เอเอฟพี - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เรียกร้องให้รัฐบาลนานาชาติลดการอุดหนุนราคาน้ำมันและเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ เพราะนอกจากจะส่งผลเสียต่อสถานะทางการคลังแล้ว ยังเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนร่ำรวยมากกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย
รายงานของไอเอ็มเอฟชี้ว่า การอุดหนุนราคาน้ำมัน, ปิโตรเลียม และไฟฟ้า แม้มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคก็จริง แต่ท้ายที่สุดกลับเป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชน เนื่องจากรัฐบาลต้องแบกรับต้นทุนมหาศาลเอาไว้
นโยบายอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงยังมีส่วนกระตุ้นให้คนใช้พลังงานกันอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งเท่ากับไม่ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน และเป็นการเพิ่มมลภาวะซึ่งก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน
ข้อมูลจากไอเอ็มเอฟระบุว่า ในปี 2011 รัฐบาลทั่วโลกใช้เงินอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงรวมกันสูงถึง 480,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากนับรวมเงินอุดหนุนหลังหักภาษี (post-tax subsidies) วงเงินที่รัฐบาลต่างๆ อุดหนุนราคาเชื้อเพลิงจะสูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
งบประมาณส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่ออุดหนุนภาคการส่งออกน้ำมัน ซึ่งเท่ากับส่งเสริมให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้จนร่อยหรอเร็วขึ้น
ราคาก๊าซและน้ำมันที่ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อผู้นำเข้าเชื้อเพลิง ซึ่งหลายรายไม่สามารถขึ้นราคาจำหน่ายในประเทศให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยอุดหนุนมากขึ้น
“ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราทราบว่ารัฐบาลหลายประเทศใช้งบอุดหนุนเชื้อเพลิงสูงมาก จนแทบจะแบกรับไว้ไม่ไหว” เดวิด ลิปตัน รองผู้อำนวยการฝ่ายจัดการคนที่หนึ่งของไอเอ็มเอฟ กล่าวระหว่างแถลงรายงานที่กรุงวอชิงตัน
“ในบางประเทศการขาดดุลงบประมาณถึงขั้นจัดการไม่ได้ ส่งผลถึงเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวม”
ลิปตันชี้ว่า หลายประเทศที่ใช้นโยบายอุดหนุนเชื้อเพลิงเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนเริ่มตระหนักแล้วว่า วิธีเช่นนี้จะทำให้รัฐกลายเป็น “อัมพาตทางการคลัง” และยังเผชิญปัญหาเชื้อเพลิงขาดแคลนซ้ำอีก
ปัจจุบันมีอยู่ 20 ประเทศทั่วโลกที่อุดหนุนราคาเชื้อเพลิงเกินกว่า 5% ของจีดีพี ซึ่งวงเงินเหล่านี้กลาย “เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะทำให้รัฐเหลืองบประมาณที่จะสนับสนุนการสาธารณสุข, การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานน้อยลง”
ไอเอ็มเอฟระบุด้วยว่า หากนับรวมเงินอุดหนุนหลังหักภาษี ประเทศที่อุดหนุนเชื้อเพลิงสูงที่สุดได้แก่ สหรัฐฯ, จีน และรัสเซีย ซึ่งคิดเป็นวงเงินรวมเกือบ 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ลิปตันชี้ว่า การลดอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงเป็นหนทางหนึ่งที่จะต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนได้เป็นอย่างดี
“เป้าหมายในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15-30% จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ขอเพียงรัฐบาลทั่วโลกเลิกอุดหนุนราคาก่อนหักภาษี ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้คนใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยเกินไป... และสิ่งที่จะได้รับจากการเลิกอุดหนุนราคาหลังหักภาษีจะมากยิ่งกว่านั้น เพราะเราจะลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึงราวๆ 4,500 ล้านตัน หรือเท่ากับ 13%”