เอเจนซี - ผลวิจัยล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) พบว่า พลเมืองโลกที่ใช้โทรศัพท์มือถือมีจำนวนมากกว่าผู้ที่สามารถเข้าถึง “สุขา” ได้เสียอีก
งานวิจัยดังกล่าวพบว่า จากจำนวนประชากรโลกทั้งหมดราว 7,000 ล้านคน มีผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือประมาณ 6,000 ล้านคน ขณะที่พลเมืองซึ่งเข้าถึงสุขามาตรฐานยังมีเพียง 4,500 ล้านคนเท่านั้น
ระหว่างการแถลงรายงานต่อสื่อมวลชน แจน เอเลียสสัน รองเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ประกาศจะลดจำนวนผู้ที่ไม่มีสุขาใช้ให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2015
“เราต้องเผชิญหน้ากับมัน นี่อาจเป็นปัญหาที่ไม่มีใครอยากเอ่ยถึงนัก แต่ก็เป็นหัวใจที่จะนำไปสู่ความมีสุขภาพที่ดี, สภาพแวดล้อมที่สะอาด และเกียรติภูมิขั้นพื้นฐานของมนุษยชาติหลายพันล้านคน” เอเลียสสัน ระบุ
เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2012 มูลนิธิ บิล เกตส์ ได้ริเริ่มโครงการ “สร้างสุขาใหม่” เพื่อลดจำนวนพลเมืองที่ยังไม่มีอุปกรณ์กำจัดของเสียจากร่างกาย
ที่น่าสนใจก็คือ อินเดียเพียงประเทศเดียวมีประชากรที่ปราศจากสุขาอยู่ถึงร้อยละ 60 ของโลก หรือราวๆ 626 ล้านคน ในขณะที่ชาวเมืองภารตะมีโทรศัพท์มือถือใช้กันมากถึง 1,000 ล้านคน
จีนซึ่งมีพลเมืองหนาแน่นที่สุดในโลกยังมีผู้ที่ไม่มีสุขาใช้เพียง 14 ล้านคนเท่านั้น และชาวจีนยังเข้าถึงโทรศัพท์มือถือน้อยกว่าอินเดีย คือราวๆ 986 ล้านคน
ปัจจุบันพลเมืองโลกเสียชีวิตจากอาการท้องร่วงราว 750,000 คนต่อปี และสาเหตุหลักข้อหนึ่งก็คือปัญหาด้านสุขอนามัยภายในชุมชนที่ไม่มีห้องสุขา
ยูเอ็น ชี้ว่า ยังมีข้อดีอื่นๆ เกี่ยวกับสุขาสมัยใหม่ที่คนส่วนใหญ่อาจนึกไม่ถึง
“การมีสุขาจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้หญิงและเด็กสาวๆ ซึ่งมักตกเป็นเหยื่อเวลาออกไปทำธุระนอกบ้าน” มาร์ติน ม็อกวันจา รองผู้อำนวยการกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ระบุ
“การสร้างห้องสุขาที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวยังช่วยให้เด็กผู้หญิงเหล่านี้อยู่แต่ภายในโรงเรียนได้ ซึ่งเราก็ทราบดีว่า การศึกษาจะช่วยให้พวกเธอมีรายได้สูงขึ้นในอนาคต ซึ่งเท่ากับขจัดวงจรแห่งความยากจน”