมซุงกลายเป็นบริษัทผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของเอเชียไปแล้ว
ผลงานเช่นนี้ช่างแตกต่างห่างไกลเหลือเกินกับโซนี่ บริษัทที่เคยเป็นผู้นำในการสร้างชื่อเสียงให้แบรนด์สินค้าญี่ปุ่นในตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มานานปี โดยในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของแดนอาทิตย์อุทัยรายนี้ รายงานอย่างผิดความคาดหวังของบรรดานักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ว่า ต้องประสบการขาดทุนอีกเป็นไตรมาสที่ 7 ติดต่อกันแล้ว สืบเนื่องจากดีมานด์ความต้องการกำลังลดต่ำลง ในเมื่อผู้บริโภคต่างหนีไปหาซัมซุง แนวโน้มเช่นนี้ยังสะท้อนให้เห็นด้วยเหมือนกันเมื่อเราเปรียบเทียบมูลค่าเงินตราของประเทศทั้ง 2 ทั้งนี้เงินเยนญี่ปุ่นเมื่อแลกเปลี่ยนกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเดือนพฤศจิกายน ได้ลดมูลค่าลงสู่ระดับอ่อนตัวที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมาทีเดียว ทว่าในเวลาเดียวกันนั้น เงินวอนของเกาหลีใต้กลับแข็งโป๊กขึ้นสู่ระดับมีมูลค่าสูงที่สุดในรอบ 14 เดือน หากนำสกุลเงินตราทั้ง 2 สกุลมาเปรียบเทียบกันเอง นับตั้งแต่สิ้นเดือนมิถุนายนปีที่แล้วเป็นต้นมา เงินวอนก็แข็งขึ้นราว 9% ในการแลกเปลี่ยนกับเงินเยน
ขณะที่ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างมีวัตถุประสงค์ทางด้านนโยบายการต่างประเทศในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการธำรงรักษาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่มีอยู่กับสหรัฐฯ และการสร้างสายสัมพันธ์แห่งความร่วมมือกันกับจีน แต่ในระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้กลับกำลังคุกรุ่นด้วยความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นคู่แข่งขันกันในทางยุทธศาสตร์ ประชาคมระดับโลกไม่เพียงกำลังเป็นประจักษ์พยานของการพิพาทช่วงชิงดินแดนระหว่างประเทศทั้งสองซึ่งยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องเท่านั้น อีกไม่ช้าไม่นานพวกเขายังจะเป็นประจักษ์พยานของการแข่งขันอันเข้มข้นดุเดือดยิ่งกว่านั้นมากมายนัก ในการที่แดนอาทิตย์อุทัยและแดนโสมจะยื้อแย่งช่วงชิงตลาดต่างๆ ในทางเศรษฐกิจตลอดจนอิทธิพลในภูมิภาคแถบนี้
ย้อนหลังกลับไปประมาณช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นการถูกต้องที่จะบอกว่า ในบรรดาประเทศทางเอเชียตะวันออกนั้น มีเพียงจีนกับญี่ปุ่นเท่านั้นซึ่งสามารถแขวนป้ายติดตราบ่งบอกความเป็น “มหาอำนาจระดับโลก” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ เนื่องจากประเทศทั้ง 2 ต่างเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและทางการทหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออก ทว่ามาถึงวันนี้ พวกนักวิเคราะห์จะต้องรวมเอาเกาหลีใต้เข้าไว้ในกลุ่มนี้ด้วย
กระแสเกาหลี ได้กลายเป็น “ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น” ในเวอร์ชั่นของเกาหลีใต้ไปแล้ว แต่จากการที่เกาหลีใต้ผงาดเด่นขึ้นมาในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลกเช่นนี้ จะนำพาให้โสมขาวเคลื่อนตัวอยู่บนเส้นทางที่จะต้องชนปะทะกับผู้เป็นศัตรูเก่าของตนเข้าจนได้ ด้วยเหตุนี้ ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ ของความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เพื่อที่จะได้กำหนดจุดยืนของพวกเขาเองให้สอดรับกับลู่ทางโอกาสและความเสี่ยงต่างๆ ที่จะบังเกิดขึ้นมา
เจียยุง โล เป็นนักเขียนซึ่งพำนักอยู่ในนครเมลเบิร์น, ออสเตรเลีย สามารถติดตามเขาได้ทางทวิตเตอร์ ที่ @jiehyunglo
บทความนี้ปรากฏอยู่ในส่วน Speaking Freely ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดให้นักเขียนรับเชิญจากภายนอกเขียนแสดงทัศนะความคิดเห็น โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการในระดับเดียวกับพวกนักเขียนที่เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ
South Korea, Japan: a reignited rivalry
By Jieh-Yung Lo
28/03/2013
“เค-ป๊อป” กำลังผงาดขึ้นมาอย่างโดดเด่น ในเวลาเดียวกับที่โลกตะวันตกจืดจางคลายความสนใจในแง่มุมต่างๆ ของวัฒนธรรมป๊อปแบบญี่ปุ่นไปเสียแล้ว หลังจากที่ได้เคยติดบ่วงหลงเสน่ห์อยู่ในช่วงทศวรรษ 1990 เหล่านี้ย่อมเป็นการสะท้อนภาพของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพลวัตแห่งอำนาจของเอเชียตะวันออก โดยที่ “ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ” ในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่น ได้ถูกพัดพาเซซัดเข้าไปในปริมณฑลของความทรงจำ ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ จึงดูเหมือนว่า ถึงแม้โซลกับโตเกียวมีผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและทางความมั่นคงที่เหลื่อมซ้อนร่วมกันอยู่ไม่ใช่น้อย แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็กำลังก้าวเดินเข้าสู่ขั้นตอนอันละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง
เกาหลีใต้กำลังผงาดขึ้นมาอย่างโดดเด่นในอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมความบันเทิงระดับโลก ภาวะเช่นนี้จะนำพาให้โสมขาวเคลื่อนตัวอยู่บนเส้นทางที่จะต้องชนปะทะกับผู้เป็นศัตรูเก่ารายหนึ่งเข้าจนได้
คาบสมุทรเกาหลีและญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์กันอันสลับซับซ้อน โดยมีต้นตอมาจากการเกี่ยวข้องพัวพันกันทั้งในทางวัฒนธรรมและในทางการเมืองเป็นเวลานานนมหลายๆ พันปี ความสลับซับซ้อนดังกล่าวนี้ยิ่งเพิ่มทวีขึ้นอีกจากการที่ญี่ปุ่นซึ่งอยู่ภายใต้ลัทธิมุ่งขยายตัวด้วยการใช้กำลังทหาร ได้เข้ารุกรานยึดครองเกาหลีเป็นอาณานิคมในช่วงต้นๆ ของศตวรรษที่ 20 แล้วส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายยังคงอยู่ในสภาพบูดบึ้งขุ่นเคืองในระยะแห่งยุคสงครามเย็น ถึงแม้ทุกวันนี้ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้มีฐานะเป็นชาติคู่ค้ารายสำคัญของกันและกัน อีกทั้งมีนักศึกษา, บุคคลในวงการธุรกิจ, นักท่องเที่ยว, และผู้ทำงานในแวดวงบันเทิงของแต่ละฝ่าย เดินทางติดต่อระหว่างประเทศทั้งสองเป็นจำนวนมาก
ในอดีตกาลนับตั้งแต่สมัยกลางเป็นต้นมา การเมืองของเอเชียตะวันออกมีท้องเรื่องอันโดดเด่นอยู่ที่ดุลแห่งอำนาจและอิทธิพลระหว่างจีน, ญี่ปุ่น, และคาบสมุทรเกาหลี แต่ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจในช่วงหลังสงครามของญี่ปุ่น ได้มีบทบาทกลายเป็นตัวกำหนดลักษณะสำคัญประการหนึ่งในย่านเอเชีย-แปซิฟิก ความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ตลอดจนการค้าขายระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ได้ขยายตัวเติบใหญ่อย่างน่าตื่นใจภายหลังทั้งสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ขั้นปกติระหว่างกันในปี 1965 ถึงแม้ทั้งสองชาติต่างขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและต่างแข่งขันกันในด้านผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม แต่เวลาเดียวกันก็สามารถเสริมเติมให้แก่กันและกันในด้านอื่นๆ อีกมากมายหลายหลาก
กระนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ซึ่งแม้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทางด้านความมั่นคงแทบจะเหมือนกันไปหมด แต่บ่อยครั้งก็ยังคงตกเป็นเชลยของการทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างอารมณ์เสีย ในประเด็นปัญหาต่างๆ จำนวนหนึ่ง เป็นต้นว่า เนื้อหาในตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นที่หลายๆ ฝ่ายระบุว่ามุ่งแก้ไขบิดเบือนความเป็นจริงในอดีต, การโต้เถียงกันเกี่ยวกับหมู่เกาะด็อคโด/ทาเกชิมะ (Dokdo/Takeshima islets) ในทะเลญี่ปุ่นที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกัน, ตลอดจนการที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในเวลานั้นๆ หลายๆ ราย โดยรายสุดท้ายก็คือ จุนอิชิโร โคอิซูมิ (Junichiro Koizumi) เดินทางไปสักการะศาลเจ้าแห่งสงครามยาสุคุนิ (Yasukuni War Shrine)
ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ย่างก้าวเข้าสู่ขั้นตอนอันละเอียดอ่อนและทำนายคาดการณ์ไม่ถูก ตั้งแต่ที่ผลการเลือกตั้งในแต่ละประเทศทำให้ได้รัฐบาลแนวทางอนุรักษนิยมในเกาหลีใต้ และ ชินโสะ อาเบะ (Shinzo Abe) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว อี มยอง-บัค (Lee Myung-bak) ประธานาธิบดีหัวอนุรักษนิยมของเกาหลีใต้เวลานั้น ได้ประกาศยกเลิกกำหนดการลงนามในสัญญาแลกเปลี่ยนข่าวกรองทางทหารกับญี่ปุ่น รวมทั้งฉีกทิ้งแผนการทวิภาคีที่จะสรุปผลเพื่อจัดทำข้อตกลงจัดหาและเอื้อเฟื้อสัมภาระให้แก่การปฏิบัติงานของกำลังทหารของอีกฝ่ายหนึ่ง (Acquisition and Cross-Servicing Agreement) หลังจากนั้นไม่นานนัก นั่นคือในเดือนสิงหาคม 2012 ประธานาธิบดีอี ยังเดินทางไปเยือนหมู่เกาะด็อคโด/ทาเกชิมะ ซึ่งเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นกำลังช่วงชิงกันอยู่อีกด้วย
ขณะที่มีความสนใจกันอย่างมากมายในเรื่องที่ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างดำเนินโนบายการต่างประเทศว่าด้วยข้อพิพาททางดินแดนด้วยท่าทียืนกรานแข็งกร้าว แต่ดูเหมือนยังคงมีบทวิเคราะห์เพียงจำนวนจำกัด ซึ่งพูดถึงผลกระทบจากการที่อิทธิพลวัฒนธรรมป๊อปของเกาหลีใต้ ทำท่าจะสามารถเข้าแทนที่วัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่นบนเวทีระดับโลก
ระหว่างช่วงทศวรรษ 1980 และทศวรรษ 1990 วัฒนธรรมญี่ปุ่นและอิทธิพลของญี่ปุ่นสามารถขยายตัวออกนอกพรมแดนของตนเองไปไกลกว้างขวาง ด้วยผลิตผลทางวัฒนธรรมอย่างเช่น ดนตรีเจ-ป๊อป, หนังการ์ตูน เอนิเมะ, หนังสือการ์ตูน มังงะ, ภาพยนตร์แนวสยองขวัญ, ตลอดจนความสำเร็จของแบรนด์สินค้าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ของญี่ปุ่นในตลาดต่างแดน แต่ในระยะหลังๆ มานี้ ฐานะความเหนือล้ำและการครอบงำเช่นนี้ของญี่ปุ่น กำลังถูกเกาหลีใต้เข้ามาแข่งขันช่วงชิงและสยบให้แพ้พ่าย ทั้งนี้ผลผลิตด้านบันเทิงของเกาหลีมีการเติบโตขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาแล้ว ยิ่งมาในปีนี้ ท่านผู้ชมท่านผู้ฟังทั่วโลกส่วนที่อยู่นอกเอเชีย ยังได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานถึงผลกระทบอย่างฉับพลันของ “กระแสเกาหลี” (Korean wave) โดยผ่านทางพวกอาร์ตติสต์ เค-ป๊อป อย่างเช่น ไซ
กระแสดังกล่าวนี้ทำให้วัฒนธรรมเกาหลีเป็นที่สนอกสนใจและได้ปรากฏตัวให้เห็นบนเวทีนานาชาติเพิ่มขึ้นมากอย่างชนิดพุ่งพรวด เราน่าที่จะตั้งข้อสมมุติฐานได้อย่างไม่ผิดข้อเท็จจริงนักว่า กระแสเกาหลียังได้ช่วยหล่อหลอมพัฒนาให้แบรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์ของเกาหลีให้มีเสน่ห์และกลายเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว รายงานข่าวระบุว่า ซัมซุง ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกทั้งในเรื่องโทรทัศน์, โทรศัพท์, และชิปความจำที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ต่างๆ สามารถทำผลกำไรได้สูงสุดเป็นสถิติใหม่ ในเวลานี้ซัมซุงกลายเป็นบริษัทผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของเอเชียไปแล้ว
ผลงานเช่นนี้ช่างแตกต่างห่างไกลเหลือเกินกับโซนี่ บริษัทที่เคยเป็นผู้นำในการสร้างชื่อเสียงให้แบรนด์สินค้าญี่ปุ่นในตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มานานปี โดยในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของแดนอาทิตย์อุทัยรายนี้ รายงานอย่างผิดความคาดหวังของบรรดานักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ว่า ต้องประสบการขาดทุนอีกเป็นไตรมาสที่ 7 ติดต่อกันแล้ว สืบเนื่องจากดีมานด์ความต้องการกำลังลดต่ำลง ในเมื่อผู้บริโภคต่างหนีไปหาซัมซุง แนวโน้มเช่นนี้ยังสะท้อนให้เห็นด้วยเหมือนกันเมื่อเราเปรียบเทียบมูลค่าเงินตราของประเทศทั้ง 2 ทั้งนี้เงินเยนญี่ปุ่นเมื่อแลกเปลี่ยนกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเดือนพฤศจิกายน ได้ลดมูลค่าลงสู่ระดับอ่อนตัวที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมาทีเดียว ทว่าในเวลาเดียวกันนั้น เงินวอนของเกาหลีใต้กลับแข็งโป๊กขึ้นสู่ระดับมีมูลค่าสูงที่สุดในรอบ 14 เดือน หากนำสกุลเงินตราทั้ง 2 สกุลมาเปรียบเทียบกันเอง นับตั้งแต่สิ้นเดือนมิถุนายนปีที่แล้วเป็นต้นมา เงินวอนก็แข็งขึ้นราว 9% ในการแลกเปลี่ยนกับเงินเยน
ขณะที่ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างมีวัตถุประสงค์ทางด้านนโยบายการต่างประเทศในทำนองเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการธำรงรักษาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่มีอยู่กับสหรัฐฯ และการสร้างสายสัมพันธ์แห่งความร่วมมือกันกับจีน แต่ในระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้กลับกำลังคุกรุ่นด้วยความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นคู่แข่งขันกันในทางยุทธศาสตร์ ประชาคมระดับโลกไม่เพียงกำลังเป็นประจักษ์พยานของการพิพาทช่วงชิงดินแดนระหว่างประเทศทั้งสองซึ่งยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องเท่านั้น อีกไม่ช้าไม่นานพวกเขายังจะเป็นประจักษ์พยานของการแข่งขันอันเข้มข้นดุเดือดยิ่งกว่านั้นมากมายนัก ในการที่แดนอาทิตย์อุทัยและแดนโสมจะยื้อแย่งช่วงชิงตลาดต่างๆ ในทางเศรษฐกิจตลอดจนอิทธิพลในภูมิภาคแถบนี้
ย้อนหลังกลับไปประมาณช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นการถูกต้องที่จะบอกว่า ในบรรดาประเทศทางเอเชียตะวันออกนั้น มีเพียงจีนกับญี่ปุ่นเท่านั้นซึ่งสามารถแขวนป้ายติดตราบ่งบอกความเป็น “มหาอำนาจระดับโลก” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ เนื่องจากประเทศทั้ง 2 ต่างเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและทางการทหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออก ทว่ามาถึงวันนี้ พวกนักวิเคราะห์จะต้องรวมเอาเกาหลีใต้เข้าไว้ในกลุ่มนี้ด้วย
กระแสเกาหลี ได้กลายเป็น “ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น” ในเวอร์ชั่นของเกาหลีใต้ไปแล้ว แต่จากการที่เกาหลีใต้ผงาดเด่นขึ้นมาในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลกเช่นนี้ จะนำพาให้โสมขาวเคลื่อนตัวอยู่บนเส้นทางที่จะต้องชนปะทะกับผู้เป็นศัตรูเก่าของตนเข้าจนได้ ด้วยเหตุนี้ ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ ของความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เพื่อที่จะได้กำหนดจุดยืนของพวกเขาเองให้สอดรับกับลู่ทางโอกาสและความเสี่ยงต่างๆ ที่จะบังเกิดขึ้นมา
เจียยุง โล เป็นนักเขียนซึ่งพำนักอยู่ในนครเมลเบิร์น, ออสเตรเลีย สามารถติดตามเขาได้ทางทวิตเตอร์ ที่ @jiehyunglo
บทความนี้ปรากฏอยู่ในส่วน Speaking Freely ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดให้นักเขียนรับเชิญจากภายนอกเขียนแสดงทัศนะความคิดเห็น โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการในระดับเดียวกับพวกนักเขียนที่เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ