เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-ศาลสูงสุดของสหรัฐฯมีคำตัดสินในวันอังคาร (19) ให้ ดร. สุภาพ เกิดแสง อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยที่เคยไปศึกษาระดับปริญญาโทและเอกในอเมริกา เป็นฝ่ายชนะคดีที่ถูกสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ฟ้องฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ถือเป็นคำตัดสินครั้งประวัติศาสตร์ที่สร้างความสั่นสะเทือนแก่วงการทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในสหรัฐฯและทั่วโลก
ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ได้เปิดฉากพิจารณาคดีประวัติศาสตร์ดังกล่าวตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ (18) หลังบริษัทจอห์น ไวลีย์ แอนด์ ซันส์ สำนักพิมพ์ชื่อก้องซึ่งก่อตั้งกิจการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1807 และมีฐานอยู่ในมลรัฐนิวเจอร์ซีย์ ได้ยื่นฟ้องเอาผิดต่อนายสุภาพ เกิดแสง อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของไทย ขณะที่เขาเดินทางไปศึกษาปริญญาโททางด้านคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 1997 โดยทางบริษัทกล่าวหานายสุภาพว่ากระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ จากการนำตำราเรียน 8 ปกของสำนักพิมพ์ ที่ขายสิทธิพิมพ์และจำหน่ายเฉพาะในทวีปเอเชีย กลับเข้ามาขายในสหรัฐฯผ่านทางเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ “อีเบย์” ในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายในสหรัฐฯ เป็นเหตุให้ทางสำนักพิมพ์ได้รับความเสียหาย
ก่อนหน้านี้ คณะลูกขุนในศาลชั้นต้นในมลรัฐนิวยอร์กได้ตัดสินให้นายสุภาพซึ่งเป็นจำเลย มีความผิดจริงตามข้อกล่าวหาและสั่งให้ต้องจ่ายค่าเสียหาย 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 17.5 ล้านบาท) แต่ต่อมานายสุภาพได้ยื่นอุทธรณ์ซึ่งศาลอุทธรณ์สหรัฐฯยังคงยืนยันว่า จำเลยชาวไทยเป็นฝ่ายผิด จึงต้องมีการต่อสู้กันถึงชั้นศาลสูง
ปรากฏว่า คณะผู้พิพากษา 9 คนของศาลสูงสุดสหรัฐฯ ตัดสินในวันอังคาร(19) ด้วยเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ 6 ต่อ 3 ระบุว่า นายสุภาพซึ่งได้เงินจากการจำหน่ายตำราเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ดังกล่าวราว 90,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.6 ล้านบาท) มิได้กระทำการใดๆ ที่ละเมิดกฏหมายแต่อย่างใด ถือเป็นการตบหน้าสำนักพิมพ์ชื่อก้องอย่างจอห์น ไวลีย์ แอนด์ ซันส์แบบฉาดใหญ่
ผู้พิพากษาฝ่ายเสียงข้างมากของศาลสูงสหรัฐฯยังวินิจฉัยว่า การที่นายสุภาพนำตำราเรียน 8 ปกของสำนักพิมพ์คู่กรณี ที่ขายสิทธิพิมพ์และจำหน่ายเฉพาะในทวีปเอเชีย กลับเข้ามาขายในสหรัฐฯผ่านทางเว็บไซต์ “อีเบย์”ในราคาต่ำกว่าราคาขายในสหรัฐฯนั้น ถือเป็นเรื่องของ “สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล” ที่ย่อมสามารถทำการซื้อขายสิ่งของหรือทรัพย์สินใดๆ ผ่านโลกออนไลน์ได้
คำตัดสินดังกล่าวของศาลสูงสหรัฐฯสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงแก่บรรดาสำนักพิมพ์ รวมถึงบรรดาผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และธุรกิจเพลงที่มองว่า คำตัดสินครั้งนี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการลดทอนศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกของธุรกิจสัญชาติอเมริกัน และจะกระทบผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “ความคิดสร้างสรรค์”
“คำตัดสินของศาลจะทำลายความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจอเมริกันในตลาดต่างประเทศ และส่งผลเลวร้ายต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศของเราในระยะยาว” คำแถลงของสมาคมอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งอเมริกา (เอ็มพีเอเอ) ระบุ
ด้านทอม แอลเลน ผู้บริหารของสมาคมสำนักพิมพ์อเมริกัน (เอเอพี) ออกมาให้ความเห็นในทำนองเดียวกันโดยระบุ คำตัดสินของศาลสูงสหรัฐฯ จะทำลายความสามารถของธุรกิจสิ่งพิมพ์ของชาวอเมริกันในการแข่งขันในตลาดโลก และจะส่งผลเสียต่อระบบการศึกษาของคนอเมริกันอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
คดีประวัติศาสตร์นี้ได้รับการจับตามองอย่างมาก เนื่องจากถือเป็นคดีตัวอย่าง ที่จะให้ความกระจ่างต่อการปกป้องด้านลิขสิทธิ์ต่อสินค้าต่างๆของสหรัฐฯ ในยุคที่สินค้าสามารถนำไปจำหน่ายหรือแจกได้อย่างเสรี โดยเป็นที่คาดกันว่าคำตัดสินของศาลสูงสหรัฐฯจะกระทบต่อตลาดผู้จัดจำหน่ายอิสระที่มีมูลค่า 63,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ไม่ต่ำกว่า 1.83 ล้านล้านบาท)
ในระหว่างการต่อสู้คดี ฝ่ายจำเลยชาวไทยได้ยืนยันว่า การกระทำของตนได้รับการคุ้มครองภายใต้ "หลักการขายครั้งแรก" ของกฎหมายลิขสิทธิ์สหรัฐฯ ที่อนุญาตให้ผู้เป็นเจ้าของสินค้าที่ "ผลิตอย่างถูกกฎหมาย" สามารถจำหน่ายหรือแจกสินค้านั้นๆได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ซ้ำอีก
ขณะที่โจชัว โรเซนครานซ์ ทนายความฝ่ายจำเลย ได้ย้ำต่อศาลสูงสหรัฐฯว่า หากศาลฯมีคำวินิจฉัยว่า ผู้ผลิตซึ่งหมายถึงสำนักพิมพ์สามารถควบคุมการขายสินค้าของตนได้ตลอดไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เท่ากับเป็นการทำลายตลาดจำหน่ายสินค้ามือสองอย่างเลวร้าย และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะการสูญเสียการจ้างงานออกนอกประเทศ ซึ่งเหตุผลดังกล่าวของฝ่ายนายสุภาพและทนายจำเลยได้รับการยอมรับจากผู้พิพากษาเสียงข้างมากในศาลสูงฯสหรัฐฯ และนำมาซึ่งคำตัดสินดังกล่าว
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ที่ผ่านมาทางการสหรัฐฯสนับสนุนจุดยืนและการตีความกฎหมายของฝ่ายสำนักพิมพ์จอห์น ไวลีย์ แอนด์ ซันส์ แต่ทว่าบรรดาผู้ค้าปลีกและผู้ขายสินค้าออนไลน์อย่าง “คอสต์โค”และ “อีเบย์” ต่างประกาศหนุนหลังนายสุภาพมาตลอด