xs
xsm
sm
md
lg

ทปอ.เล็งของบ กยน.วิจัยป้องกันอุทกภัย 3.5 แสนล้าน เสนอเงื่อนไขนักวิจัยไทยร่วมบรรษัทข้ามชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
ทปอ.ถกป้องกันภัยพิบัติของชาติแบบบูรณาการ เล็งของบของ กยน.ผุดโครงการวิจัยเพื่อปัองกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย 3.5 แสนล้านบาท พร้อมเสนอเงื่อนไขให้นักวิชาการไทยร่วมอยู่ในโครงการที่บรรษัทข้ามชาติมีแต้มต่อได้รับการคัดเลือกโครงการ

ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ในฐานะรองประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมวิชาการเรื่องบทบาทของมหาวิทยาลัยกับการบริหารจัดการและป้องกันภัยพิบัติของชาติแบบบูรณาการ ว่า จากมหาอุทกภัยในปี 2554 ทำให้ประเทศเกิดความเสียหายจำนวนมาก ทั้งยังมีภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้น ตลอดทั้งจากสภาพความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์ ทปอ.จึงได้แบ่งกลุ่มนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญศึกษาถึงผลกระทบของภัยพิบัติออกเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง แผ่นดินไหว ดินโคลนถล่ม การกัดเซาะชายฝั่ง พายุวาตภัย หมอกควัน และสตอร์มเซิร์ท โดยได้หารือกับ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาโครงการวิจัยเพื่อปัองกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย 3.5 แสนล้านบาท โดย รมว.วิทยาศาสตร์ฯ พร้อมให้การสนับสนุนการวิจัยของอาจารย์ นักวิชาการ ของมหาวิทยาลัยไทย

ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า จากการหารือดังกล่าว ตนในฐานะรองประธาน ทปอ.จะขอให้มีการประชุม ทปอ.วิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องการทำวิจัยดังกล่าว และทำหนังสือด่วนในนาม ทปอ.ถึง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เพื่อขอให้รัฐบาลพิจารณาความเป็นไปได้ในการอนุมัติงบของ กยน.วงเงิน 3.5 แสนล้านดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยมีนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถกระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

“ภัยพิบัติโดยเฉพาะน้ำท่วมก็เป็นเรื่องของชาติ ทั้งงบก็เป็นของประเทศชาติ และเนื่องจากรัฐบาลเปิดโอกาสให้ทุกประเทศทั่วโลกเสนอโครงการเข้ามาได้ ทปอ.จึงขอให้รัฐบาลมีเงื่อนไข ระบุว่า ขอให้มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยไทยร่วมอยู่ในโครงการที่บรรษัทข้ามชาติจะเสนอเข้ามา หากมีนักวิชาการ จะถือเป็นแต้มต่อในการคัดเลือกโครงการ โดยตนจะเสนอ ทปอ.ให้จัดกลุ่มนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ จากทุกมหาวิทยาลัยขึ้นเป็นคณะทำงานด้านภัยพิบัติแต่ละด้าน ซึ่งมาจากหลายๆมหาวิทยาลัยร่วมกัน คาดว่า ทปอ.จะเห็นชอบ และคิดว่า รัฐบาลก็จะเห็นด้วย เพราะงบดังกล่าวเป็นภาษีของประชาชน เป็นเงินของประเทศเรา ก็ควรให้คนไทยมีส่วนร่วมวิจัย ซึ่งจะดีกว่าให้เงินไหลออกนอกประเทศเสียหมด” ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น