เอเจนซีส์ - เกาหลีใต้และสหรัฐฯยังคงสถานะการระวังภัยในระดับสูงจากขีปนาวุธของโสมแดง โดยที่เพนตากอนเตือนเปียงยางว่าขยับเข้าใกล้เขตแดนซึ่งอันตรายมาก ขณะที่เกาหลีเหนือเองกลับหันไปสนใจงานเฉลิมฉลองตระกูลคิม และเพลาการข่มขู่ที่จะเปิดสงครามลงมา อย่างไรก็ตาม ไต้หวันกลายเป็นรายแรกที่ออกประกาศเตือนพลเมืองให้งดเดินทางสู่แดนโสมขาว
ขณะที่ทั่วโลกยังระแวดระวังคำข่มขู่ทำสงครามจากเกาหลีเหนือ สื่อทางการเปียงยางในวันพฤหัสบดี (11) กลับพุ่งความสนใจไปยังพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 1 ปีของการที่ คิม จองอึน เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการคนที่หนึ่ง ของพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า พรรคผู้ใช้แรงงานเกาหลี ในวันพฤหัสบดี (11) นี้ ตลอดจนวันคล้ายวันเกิดของ คิม อิลซุง ผู้ก่อตั้งประเทศผู้ล่วงลับ ในวันจันทร์หน้า (15)
สื่อเกาหลีเหนือรายงานว่า พวกผู้แทนจากชาติต่างๆ เริ่มเดินทางถึงเปียงยางเพื่อร่วมพิธีฉลอง ซึ่งเป็นหนึ่งในวันสำคัญที่สุดในปฏิทินของประเทศที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวอย่างที่สุดรายนี้
โรดง ซินมุน หนังสือพิมพ์ที่เป็นกระบอกเสียงของพรรคผู้ใช้แรงงานเกาหลี สรรเสริญคิม จองอึน ว่าเป็น “บุรุษหมายเลข 1 ผู้เชื่อมั่นและเด็ดเดี่ยว” พร้อมยกความดีความชอบให้แก่เขาสำหรับความสำเร็จในการยิงจรวดพิสัยไกลในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ตลอดจนการทดสอบนิวเคลียร์ใต้ดินในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การยิงจรวดและทดสอบ “นุก” ดังกล่าว ได้ถูกตอบโต้ด้วยมาตรการลงโทษคว่ำบาตรเพิ่มเติมจากสหประชาชาติ หลังจากนั้นเปียงยางก็ออกมาข่มขู่รายวันว่าจะเปิดฉากทำสงครามถล่มอเมริกาและเหล่าพันะมิตรไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น โดยที่อาจจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ด้วย
รายงานของหน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้ระบุว่า เปียงยางไม่ได้เพียงแค่ขู่ลอยๆ หากได้จัดเตรียมขีปนาวุธ 5 ลูกที่พร้อมยิงทุกขณะไว้ที่ชายฝั่งด้านตะวันออก โดยที่ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากเชื่อว่า เพื่อเป็นการรักษาหน้า อย่างน้อยที่สุดเกาหลีเหนือน่าที่จะทดสอบยิงขีปนาวุธเหล่านี้ในระหว่างช่วงเวลานี้จนถึงวันที่ 15
ข่าวบอกว่า ขีปนาวุธดังกล่าวเป็นแบบมูซูดัน ที่โสมแดงคุยว่ามีพิสัยทำการ 4,000 กิโลเมตร นั่นคือสามารถไปไกลถึงเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอาจรวมถึงฐานทัพอเมริกันบนเกาะกวม
การยิงขีปนาวุธยังอาจเกิดขึ้นประจวบกับการเยือนกรุงโซลของจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และแอนเดอร์ส ราสมุสเซน เลขาธิการองค์การนาโต ในวันศุกร์ (12)
ทางด้าน ชัค เฮเกล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) แถลงในวันพุธว่า “จากคำข่มขู่และความเคลื่อนไหวต่างๆ ถือได้ว่า เกาหลีเหนือเข้าใกล้เขตแดนอันตรายมาก กระนั้น ประเทศของเราก็เตรียมพร้อมเต็มพิกัดในการรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนการดำเนินการหรือการยั่วยุใดๆ ก็ตามจากเกาหลีเหนือ”
ในวันเดียวกันนั้น กองบัญชาการทหารร่วมเกาหลีใต้-สหรัฐฯ ได้ยกระดับสถานะการเตือนภัย “วอตช์คอน” จากระดับ 3 เป็นระดับ 2 ซึ่งแปลว่า กำลังเผชิญ “ภัยคุกคามที่มีความสำคัญยิ่ง” ขณะที่กองกำลังตำรวจแห่งชาติของเกาหลีใต้มีการเตรียมพร้อมระดับสูงเช่นเดียวกัน
สัปดาห์ที่แล้ว เกาหลีเหนือแจ้งให้พวกนักการทูตต่างชาติอพยพจากเปียงยางภายในวันที่ 10 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นจึงออกคำเตือนให้ชาวต่างชาติออกไปจากเกาหลีใต้ เนื่องจากมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าคาบสมุทรเกาหลีอาจเกิดสงครามเทอร์โมนิวเคลียร์
กระนั้น สหภาพยุโรป (อียู) ระบุในวันพุธว่า 7 ชาติสมาชิกอียูที่มีสถานทูตในเปียงยาง ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องอพยพเจ้าหน้าที่ออกจากประเทศดังกล่าว อีกทั้งไม่คิดว่ามีความเสี่ยงสำหรับพลเมืองอียูที่ในเกาหลีใต้
ทว่า ทั่วโลกยังคงกังลกับความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี
โกลบอลไทมส์ หนังสือพิมพ์ขายดีที่อยู่ในเครือของ เหรินหมิน รึเป้า กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ออกบทบรรณาธิการในฉบับวันพฤหัสบดี (11) ระบุว่า เกาหลีเหนือต้องแสดงความรับผิดชอบในการรักษาสันติภาพ
“เปียงยางควรที่จะโยนทิ้งมายาภาพของตนเองที่ว่า สามารถทำให้โลกยังคงอยู่นิ่งเฉยต่อไปต่อหน้าความปรารถนาของตนที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ ด้วยการใช้จุดยืนอันแข็งกร้าวและการหลอกลวงต่างๆ” บทบรรณาธิการนี้เตือนตรงไปตรงมา “เราเชื่อว่าเกาหลีเหนือยังคงมีโอกาส และเราเสียใจที่เกาหลีเหนือกำลังอยู่ในสภาพติดหล่มในวิกฤตคราวนี้ เราหวังว่าวิกฤตนี้เป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเท่านั้น”
ขณะที่ เซียร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เตือนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหลีกเลี่ยงการทำให้วิกฤตบานปลาย และย้ำว่า มอสโกกับวอชิงตันกำลังร่วมมือกันใกล้ชิดในประเด็นนี้
ขณะเดียวกัน ไต้หวันกลายเป็นประเทศและเขตแคว้นแรกที่ออกมาบอกให้พลเมืองชะลอการเดินทางไปยังเกาหลีใต้ เนื่องจากเป็นห่วงสถานการณ์ความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลี
วันพุธที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันออกคำแถลงให้พลเมืองชะลอการเดินทางไปยังแดนโสมขาวเพื่อทำธุรกิจ ท่องเที่ยว หรือศึกษา ขณะที่สำนักงานตัวแทนของไทเปในเกาหลีใต้จัดทีมเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น