อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง มาร์กาเรต แธตเชอร์ แห่งสหราชอาณาจักร สตรีซึ่งคนทั่วโลกให้สมญานามว่า “หญิงเหล็ก” (Iron Lady) ถึงแก่อสัญกรรมแล้วด้วยอาการเส้นโลหิตเลี้ยงสมองอุดตัน เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา สิริรวมอายุได้ 87 ปี
เธอผู้นี้คือนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษยุคใหม่ และเป็นสตรีคนแรกที่ก้าวสู่ตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลของมหาอำนาจตะวันตก เธอชนะการเลือกตั้งทั่วไปติดต่อกันถึง 3 ครั้ง และครองอำนาจอยู่เป็นเวลารวมทั้งสิ้น 11 ปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 1979 จนถึงเดือนมีนาคม ปี 1990 แธตเชอร์ นำสหราชอาณาจักรอังผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ มามากมาย ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่กับสหภาพแรงงาน, การทำสงครามชิงหมู่เกาะฟอล์กแลนด์กับอาร์เจนตินา หรือแม้แต่การปฏิเสธที่จะนำอังกฤษเข้าร่วมสหภาพยุโรปอย่างไม่ไยดี
หลายปีมานี้ แธตเชอร์ แทบไม่ได้ปรากฎตัวต่อสาธารณชนเนื่องจากป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม และเพิ่งเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะเมื่อปีที่แล้ว
รัฐบาลอังกฤษเตรียมจัดพิธีศพแก่ แธตเชอร์ อย่างสมเกียรติด้วยพิธีเกียรติยศทางทหาร ณ มหาวิหารเซนต์ปอล กรุงลอนดอน ในวันพุธที่ 17 เมษายนนี้ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ถึงขั้นเป็นรัฐพิธี แต่ในประวัติศาสตร์อังกฤษก็มีเพียงเซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล เท่านั้นที่เคยได้รับเกียรติถึงขั้นนี้
สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ทรงส่งพระราชสาส์นแสดงความเสียพระทัยไปยังครอบครัวของ แธตเชอร์ ขณะที่นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ก็รีบเดินทางกลับจากยุโรปก่อนกำหนด และแถลงถ้อยคำอาลัยถึงสตรีผู้นี้ว่า “ผมรู้สึกเสียใจอย่างยิ่ง เมื่อได้ทราบข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของ เลดี แธตเชอร์ เราต้องสูญเสียผู้นำที่ยิ่งใหญ่ นายกรัฐมนตรีที่ยิ่งใหญ่และชาวอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ไป... มาร์กาเรต แธตเชอร์ ไม่เพียงเคยเป็นผู้นำประเทศของเราเท่านั้น แต่ยังรักษาบ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัยมาจนทุกวันนี้”
สื่อรัฐบาลจีนยกย่องว่า แธตเชอร์ เป็นผู้นำที่ “โดดเด่น” และรู้จักประนีประนอมอย่างชาญฉลาดเกี่ยวกับอนาคตของเกาะฮ่องกง ขณะที่ มิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีและรัฐบุรุษแห่งสหภาพโซเวียต เอ่ยถึง แธตเชอร์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการยุติสงครามเย็นว่า “มาร์กาเรต แธตเชอร์ จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์โลกในฐานะนักการเมืองที่ยิ่งใหญ่ และบุคคลที่ฉลาดหลักแหลม เธอจะอยู่ในความทรงจำของเรา และจะอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ตลอดไป”
แม้จะเป็นที่เคารพรักของประชาชนจำนวนมาก แต่ก็มีคนอังกฤษอีกไม่น้อยที่ “สาบส่ง” แธตเชอร์ มีรายงานว่า ชาวอังกฤษหลายพื้นที่จัดปาร์ตี้ฉลองอสัญกรรมของหญิงเหล็ก ซึ่งทำให้หวนนึกถึงการประท้วงของคนงานเหมืองแร่ สหภาพแรงงาน และผู้ต่อต้านการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นแบบใหม่ในสมัยการปกครองประเทศของเธอ เมื่อช่วงทศวรรษ 1980 ที่บางครั้งก็ลุกลามจนกลายเป็นเหตุจลาจล
กว่าจะมาเป็น “หญิงเหล็ก”
มาร์กาเรต แธตเชอร์ มีชื่อเดิมว่า มาร์กาเรต ฮิลดา โรเบิร์ตส์ (Margaret Hilda Roberts) เกิดในปี 1925 ที่ตำบลแกรนแธม ทางภาคตะวันออกของเขตการปกครองอังกฤษ บิดาชื่อ อัลเฟรด เป็นเจ้าของร้านขายของชำ และเป็นผู้ที่มีบทบาทในการเมืองท้องถิ่น
แธตเชอร์ เริ่มศึกษาเล่าเรียนในชั้นต้นที่โรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่ง ก่อนจะสอบเข้าศึกษาวิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หลังจากนั้นเธอได้ศึกษาต่อทางด้านกฎหมายจนจบเนติบัณฑิตโดยมีความเชี่ยวชาญเรื่องภาษีเป็นพิเศษ เธอสมรสกับ เดนิส แธตเชอร์ พ่อหม้ายนักธุรกิจผู้มั่งคั่ง และมีบุตรฝาแฝดชื่อว่า แครอล และ มาร์ก
แรงบันดาลใจจากบิดาทำให้ แธตเชอร์ เป็นคนกระตือรือร้นในทางการเมือง เมื่ออายุ 34 ปี เธอได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในเขตเลือกตั้งฟินชเลย์ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ในสมัยนั้นอังกฤษยังแทบไม่มีนักการเมืองที่เป็นผู้หญิงเลย
แธตเชอร์ มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในสมัยของนายกรัฐมนตรี เอ็ดเวิร์ด ฮีธ จากพรรคอนุรักษ์นิยมและเคยถูกตั้งฉายาว่า “แธตเชอร์แย่งนมเด็ก” (Thatcher the Milk Snatcher) เพราะไปสั่งยกเลิกโครงการแจกนมโรงเรียน
ความพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งทั่วไปปี 1974 ก่อให้เกิดแรงผลักดันที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในพรรคอนุรักษนิยม แธตเชอร์ สามารถคว้าเก้าอี้ผู้นำพรรคมาครองได้ในปี 1975 และจากนั้นอีก 4 ปี พรรคของเธอก็สามารถครองเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร และเธอก็ได้กินตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรก
แธตเชอร์ มุ่งมั่นฟื้นฟูเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรที่กำลังย่ำแย่หนัก โดยนำนโยบายจำกัดอัตราเงินเฟ้อ ตลอดจนการตัดลดงบประมาณรายจ่ายและการกู้ยืมมาใช้ แต่ปรากฏว่าวิธีของเธอกลับทำให้เศรษฐกิจดิ่งลงเหวยิ่งกว่าเก่า จำนวนคนว่างงานพุ่งพรวดกว่า 3 ล้านคน อุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมหนักที่สู้ไม่ไหวต้องปิดกิจการไปหลายราย และยังเกิดจลาจลตามเมืองใหญ่หลายเมืองในปี 1981 จนหลายคนคาดว่า แธตเชอร์ คงไปไม่รอดในศึกเลือกตั้งครั้งถัดไปเป็นแน่ แต่แล้วการทำสงครามชิงหมู่เกาะฟอล์กแลนด์คืนมาจากอาร์เจนตินาในปี 1982 รวมถึงความปั่นป่วนภายในพรรคแรงงานซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ กลับกลายเป็นแรงหนุนให้เธอชนะศึกเลือกตั้งได้เป็นครั้งที่สอง
รัฐบาลสมัยที่สองของ แธตเชอร์ ต้องเจอปัญหายุ่งยากยิ่งกว่าสมัยแรก ทั้งกรณีการนัดหยุดงานของกรรมกรเหมืองถ่านหินในปี 1984 ตลอดจนความพยายามลอบสังหารตัวเธอและคณะรัฐมนตรีโดยขบวนการ ไออาร์เอ ที่มุ่งแบ่งแยกดินแดนไอร์แลนด์เหนือไปรวมประเทศกับไอร์แลนด์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรเริ่มกระเตื้องขึ้น เนื่องจากแผนปฏิรูปตลาดเสรีและการขายรัฐวิสาหกิจและทรัพย์สินของรัฐเริ่มเห็นผลเป็นที่ประจักษ์
ปี 1987 พรรคของ แธตเชอร์ ชนะเลือกตั้งอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย แธตเชอร์ กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ลอร์ดลิเวอร์พูลในยุคต้นศตวรรษที่ 19 แต่แล้วเส้นทางการเมืองของเธอกลับต้องปิดฉากลงอย่างน่าเสียดาย เมื่อเธอถูกเขี่ยออกจากตำแหน่งด้วยน้ำมือ ส.ส.ของเธอเองในปี 1990 สืบเนื่องจากจุดยืนของเธอที่ไม่ต้องการให้อังกฤษรวมกลุ่มกับประเทศยุโรปอื่นๆ
นโยบายโดดเด่นซึ่งยังคงเป็นที่กล่าวขานถึงเมื่อเอ่ยถึงรัฐบาล แธตเชอร์ ได้แก่ การลดอัตราเงินเฟ้อโดยใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบการเงินนิยม (monetarism), การลิดรอนอำนาจสหภาพแรงงาน, การขายรัฐวิสาหกิจ, การเปิดเสรีตลาดหุ้น และการใช้นโยบายให้ผู้เช่าบ้านของรัฐบาลท้องถิ่นมีสิทธิ์ที่จะซื้อบ้านเหล่านั้นได้
จะว่าไปแล้ว หากไม่มีผู้หญิงที่ชื่อว่า มาร์กาเรต แธตเชอร์ อังกฤษอาจจะเป็นประเทศที่แตกต่างไปจากทุกวันนี้มากมาย แผนการปฏิรูปตลาดเสรีและลิดรอนอำนาจสหภาพแรงงานของเธอซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการโต้แย้งอย่างหนักในช่วงทศวรรษ 1980 นั้น ปัจจุบันได้รับการยอมรับแล้วจากพรรคการเมืองใหญ่ๆ ว่าเป็น “ภูมิปัญญามาตรฐาน” ระบบการเมืองอังกฤษที่ค่อนไปทางขวาเช่นทุกวันนี้ก็เป็นผลพวงจากยุคของเธอ และยิ่งไปกว่านั้น แธตเชอร์ ยังมีคุณสมบัติคู่ควรเป็นแบบอย่างสำหรับนักการเมืองหญิงโดยแท้
มาร์กาเรต แธตเชอร์ ได้รับยกย่องว่าเป็นไอดอลของกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาทั่วโลก เช่นเดียวกับอดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ รีแกน แห่งสหรัฐฯ