บีบีซีนิวส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - มาร์กาเรต แธตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีเจ้าของฉายา “หญิงเหล็ก” แห่งสหราชอาณาจักร ถึงแก่อสัญกรรมในช่วงเช้าของวันจันทร์ (8) ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยอาการเส้นโลหิตหล่อเลี้ยงสมองอุดตัน หลังจากสุขภาพย่ำแย่มาหลายปี คำถามและคำตอบดังต่อไปนี้ น่าจะช่วยให้เรารู้จักตัวเธอตลอดจนความสำเร็จและความล้มเหลวของเธอได้ดียิ่งขึ้น
มาร์กาเรต แธตเชอร์ คือใคร?
มาร์กาเรต แธตเชอร์ ซึ่งเกิดเมื่อปี 1925 สิริอายุ 87 ปี คือนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรที่อยู่ในตำแหน่งอย่างยาวนานที่สุดในยุคสมัยใหม่ และก็เป็นหัวหน้ารัฐบาลของชาติตะวันตกรายใหญ่คนแรกที่เป็นผู้หญิง เธอชนะการเลือกตั้งทั่วไปติดต่อกันถึง 3 ครั้ง และครองอำนาจอยู่ในทำเนียบถนนดาวนิ่ง เป็นเวลารวมทั้งสิ้น 11 ปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 1979 ถึงเดือนมีนาคม 1990
ผลงานความสำเร็จของเธอมีอะไรบ้าง?
ในช่วงเวลาแห่งการปกครองประเทศของมาร์กาเรต แธตเชอร์ สังคมสหราชอาณาจักรเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดแทบจะจำกันไม่ได้ โดยที่พวกอุตสาหกรรมหนักทั้งหลายพากันปิดตายล่มสลายไป ขณะที่เศรษฐกิจตลาดเสรีอย่างใหม่ๆ ถือกำเนิดและเติบใหญ่ ปรัชญาการเมืองที่เธอสถาปนาขึ้นมายังคงมีอิทธิพลครอบงำการเมืองสหราชอาณาจักรอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่ก็มีนักวิจารณ์ที่เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้บังเกิดขึ้นมาได้ในสภาพที่สังคมเกิดการแบ่งแยกกันหนักหน่วงยิ่งขึ้น และชุมชนผู้ใช้แรงงานแบบดั้งเดิมก็ถูกทำลายย่อยยับไป
แล้วผลงานความสำเร็จในระดับเวทีระหว่างประเทศล่ะ?
มาร์กาเรต แธตเชอร์ ได้จับมือร่วมแรงร่วมใจกับประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ ในการบุกเบิกแนวความคิดอนุรักษนิยมรูปแบบใหม่ ที่เป็นลัทธิอนุรักษนิยมซึ่งเน้นตลาดเสรีที่มีพลังมีชีวิตชีวา และนับแต่นั้นมาแนวความคิดเช่นนี้ก็หยั่งรากแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก เธอยังให้ความสนับสนุน มิคาอิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีหัวปฏิรูปของสหภาพโซเวียต ซึ่งหลายๆ ฝ่ายให้เครดิตว่ามีส่วนเร่งรัดให้ยุคสงครามเย็นยุติปิดฉากลง และเกิดการแผ่ขยายของระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกไปยังบรรดารัฐในยุโรปตะวันออกที่เคยอยู่ในความครอบงำของโซเวียต
เธอมีประวัติความเป็นมาอย่างไร?
เธอมีชื่อเดิมก่อนแต่งงานว่า มาร์กาเรต ฮิลดา โรเบิร์ตส์ (Margaret Hilda Roberts) เกิดเมื่อปี 1925 ในตำบลแกรนแธม (Grantham) ตำบลค้าขายเล็กๆ ในภาคตะวันออกของเขตการปกครองอังกฤษ (England) บิดาของเธอที่ชื่อ อัลเฟรด เป็นเจ้าของร้านขายของชำและเป็นผู้ที่มีบทบาทอยู่ในการเมืองท้องถิ่น ครอบครัวนี้มีบุตร 2 คนเป็นหญิงทั้งคู่ โดยที่มาร์กาเรตเป็นน้องสาว เธอเข้าเรียนในโรงเรียนธรรมดาที่เป็นโรงเรียนหญิงล้วน จากนั้นจึงเข้าศึกษาวิชาเคมี ณ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ผ่านไปอีกหลายปีเธอจึงไปศึกษาต่อทางด้านกฎหมายจนจบเนติบัณฑิต โดยที่มีความชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องภาษี เธอแต่งงานกับ เดนิส แธตเชอร์ พ่อหม้ายหย่าร้างที่เป็นนักธุรกิจมั่งคั่งระดับเศรษฐีเงินล้าน และมีบุตรด้วยกัน 2 คนที่เป็นฝาแฝด ชื่อ แครอล กับ มาร์ก
แล้วเธอกลายเป็นนักการเมืองไปได้อย่างไร?
อันที่จริงแล้ว มาร์กาเรต แธตเชอร์ มีความใฝ่ใจกระตือรือร้นในเรื่องการเมืองอยู่ตลอดทั้งชีวิต สืบเนื่องจากการปลูกฝังของคุณพ่ออัลเฟรด ซึ่งเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นในแกรนแธม เมื่อตอนศึกษาอยู่ที่ออกซฟอร์ดในช่วงกลางทศวรรษ 1940 เธอก็กลายเป็นประธานหญิงคนแรกของสมาคมชาวอนุรักษนิยมของมหาวิทยาลัย ในปี 1959 ขณะอายุได้ 34 ปี เธอได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในเขตเลือกตั้งฟินชเลย์ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ในยุคสมัยที่นักการเมืองสตรียังมีอยู่น้อยมาก
เธอขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้อย่างไร?
ชีวิตการเมืองของ มาร์กาเรต แธตเชอร์ เผชิญความยากลำบากทีเดียวหลังจากที่ เอดเวิร์ด ฮีธ ผู้นำพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งให้เธอเป็นรัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการในปี 1970 เธอถูกตั้งฉายาอย่างเสียๆ หายๆ ว่า “แธตเชอร์นักแย่งนมเด็ก” (Thatcher the milk snatcher) หลังจากเธอตัดสินใจยุติการแจกนมโรงเรียนให้แก่เด็กนักเรียนชั้นประถมปลายๆ เวลานั้นลู่ทางโอกาสที่เธอจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำพรรค อย่าว่าแต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเลย ยังดูห่างไกลเสียเหลือเกิน อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่พรรคอนุรักษนิยมพ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งที่สองในปี 1974 ก็มีความปรารถนาอันแรงกล้าภายในพรรคที่จะทดลองค้นหาวิถีทางที่แตกต่างออกไปจากเดิม และสิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้คนจำนวนมาก แม้กระทั่งตัวเธอเอง ก็คือ เธอสามารถเอาชนะ ฮีธ ได้ในการแข่งขันชิงตำแหน่งผู้นำพรรคในปี 1975 จากนั้นอีก 4 ปีพรรคของเธอสามารถครองเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 43 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร และเธอก็ได้นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก
ในช่วงปีแรกๆ ที่เธอครองอำนาจมีอะไรสำคัญเกิดขึ้นบ้าง?
มาร์กาเรต แธตเชอร์ มีความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแอย่ำแย่ของสหราชอาณาจักร ทว่ายาที่เธอเลือกใช้ ซึ่งได้แก่การจำกัดอัตราเงินเฟ้อให้ลงต่ำ ตลอดจนการตัดลดทั้งงบประมาณรายจ่ายและการกู้ยืม ทำให้เศรษฐกิจดิ่งลงเหวอย่างเลวร้ายยิ่งกว่าที่ผู้คนส่วนมากคาดคิดกัน อัตราการว่างงานพุ่งพรวดขึ้นสู่ระดับมากกว่า 3 ล้านคน ในขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมหนักจำนวนมากของสหราชอาณาจักรต้องยุติกิจการ ภายในเขตชั้นในของเมืองใหญ่ๆ ในเขตการปกครองอังกฤษเกิดการจลาจลหลายครั้งในปี 1981 การที่เธอปฏิเสธไม่ยอมถอยไม่ยอมยูเทิร์นเปลี่ยนนโยบาย (ซึ่งเป็นสิ่งที่ เอดเวิร์ด ฮีธ นายกรัฐมนตรีพรรคอนุรักษนิยมคนก่อนเคยยินยอมทำ) หมายความว่าเธอทำท่าจะเดินหน้าเข้าสู่ความพ่ายแพ้ปราชัยในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่แล้วสงครามฟอล์คแลนด์ (ซึ่งเธอส่งกองกำลังเฉพาะกิจทางนาวีไปตีหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ซึ่งอยู่ทางแอตแลนติกใต้ คืนมาจากอาร์เจนตินาที่บุกเข้าไปยึดครองเอาไว้ได้สำเร็จ) ตลอดจนการที่พรรคคู่แข่งสำคัญที่สุดอย่างพรรคแรงงานก็เกิดความปั่นป่วนและมีนโยบายเอียงซ้ายกระเท่เร่ สาเหตุ 2 ประการนี้เองซึ่งเห็นกันว่าได้ช่วยเหลือทำให้เธอกลับเป็นผู้ชนะได้อีกครั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2
แล้วในสมัยที่สองของเธอเกิดอะไรสำคัญๆ ขึ้นบ้าง?
มาร์กาเรต แธตเชอร์ ได้รับการเลือกตั้งกลับมาอีกครั้งด้วยชัยชนะแบบถล่มทลายในปี 1983 ท่ามกลางกระแสความรู้สึกรักชาติภายหลังสงครามฟอล์กแลนด์ ทว่าสมัยที่สองของเธอก็ต้องเผชิญความปั่นป่วนยุ่งเหยิงหนักหน่วงกว่าในสมัยแรกด้วยซ้ำ โดยหนึ่งในความยุ่งยากที่ว่านี้ได้แก่กรณีการนัดหยุดงานอย่างยืดเยื้อของกรรมกรเหมืองถ่านหินเมื่อปี 1984 ซึ่งกลายเป็นการพิพาททางอุตสาหกรรมครั้งยาวนานที่สุดและครั้งขมขื่นที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร นอกจากนั้นในเดือนตุลาคมของปีนั้น ขณะที่การนัดหยุดงานยังดำเนินอยู่ ขบวนการไออาร์เอที่มุ่งแบ่งแยกดินแดนไอร์แลนด์เหนือไปรวมประเทศกับไอร์แลนด์ ได้พยายามก่อเหตุสังหารทั้งนายกฯแธตเชอร์และคณะรัฐมนตรีของเธอ ด้วยการวางระเบิดโรงแรมที่พักของเธอในระหว่างที่พรรคอนุรักษนิยมจัดการประชุมใหญ่ขึ้นที่เมืองไบรตัน อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงตอนปลายๆ ของสมัยที่สองของเธอ เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรกระเตื้องดีขึ้นสืบเนื่องจากแผนการปฏิรูปตลาดเสรีด้านต่างๆ และการขายรัฐวิสาหกิจตลอดจนทรัพย์สินของรัฐอื่นๆ เริ่มบังเกิดผล
สมัยที่ 3 ของเธอล่ะ?
พรรคอนุรักษนิยมชนะด้วยคะแนนถล่มทลายเป็นครั้งที่ 2 ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 1987 โดย มาร์กาเรต แธตเชอร์ กลับคืนสู่ทำเนียบถนนดาวนิ่งด้วยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งถึง 102 ที่นั่ง อีกทั้งกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องอย่างยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ลอร์ดลิเวอร์พูลในยุคต้นศตวรรษที่ 19 วาระที่สามของเธอมีความโดดเด่นในจุดที่เธอเดินแนวทางแข็งกร้าวกับยุโรปมากขึ้น และการดำเนินการปฏิรูปทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องด้วยแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนการขยายโครงการให้โอกาสผู้เช่าบ้านพักอาศัยของทางการท้องถิ่นต่างๆ ได้ซื้อบ้านเป็นกรรมสิทธิ์ และการให้ประชาชนได้ซื้อหุ้นเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจที่ถูกแปรรูปเป็นกิจการมหา
แล้วยังไงเธอถึงหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี?
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอถือว่าเป็นฉากอันน่าตื่นเต้นที่สุดฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองทีเดียว มาร์กาเรต แธตเชอร์ ถูกเขี่ยออกจากตำแหน่งด้วยน้ำมือของ ส.ส.ของเธอเอง หลังจากชัยชนะอย่างถล่มทลายในปี 1987 ผ่านพ้นไป 3 ปี ในบรรยากาศที่ประชาชนกำลังโกรธเกรี้ยวระบบจัดเก็บภาษีสำหรับรัฐบาลท้องถิ่นแบบใหม่อยู่นั้น การที่รัฐมนตรีต่างประเทศ เจฟฟรีย์ ฮาว ผู้จงรักภักดีต่อเธออย่างยิ่งยวด ตัดสินใจยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง สืบเนื่องจากจุดยืนของแธตเชอร์ที่ระแวงสงสัยไม่เอาด้วยการรวมตัวของยุโรปเพิ่มมากขึ้นทุกที ในที่สุดแล้วก็กลายเป็นชนวนแห่งการล้มคว่ำของเธอ หลังจากที่พวกชาวพรรคอนุรักษนิยมอาวุโสแจ้งให้เธอทราบว่า เธอจะปราชัยในการเลือกตั้งผู้นำพรรคครั้งใหม่ ทั้งนี้เธอไม่เคยนำพาพรรคพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดๆ เลย
การปฏิรูปภายในประเทศที่ถือว่าสำคัญๆ ของเธอมีอะไรบ้าง?
การหาทางสกัดอัตราเงินเฟ้อโดยใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบการเงินนิยม (monetarism), การลิดรอนอำนาจของพวกสหภาพแรงงาน, การขายบรรดากิจการรัฐวิสาหกิจผูกขาด, การเปิดเสรีตลาดหุ้น, และการใช้นโยบายให้ผู้เช่าบ้านของรัฐบาลท้องถิ่นมีสิทธิที่จะซื้อบ้านเหล่านั้น
มรดกที่สำคัญของเธอมีอะไรบ้าง?
ถ้าหากไม่มีมาร์กาเรต แธตเชอร์แล้ว สหราชอาณาจักรอาจจะเป็นประเทศที่แตกต่างไปจากทุกวันนี้เป็นอย่างมาก การดำเนินการปฏิรูปตลาดเสรีและการลิดรอนอำนาจของพวกสหภาพแรงงานอย่างห้าวหาญของเธอ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการโต้แย้งกันหนักหน่วงในช่วงทศวรรษ 1980 นั้น ปัจจุบันได้รับการยอมรับจากพรรคการเมืองกระแสหลักทุกๆ พรรคในสหราชอาณาจักรโดยทั่วถ้วน ว่าเป็นภูมิปัญญามาตรฐานไปแล้ว พื้นที่ตรงกลางของการเมืองสหราชอาณาจักรมีการขยับเอนเอียงไปทางขวาดังเช่นขณะนี้ คือผลลัพธ์จากช่วงเวลาที่เธออยู่ในอำนาจ ยิ่งไปกว่านั้น เธอคือภาพลักษณ์และแบบอย่างในระดับโลกสำหรับนักการเมืองผู้หญิงโดยแท้ และเธอกับ โรนัลด์ เรแกน ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลสูงส่งของกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาทั่วโลกอีกด้วย