ข่าวการถึงแก่อสัญกรรมจากมะเร็งร้ายของประธานาธิบดี “อูโก ราฟาเอล ชาเบซ ฟริอัส” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ฮูโก ชาเบซ” ผู้นำจอมสีสันผู้ “นิยมซ้าย” เป็นชีวิตจิตใจแห่งเวเนซุเอลาในวัย 58 ปี ถือเป็นหนึ่งในข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดข่าวหนึ่งของโลกในช่วงสัปดาห์นี้
ข่าวอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งของชาเบซ ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2011 หลังจากที่ผู้นำเวเนซุเอลายอมรับระหว่างการแถลงทางโทรทัศน์จากกรุงฮาวานา เมืองหลวงของคิวบา ขณะเดียวกันตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ชาเบซต้องเดินทางไป-กลับระหว่างเวเนซุเอลากับคิวบา นับครั้งไม่ถ้วนเพื่อรักษาตัวจากมะเร็งร้าย ซึ่งคาดว่ามีการก่อตัวบริเวณกระดูกเชิงกราน และก่อนที่ชาเบซจะเสียชีวิตลงในวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมานั้น เขาก็เพิ่งเดินทางกลับมาจากการรักษาตัวที่คิวบาได้ไม่นาน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าชาเบซเป็นผู้นำแห่งภูมิภาคละตินอเมริกาที่มีสีสันมากที่สุดคนหนึ่ง ทั้งจากจุดยืนที่มักอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลของชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาอยู่เป็นประจำ รวมถึง “ลีลาสะกดใจ” ในยามที่เขาอยู่ต่อหน้าฝูงชน หรือกล้องโทรทัศน์
แม้ชาเบซจะถูกมองในเชิงลบจากสายตาของสื่อตะวันตก โดยเฉพาะสื่อของสหรัฐฯ ว่าเป็น “ผู้นำแห่งความขัดแย้ง” แต่ในทางกลับกันชาเบซผู้นี้กลับเป็นผู้นำที่ชาวเวเนซุเอลาส่วนใหญ่ให้ความเคารพรักเป็นอย่างยิ่ง เห็นได้จากคะแนนนิยมที่สูงลิ่วของชาเบซ ตลอดช่วงระยะเวลาที่เขาก้าวขึ้นครองอำนาจ ตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1999 จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตในวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา และยิ่งไปกว่านั้นชาเบซยังเป็นผู้นำเพียงไม่กี่คนในซีกโลกตะวันตก (Western Hemisphere) ที่สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้ถึง 4 สมัย โดยชัยชนะในการเลือกตั้งสมัยที่ 4 ของชาเบซนั้น เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้วนี่เอง
ชาเบซซึ่งถือกำเนิดในชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ที่เมืองซาบาเนตาของเวเนซุเอลา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ปี 1954 เริ่มมีความสนใจต่อเรื่องการบ้านการเมืองเป็นครั้งแรกในช่วงที่เขารับราชการทหารในกองทัพเวเนซุเอลา และในเวลาต่อมาชาเบซได้เข้าร่วมกลุ่มเคลื่อนไหวใต้ดินที่มีชื่อว่า “MBR-200” ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 เพื่อหาทางโค่นล้มรัฐบาลของเวเนซุเอลาในขณะนั้นที่เต็มไปด้วยการทุจริตโกงกิน เอารัดเอาเปรียบประชาชน และตกอยู่ใต้การครอบงำของอำนาจทุนนิยมจากต่างประเทศ
แม้ความพยายามของชาเบซในการโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดี “การ์โลส อันเดรส เปเรซ” จะประสบความล้มเหลว และเป็นเหตุให้ตัวเขาต้องถูกตัดสินให้รับโทษจำคุกนานกว่า 2 ปี แต่ชาเบซไม่เคยเลิกล้มความตั้งใจที่จะปฏิรูปประเทศเพื่อสร้างความเท่าเทียม โดยยึดอุดมการณ์ทางการเมืองของพวกฝ่ายซ้ายเป็นต้นแบบ จนกระทั่งชาเบซหันเหชีวิตเข้าสู่ถนนสายการเมืองหลังได้รับอิสรภาพ และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเวเนซุเอลาสมัยแรกเมื่อปลายปี 1998 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองประเทศที่ได้ชื่อว่า มีนโยบายที่เป็น “ปฏิปักษ์ต่อทุนนิยม” โดยเฉพาะทุนนิยมอเมริกัน มากที่สุดในโลกในเวลาต่อมา
ในอีกด้านหนึ่ง ข่าวการเสียชีวิตของชาเบซยังทำให้เกิดกระแสข่าวลือไปต่างๆนานา แต่กระแสข่าวที่ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์กันมากที่สุด คงหนีไม่พ้นกระแสข่าวที่ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้วางแผนแพร่เชื้อมะเร็งร้ายเข้าสู่ร่างกายของชาเบซ หวังจะกำจัดผู้นำเวเนซุเอลาที่ถือเป็น “เสี้ยนหนาม” ที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลอเมริกันในการดำเนินนโยบายใดๆเพื่อกอบโกยผลประโยชน์จากภูมิภาคละตินอเมริกาช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ ตัวของชาเบซเองเคยออกโรงเตือนบรรดาผู้นำของหลายชาติในละตินอเมริกาที่มีจุดยืนทางการเมืองขัดแย้งกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ให้ “ระวังตัว” เพราะอาจตกเป็นเป้าหมายในการปองร้ายจากสิ่งที่เขาเรียกว่า “จักรวรรดิแยงกี้” ขณะที่ ฟิเดล คาสโตร อดีตผู้นำคิวบา ก็ออกมายืนยันว่า สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในยุโรปมี “เทคโนโลยีลับ” บางอย่างที่สามารถแพร่เชื้อโรคร้ายหลายชนิดให้แก่บุคคลที่เป็นเป้าหมาย โดยที่ผู้ตกเป็นเหยื่อไม่ทันรู้ตัว
แม้จะไม่พบหลักฐานใดๆ ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวข้องกับ “แผนการชั่วร้าย” ในการแพร่เชื้อมะเร็งจริงหรือไม่ แต่หลายฝ่ายพากันตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเหตุใดตลอดหลายปีที่ผ่านมาจึงมีผู้นำของประเทศในละตินอเมริกาหลายคนที่ป่วยเป็นมะเร็งอย่างกะทันหันภายในเวลาไล่เลี่ยกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวของชาเบซเอง รวมถึงประธานาธิบดีหญิง กริสตินา เฟร์นันเดซ เด เคิร์ชเนอร์ แห่งอาร์เจนตินา เฟร์นันโด ลูโก แห่งปารากวัย ประธานาธิบดีหญิง ดิลมา รุสเซฟฟ์แห่งบราซิล และอดีตผู้นำแดนแซมบ้าอย่าง ลุยช์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา
และเชื่อหรือไม่ว่า บรรดาผู้นำเหล่านี้ที่ป่วยเป็นมะเร็ง ต่างเป็นผู้นำที่มีนโยบายทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกับรัฐบาลวอชิงตัน ดี.ซี.ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงมิใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด หากจะมีผู้ที่เชื่ออย่างปักใจว่า มะเร็งร้ายที่คร่าชีวิตของชาเบซ ผู้นำจอมแกร่งแห่งเวเนซุเอลานั้น มาจากฝีมือของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงของชาเบซจะเกี่ยวข้องกับรัฐบาลสหรัฐฯหรือไม่ แต่ชาเบซซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำที่มีสีสันที่สุดในเวทีระหว่างประเทศก็ได้จากโลกใบนี้ไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ เหลือไว้เพียงผลงานในอดีตที่ทิ้งไว้เป็นเครื่องเตือนความทรงจำแก่คนรุ่นหลัง และคงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า “ความดีงาม” อาจจะเป็นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่ผู้ล่วงลับทั้งหลายจะนำติดตัวไปด้วยหลังสิ้นลม หาใช่อำนาจหรือทรัพย์สินเงินทองแต่อย่างใด