xs
xsm
sm
md
lg

ปธน.หญิงอาร์เจนฯไม่รับผลประชามติ “หมู่เกาะฟอล์กแลนด์” จวกยับแค่ “ประชามติกำมะลอ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี คริสตินา เคิร์ชเนอร์ แห่งอาร์เจนตินา ชูป้ายเรียกร้องอธิปไตยเหนือหมู่เกาะมัลบีนัส หรือหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ที่อยู่ใต้ปกครองของอังกฤษ (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี - ประธานาธิบดี คริสตินา เคิร์ชเนอร์ แห่งอาร์เจนตินา ยืนกรานปฏิเสธผลประชามติที่ชาวหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ลงคะแนนโหวตเกือบ 100% ขออยู่เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอังกฤษต่อไป

เคิร์ชเนอร์ ซึ่งคะแนนนิยมในประเทศเริ่มตกต่ำจากความด้อยประสิทธิภาพของรัฐบาลบัวโนสไอเรสในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายใน ระบุว่า การทำประชามติบนหมู่เกาะทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติกนั้น เป็นเพียง “ประชามติกำมะลอ” และแม้แต่สหรัฐฯซึ่งเป็นมิตรกับอังกฤษก็ยังยอมรับสิ่งที่อาร์เจนตินากล่าวอ้าง

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ วอนให้อาร์เจนตินาเคารพเสียงของพลเมืองส่วนใหญ่บนหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ด้วย

การแย่งชิงหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ซึ่งเป็นเหตุให้อาร์เจนตินากับอังกฤษต้องบาดหมางกันอย่างรุนแรง ทำให้ฝ่ายบริหารหมู่เกาะตัดสินใจทำประชามติให้พลเมืองท้องถิ่นได้มีโอกาสแสดงจุดยืนของพวกเขา ซึ่งผลปรากฎว่า ร้อยละ 99.8 ของผู้ที่มาใช้สิทธิ์ 1,517 ราย เลือกที่จะให้หมู่เกาะแห่งนี้เป็นดินแดนของอังกฤษที่มีรัฐบาลปกครองตนเอง โดยมีเพียง 3 เสียงเท่านั้นที่ไม่ต้องการอยู่ใต้อาณัติเมืองผู้ดีอีกต่อไป

รัฐบาลเคิร์ชเนอร์ ยืนยันว่า การทำประชามติครั้งนี้ไม่มีความหมาย และไม่อาจลบล้างการอ้างกรรมสิทธิ์ของอาร์เจนตินาซึ่งยังคงเรียกหมู่เกาะแห่งนี้ว่า “มัลบีนัส” แม้ไม่สามารถยึดคืนมาได้จากการทำสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์กับอังกฤษเมื่อปี 1982 ก็ตาม

“สิ่งสำคัญในวันนี้ก็คือ ความเห็นของสหรัฐฯเกี่ยวกับการทำประชามติกำมะลอ” เคิร์ชเนอร์ แถลง

“โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯระบุแล้วว่า วอชิงตันถือว่าข้อพิพาทเหนือหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ยังไม่สิ้นสุด”

วิกตอเรีย นูแลนด์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า สหรัฐฯ “รับทราบ” ผลการลงคะแนนของชาวหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ แต่ยังถือว่าหมู่เกาะแห่งนี้เป็นดินแดนพิพาทอยู่ และไม่ขอเลือกเข้าข้างฝ่ายใดทั้งสิ้น

ผลประชามติที่ประกาศเมื่อค่ำคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา(11) เรียกเสียงโห่ร้องดีใจในเมืองพอร์ตสแตนลีย์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ขณะที่ คาเมรอน ก็ถึงกับ “ปลื้มสุดๆ” เมื่อได้ทราบข่าว

ผู้สังเกตการณ์จากแคนาดา, ชิลี, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, ปารากวัย, สหรัฐฯ และอุรุกวัย ซึ่งจับตาการทำประชามติระหว่างวันที่ 10-11 มีนาคมที่ผ่านมา ต่างรับรองว่ากระบวนการลงคะแนนเป็นไปอย่าง “เสรีและยุติธรรม”

กำลังโหลดความคิดเห็น