xs
xsm
sm
md
lg

เจาะนโยบายต่างประเทศยุค “สี จิ้นผิง” มุ่งคืนดีญี่ปุ่น-ขวาง US แทรกเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีคนใหม่ของจีน
เอเจนซี - 2 เจ้าหน้าที่การทูตระดับท็อปของแดนมังกร อันได้แก่ มุขมนตรีผู้คุมงานการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ๆ หมาดๆ ของจีน น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการปรับสัมพันธ์กับญี่ปุ่น หลังจากบาดหมางกันมานานหลายเดือน ควบคู่กับความพยายามที่จะกีดกันอเมริกาให้ออกนอกวงกิจการของเอเชีย

หยาง เจียฉือ อดีตเอกอัครราชทูตประจำวอชิงตันผู้ดื้อรั้น ผู้เพิ่งพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสดๆ ร้อนๆ ได้เลื่อนขึ้นเป็นมนตรีแห่งรัฐ (เทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี) รับผิดชอบกระทรวงการต่างประเทศ บุรุษผู้ใช้ภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่วผู้นี้เป็นคนที่เชื่อว่า สหรัฐฯ ควรหลีกเว้นจากการเข้ายุ่งเกี่ยวกับกิจการในเอเชีย เป็นต้นว่าข้อพิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้

ขณะเดียวกัน หวัง อี้ เอกอัครราชทูตจีนประจำญี่ปุ่น ซึ่งพูดภาษาญี่ปุ่นได้และรู้จักมักคุ้นแดนอาทิตย์อุทัยเป็นอย่างดี ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ คาดหมายกันว่าเขาคงจะทำหน้าที่ดูแลการปรับปรุงความสัมพันธ์กับโตเกียว หลังจากผิดใจกับปักกิ่งมาหลายเดือนด้วยข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก

หรวน จงเจ๋อ (Ruan Zongze) รองผู้อำนวยการสถาบันศึกษาระหว่างประเทศของจีน ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองที่สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความเห็นว่าแท้จริงแล้วจีนไม่ต้องการเผชิญหน้ากับญี่ปุ่นแบบที่เป็นอยู่ และการแต่งตั้งนักการทูตที่เคยทำงานในญี่ปุ่นมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ แสดงให้เห็นว่า จีนให้ความสำคัญกับปัญหานี้เพียงใด อีกทั้งบ่งชี้ว่าจีนต้องการจะสื่อสารกับญี่ปุ่นมากขึ้นเพื่อคลี่คลายสถานการณ์นี้

ขณะเดียวกัน กองทัพที่มีอิทธิพลต่อนโยบายต่างประเทศของจีนเสมอมา ก็มีท่าทีประนีประนอมกับแดนซากุระมากขึ้น โดยระบุว่าปักกิ่งต้องการก้าวพ้นจากความสัมพันธ์เลวร้ายที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมาระหว่างสองมหาอำนาจแห่งเอเชีย

กระนั้น ความพยายามนี้ของสี ยังคงถูกบ่อนทำลายจากข้อจำกัดเดียวกันกับผู้นำจีนคนก่อนๆ

ความเจริญรุ่งเรืองของแดนมังกรนั้นยังต้องอาศัยความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและสงบสันติ กับทั้งพวกประเทศเพื่อนบ้าน และกับสหรัฐฯ

ทว่า ด้วยกระแสชาตินิยมภายในประเทศเวลานี้ สีก็มีความจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ตัวเองให้ประชาชนเห็นว่า เขาสามารถที่จะปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของจีน และทำให้นานาชาติเคารพนับถือแดนมังกรอย่างสมฐานะการเป็นชาติเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

ประธานาธิบดีคนล่าสุดของจีนจะต้องเผชิญแรงกดดันภายในประเทศให้ใช้ไม้แข็งกับญี่ปุ่นในกรณีพิพาทช่วงชิงหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก และกับอีกหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในกรณีพิพาทชิงดินแดนในทะเลจีนใต้

นอกจากนั้น เขายังต้องรับมือกับความรับรู้ความเข้าใจอันแรงกล้าในประเทศจีนที่ว่า วอชิงตันกำลังพยายามที่จะปิดลัอมขีดวงจำกัดแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจและทางการทหารของปักกิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศในปี 2011 เกี่ยวกับนโยบาย “ปักหมุด” มุ่งเทน้ำหนักความสำคัญทางยุทธศาสตร์มาทางเอเชีย

สี นั้นได้เคยพบปะหารือกับโอบามาแล้วที่กรุงวอชิงตันเมื่อต้นปี 2012 เขาพบหารือกับแจ็ค ลูว์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ในปักกิ่งสัปดาห์นี้อีกด้วย นั่นคือเพียงไม่กี่วันหลังจากที่เขาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีจีนอย่างเป็นทางการ ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของสัมพันธภาพระหว่างสองประเทศ

สำหรับจีนแล้ว มุขมนตรีหยาง ผู้เคยเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตันในช่วงระหว่างปี 2001-2005 ได้รับการจับตามองว่าเป็นบุคคลผู้สามารถรับมือกับวอชิงตันได้ ขณะเดียวกับที่สามารถขบคิดไตร่ตรองรายละเอียดเกี่ยวกับจุดยืนของปักกิ่งในประเด็นปัญหาอันยุ่งยากซับซ้อนอย่างเช่น การพิพาทชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะต่างๆ, ค่าเงินหยวนล และการทะเลาะกันในเรื่องการค้า

ส่วน หวัง รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ถูกมองว่าเป็นพวกนักสร้างความสัมพันธ์ เขาได้รับการยกย่องมากเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกิจการไต้หวันของจีน จากการกำกับดูแลสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับไต้หวันให้กลับมีมิตรไมตรีต่อกันขึ้นมาเป็นอันมาก

นอกเหนือจาก หยาง และหวัง แล้ว นักการทูตของจีนที่น่าจับตามองอีกคนหนึ่งได้แก่ ชุ่ย เทียนข่าย ซึ่งปัจจุบันเป็น 1 ในรัฐมนตรีช่วยของกระทรวงการต่างประเทศ และได้รับการคาดการณ์ว่าจะเป็นเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐฯคนใหม่ เขาผู้นี้มีคุณสมบัติในเรื่องกล้าชนกับอเมริกาพอๆ กับ หยาง แต่เวลาเดียวกันก็ได้รับความนับถือในวอชิงตัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองดูในระดับสูงๆ ขึ้นไปอีก เวลานี้ในกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งถือเป็นองค์กรตัดสินใจที่สำคัญยิ่งของแดนมังกรนั้น ปรากฏว่าไม่มีสมาชิกคนไหนที่ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการต่างประเทศเลย ด้วยเหตุนี้จึงสามารถตีความได้ว่า การทูตจะยังคงเป็นรองเรื่องประเด็นภายในประเทศต่อไปเช่นเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น