xs
xsm
sm
md
lg

ว่าที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ประกาศ “ชิงลงมือก่อน” ป้องวอน-ต้านเยนอ่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พัค กึน-ฮเย ว่าที่ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้
เอเอฟพี - พัค กึน-ฮเย ว่าที่ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ แย้มพร้อมชิงลงมือก่อนเพื่อรักษาเสถียรภาพเงินวอน ปกป้องผู้ส่งออกที่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ โดยเฉพาะหลังจากที่เยนอ่อนยวบ ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นแผนของโตเกียวในการปกป้องความสามารถแข่งขันของบริษัทญี่ปุ่นในตลาดส่งออก

พัค ที่มีกำหนดสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันจันทร์ (25) ที่จะถึงนี้ กล่าวกับพวกผู้นำธุรกิจในกรุงโซลเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20) ว่า เธอตระหนักดีถึงความสำคัญของเสถียรภาพค่าเงินที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกเฉกเช่นเกาหลีใต้

“เราจะชิงโจมตีก่อนด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทของเราประสบปัญหา” โฆษกของ พัค อ้างอิงคำพูดของว่าที่ผู้นำหญิง

ความคิดเห็นนี้มีขึ้นไม่กี่วันหลังจากที่ประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่ม จี20 ในมอสโก พยายามบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับเค้าลาง “สงครามเศรษฐกิจ” ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

ความกังวลดังกล่าวถูกกระตุ้นจากการดิ่งฮวบของค่าเงินเยนในระยะหลังๆ มานี้ ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่า เป็นแผนของโตเกียวเพื่อให้ผู้ผลิตภายในประเทศได้เปรียบในการแข่งขันเหนือคู่แข่งร่วมทวีปในตลาดส่งออกสำคัญ

ที่เกาหลีใต้ การอ่อนค่าของเงินเยนเกิดขึ้นพร้อมกับที่เงินวอนขยับแข็งโป๊ก โดยในปีที่ผ่านมาสกุลเงินแดนกิมจิเมื่อเทียบดอลลาร์ได้แข็งค่ากว่า 8% และเมื่อเทียบเยน ก็มีค่าสูงขึ้นเกือบ 7% ในปีนี้ หลังจากแข็งขึ้นถึง 21% เมื่อปีที่แล้ว

ฮุนได มอเตอร์ ผู้ผลิตรถอันดับ 5 ของโลก แถลงว่า กำไรจากการดำเนินงานในไตรมาสสุดท้ายปี 2012 ลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเนื่องจากการแข็งค่าของเงินวอน และการที่คู่แข่งแดนปลาดิบมีความสามารถแข่งขันด้านราคามากขึ้น

ปัจจัยเดียวกันนี้ได้ฉุดให้กำไรจากการดำเนินงานของเกีย ค่ายรถขนาดเล็กกว่าซึ่งอยู่ในเครือฮุนได ร่วงลงถึง 51% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ด้านซัมซุง ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและชิปความจำชั้นนำของโลก เตือนว่า การแข็งค่าของเงินวอนอาจทำให้กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทหายไปทันที 3 ล้านล้านวอน (2,700 ล้านดอลลาร์) ในปีนี้

ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันว่า เจ้าหน้าที่การเงินในโซลเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นครั้งคราว เพื่อดำเนิน “มาตรการนุ่มนวล” ในการสกัดสิ่งที่เกาหลีใต้มองว่า เป็นการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่มากเกินไป

นอกจากนั้นแดนกิมจิยังกลัวว่า “เงินร้อน" ที่ไหลเข้าประเทศอาจไหลออกกะทันหันเหมือนที่เคยเกิดขึ้นระหว่างวิกฤตการเงินเอเชียตะวันออกปี 1997-1998 ซึ่งบีบให้เกาหลีใต้ต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
กำลังโหลดความคิดเห็น